xs
xsm
sm
md
lg

มติเอกฉันท์ ยุบ! ทษช. ชี้เสนอพระนามหวังผลการเมือง บั่นทอนสถาบันฯ ตัดสิทธิ กก.บห.10 ปี (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มติเอกฉันท์ศาล รธน.สั่งยุบ ทษช.! เหตุเสนอชื่อแคนดิเนตนายกฯ ดึงสถาบันฯ มาเพื่อให้ได้เปรียบทางการเมือง ส่งผลทำให้สถาบันเสื่อมโทรมเข้าข่ายกระทำการเป็นปฏิปักษ์ แต่ยังถือเป็นแค่ขั้นเตรียมการ ไม่เสียหาย และสำนึกน้อมรับพระราชโองการ จึงสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กก.บห. 10 ปี ด้านกกต.เตรียมยื่นร้องศาลถอนชื่อผู้สมัคร ทษช.ทั้ง 283 คน ออกจากการแข่งขัน



วันนี้ ( 7 มี.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี จากกรณีการเสนอชื่อแคนดิเนตนายกรัฐมนตรี โดยศาลเห็นว่า การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติในการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและในกระบวนการให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคการเมือง ตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลว่าจะทำให้ว่าการปกครองของไทยจะแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพการณ์ที่สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองปกครองประเทศ สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย

ผู้ที่เข้ามาจัดตั้งพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจที่ตนบริหารจัดการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความมั่นคง ดำรงอยู่ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปของประเทศ ถ้าพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการเมืองและการปกครอง พรรคการเมืองนั้นรวมทั้งกก.บห.ย่อมต้องถูกลงโทษตามพ.รป.พรรคการเมือง จะอ้างความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความเห็นความเชื่อของตนมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้

แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้นิยามศัพท์คำว่า “ล้มล้าง” หรือ” เป็น “ปฏิปักษ์”ไว้แต่ทั้งสองคำก็เป็นภาษาไทยธรรมดา มีความหมาย และความเข้าใจตามที่ใช้กันทั่วไป คำว่า “ล้มล้าง” หมายถึง ทำลายล้างผลาญไม่ให้ธำรงอยู่ ส่วนคำว่า “ ปฏิปักษ์” ไม่จำเป็นต้องรุนแรง ถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรู เพียงแค่เป็นการขัดขวางไม่ให้เจริญก้าวหน้า หรือเซาะกร่อน บ่อนทำลายจนเกิดความชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง ก็เข้าข่ายการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว

ซึ่งตามมาตรา 92 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเมือง บัญญัติชัดเจนว่าเพียงแค่ “อาจเป็นปฏิปักษ์”ก็ต้องห้ามแล้ว ไม่ต้องรอให้ผลเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้น เมื่อการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ มีหลักฐานชัดเจนว่า ได้กระทำโดยรู้สำนึก สมัครใจอย่างแท้จริง กรรมการบริหารพรรคย่อมรู้ดีว่า รู้ดีว่าทูลกระหม่อมเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ และเป็นเชษฐภคินี แม้จะถวายบังคมลาจากฐานันดรศักดิ์ แต่ยังคงดำรงเป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์ การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง ซึ่งทำให้วิญญูชน คนทั่วไปรู้สึกได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล ให้ปรากฏผลเหมือนฝักใฝ่ทางการเมืองและมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตยฯ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียฐานะที่ต้องอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทรามเป็นเหตุให้เข้าข่ายเป็นกากระทำเป็นปฏิปักษ์ ต่อการปกครอง ตามมาตรา 92 พ.ร.ป.พรรคการเมือง

ส่วนเมื่อยุบพรรคแล้ว การจะเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคนั้น เห็นสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งจึงต้องพิจารณาให้ได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรกับความร้ายแรงกับโทษ เมื่อพิจารณาจากการกระทำของผู้ถูกร้องซึ่งกระทำเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ยังไม่ถึงขนาดมีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครอง อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการได้มาซึ่งรายชื่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่เกิดความเสียหายร้ายแรง อีกทั้งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติมีสำนึกน้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันทีเมื่อรับทราบแสดงให้เห็นว่ายังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่จึงมีมติ 6 ต่อ 3 เห็นควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ 10ปีตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค และมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรคสอง

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอ่านคำวินิจฉัยวันนี้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้เดินทางมารับฟังโดยพรรคไทยรักษาชาตินำโดยร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค และกกต. นำโดยพล.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. ซึ่งหลังศาลมีคำวินิจฉัยยุบพรรค สำนักงานกกต.ได้ออกเอกสารชี้แจงว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคแล้วนายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีประกาศยุบพรรคไทยรักษาชาติและนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมกับแจ้งประกาศดังกล่าวให้กับอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติทราบ และแจ้งให้พรรคไทยรักษาชาติ จัดส่งบัญชีและงบแสดงสถานะทางการเงิน จำนวน 6 ฉบับตั้งแต่งบการเงินตั้งแต่ปี 57 -61 และตั้งแต่วันที่ 1ม.ค. -7 มี.ค. 62 รวมทั้งเอกสารประกอบการลงบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินทุกฉบับของพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับแต่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรค เพื่อแจ้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการชำระบัญชีของพรรค

ส่วนกระบวนการเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งหลังจากนี้เมื่อสำนักงานกกต.ได้รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการแล้วจะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้สมัครส.ส.ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัคร และจะมีหนังสือแจ้งให้มีการติดประกาศเพื่อประชาสัมพันธ์ที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรคไทยรักษาชาติก็จะถือว่าเป็นบัตรเสีย

ทั้งนี้ผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติแบบบัญชีรายชื่อมีทั้งหมด 108 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 175 คน

ด้านพ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า กกต.ไม่อาจแก้ไขลบชื่อพรรคไทยรักษาชาติจากบัตรเลือกตั้งได้ เพราะจัดพิมพ์และส่งไปแล้ว แต่ก็จะให้ผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งเร่งประชา ประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งทราบ ว่าถ้าลงคะแนนให้กับผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติและทำให้เป็นบัตรเสีย

ขณะเดียวกันในส่วนของนายรุ่งเรือง พิทยะศิริ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ที่ก่อนหน้านี้ระบุต่อสื่อมวลชนว่าได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. และศาลฯไม่ได้มีคำวินิจฉัยในส่วนชัดเจน แต่ก็มีรายงานว่า กกต.ได้พิจารณาเอกสารหลักฐานของนายรุ่งเรืองเเล้ว เชื่อได้ว่า นายรุ่งเรือง ลาออกก่อนวันที่ 8 ก.พ. ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่นายรุ่งเรืองจะไม่ถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกเลือกตั้ง 10 ปี ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการบริหารของพรรคไทยรักษาชาติ มี 14 คน ได้แก่
1. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค
2. น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรค
3. นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรค
4. นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรค
5. นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรค
6. นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค
7. นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรค
8. นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรค
9. นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรค
10. น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค
11. นายพงษ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรค
12. นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรค
13. รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ กรรมการบริหารพรรค (แจ้ง กกต.ว่ายื่นใบลาออกเมื่อ 4 ก.พ. 62)
14. นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรค


กำลังโหลดความคิดเห็น