xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ตอบชัดๆ 5 ข้อ ลั่นพร้อมเป็นฝ่ายค้าน ไม่ร่วม พท. แต่ พปชร.ร่วมได้ถ้าไม่สืบทอดอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบคำถามครั้งสุดท้ายชัดๆ 5 ข้อ ยันพร้อมเป็นฝ่ายค้าน หากไม่ใช่แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยอมเสียคะแนน แต่ไม่บังคับใครเลือกข้าง ลั่นไม่เอา พท. แต่ร่วม พปชร.ได้หากไม่มีสืบทอดอำนาจ ชี้ “บิ๊กตู่” คือศูนย์กลางเงื่อนไขความขัดแย้งหลังเลือกตั้ง



วันนี้ (11 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนหลังการเลือกตั้งว่า ตั้งแต่ที่ตนแถลงไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวาน (10 มี.ค.) ทำให้เกิดคำถามมากมายในโซเชียลมีเดีย ตนรวบรวมได้ 5 ประเด็นหลัก คือ 1. จุดยืนนี้ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัว แต่เป็นการพูดในฐานะหัวหน้าพรรคและเป็นอุดมการณ์พรรคที่ยึดมั่นมากว่า 70 ปีแล้ว เพราะเรื่องนี้ในที่สุดต้องมีมติพรรค แต่ตามข้อบังคับของพรรค มตินี้จะเกิดไม่ได้ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้ง

2. เป็นการย้ำอุดมการณ์ของพรรค เพราะพรรคต้องการทำงานการเมืองแบบตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้เลือกตั้งมีสิทธิได้รับทราบจุดยืนของแต่ละพรรคอย่างชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง ไม่ใช่เข้าใจไปแบบหนึ่ง แต่พอได้รับเลือกตั้งแล้วกลับไม่ทำตามที่ประชาชนเข้าใจ และถ้าการประกาศครั้งนี้จะทำให้เสียคะแนนตนก็ยินดี เพราะมันคือความเป็นธรรมต่อการเลือกตั้ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว
3. ยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนมี 3 ทางเลือกซึ่งมีจุดยืนและแนวคิดที่ต่างกันอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาตนไม่อยากพูดเพราะคิดว่าตนมีจุดยืนชัดเจน และตนก็ได้รับฉันทานุมัติจากสมาชิกพรรคให้เป็นหัวหน้าพรรคอีก ตนมองว่าในการหาเสียงเลือกตั้งต้องสู้กันที่นโยบาย แต่จากเวทีดีเบตต่างๆ ก็มีความพยายามให้โต้เถียงกันเรื่องจุดยืน ซึ่งประชาชนก็จะเสียโอกาสฟังนโยบายแก้ปัญหาประเทศ ดังนั้น ตนจึงต้องการแถลงให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาอีก และยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งอะไรเพิ่มเติม และไม่มีการบังคับให้ใครเลือกข้างหรือตัวบุคคล เช่น พล.อ.ประยุทธ์ หรือนายทักษิณ ชินวัตร อีกต่อไป เพราะอนาคตของประเทศมันเกินเลยไปกว่าเรื่องตัวบุคคล

4. พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล และต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานอุดมการณ์ของพรรค คือ ไม่เอาการทุจริตและการสืบทอดอำนาจ แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะดูผลการเลือกตั้งก่อน โดยมีเงื่อนไขคือตราบใดที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถออกมาจากการครอบงำของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีผลประโยชน์ขัดกับผลประโยชน์ของคนในประเทศ พรรคจะไม่ยอมให้เข้าร่วมรัฐบาลด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณเหล่านี้ ขณะเดียวกันตนก็ไม่ตกหลุมพรางของพรรคเพื่อไทยที่จะสร้างกระแสให้พรรคร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะถ้าพรรคพลังประชารัฐคิดสืบทอดอำนาจก็ไม่ร่วมด้วย

“ผมแปลกใจว่าพอตอบแบบนี้ก็มีกองเชียร์บอกว่าตอบไม่ชัด ตอบไม่ได้ ก็ขอเปรียบเทียบกับคำตอบของพรรคอนาคตใหม่ในเวทีดีเบตที่ว่า ถ้าพลังประชารัฐจะบอกว่าเราไม่เอาสืบทอดอำนาจ ไม่เอา คสช.แล้ว ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เรายังร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐได้ ทำไมเวลาผมพูดก็บอกว่าไม่ยอมตอบ หาว่ากั๊ก ถ้าอย่างนั้นผมก็มีอนาคตใหม่เป็นเพื่อน เพราะเป็นคำตอบเดียวกันบนเวทีดีเบต ดังนั้น ผมขอยืนยันว่าวันนี้เราพร้อมจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และทุกคนมั่นใจได้ว่าคลิปที่เราประกาศไปมีเป้าหมายคือการนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ทุจริตและสืบทอดอำนาจ”

5. สำหรับคำถามว่า หลังการเลือกตั้งถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ กลัวว่าบ้านเมืองจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีกหรือไม่ สถานการณ์ในประเทศกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกฝ่ายได้เรียนรู้ และยืนยันว่าไม่ต้องการให้เกิดสถานการณ์ความวุ่นวาย รวมถึงตนด้วย ตนก็เรียนรู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางในการที่จะจัดการกับปัญหาอย่างไร และตนก็ประกาศชัดว่าจะไม่เกรงใจใคร พร้อมทั้งเชื่อว่าผู้ที่มีความรับผิดชอบด้านความมั่นคง พร้อมทำงานให้ไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก หลังการเลือกตั้งจะไม่มี ม. 44 อีกแล้วและจะไม่มีเครื่องมือที่มีอยู่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจากนี้ไปใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม

ส่วนตัวตนไม่มีปัญหากับ พล.อ.ประยุทธ์ และผูกพันกันเพราะทำงานด้วยกันมาในช่วงที่ยากลำบาก อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์เองก็เคยให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาตอนที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี และตนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนขอบคุณที่ พล.อ.ประยุทธ์พยายามทำให้ประเทศชาติสงบ แต่การตัดสินใจของตนจะเอาเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวมารวมไม่ได้ ต้องคิดถึงประเทศในระยะยาว ตนขอยืนยันว่าความขัดแย้งในอนาคตจะเกิดขึ้นได้ คือถ้ามีการสืบทอดอำนาจ และ พล.อ.ประยุทธ์ถือเป็นศูนย์กลางของเงื่อนไขความขัดแย้งที่ง่ายที่สุดหลังการเลือกตั้ง

ดังนั้น การบริหารประเทศสิ่งที่ต้องเอาอยู่ให้ได้ เรื่องแรกคือฝ่ายการเมือง เพราะน่าเป็นห่วงว่าเส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการเป็นนายกฯ ด้วยการพึ่งพาพรรคการเมือง แต่ตอนนี้เห็นได้ชัดแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในแนวทางของตัวเองได้ ทั้งนโยบายข้าว, ส.ป.ก. ทองคำ และหลายสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยบอกว่าเขาไม่ควรทำ ทำไม่ได้ แต่วันนี้กลับต้องพึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ที่ยังยืนยันในการนำเสนอหลายอย่าง ซึ่งขัดกับความเชื่อหรือจุดยืนของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น การที่ตนออกมาประกาศเมื่อวานนี้ต้องการทำให้ประชาชนเห็นว่าสุดท้ายในการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องกลับมาสู่การเลือกอนาคตของประเทศ แข่งขันกันด้วยวิสัยทัศน์และนโยบายกันต่อไป ไม่ใช่เอาเงื่อนไขของตัวบุคคลใดมาเป็นตัวครอบงำหรือบีบบังคับให้เลือกข้าง โดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศในวันข้างหน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่กลับเป็นพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคเพื่อไทย ที่ได้เสียงข้างมากและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคจะเป็นฝ่ายค้านใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าเราต้องการประกาศตัวเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้าพรรคไม่ได้เป็นแกนนำ เราก็พร้อมเป็นฝ่ายค้าน และตนขอเตือนว่าถ้าใครยังเชื่อว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเพียงวาทกรรม ประเทศจะกลับมาเกิดวิกฤติอย่างแน่นอน

“หากพรรคพลังประชารัฐจะเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล ต้องไม่มีการสืบทอดอำนาจทั้ง ตัวบุคคล คือ พล.อ.ประยุทธ์ และมรดกที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย คือ คำสั่งและประกาศของ คสช. ที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยและนโยบายของพรรค แนวทางการบริหารประเทศนั้นถ้ามีการรวมศูนย์อำนาจ หรือไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามหลักประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องเข้าไปแก้ไขสิ่งเหล่านี้เช่นกัน”

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ตนยังนึกไม่ออกว่าถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์แล้วพรรคพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไร เพราะผู้บริหารของพรรคหลายคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้ลงสมัครเป็น ส.ส. เพราะในสภาจะมีตัวหลักอยู่ที่ ส.ส.ที่ได้รับเลือกเข้ามา แต่สิ่งที่ตนขอย้ำว่าหากพรรคพลังประชารัฐยังพยายามทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจ ประชาธิปัตย์ก็จะไม่ให้เขามาร่วมรัฐบาลด้วย ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้นตนยังมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะจากปรากฏการณ์หลายอย่างในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเห็นได้ชัดแล้วว่ายังมีคนที่สามารถจะมาครอบงำพรรคได้อยู่

เมื่อถามว่าหากในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์บางคนไปยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคอื่น พรรคจะดำเนินการอย่างไร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า พรรคก็ต้องดำเนินการกับคนที่ไม่รักษาอุดมการณ์ของพรรคอยู่แล้ว เพราะถือว่าขัดกับข้อบังคับพรรคอยู่ แต่ตนมั่นใจว่าสามารถจัดการได้ และจะไม่มีงูเห่าอย่างแน่นอน



กำลังโหลดความคิดเห็น