xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกาเบรก “ปศุสัตว์” ออกใบอนุญาตพ่อค้าคนกลางทำกำไร “รังนกนางแอ่นกินรัง” ที่เก็บมาจากบ้าน-คอนโด รังนกเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กฤษฎีกา ชี้ “กรมปศุสัตว์” ไม่มีอำนาจออกใบอนุญาตให้พ่อค้าคนกลางค้า “รังนกนางแอ่นกินรัง” ที่เก็บมาจากบ้านรังนกเอกชน หรือคอนโดนก ทำการค้าหรือหากำไร เหตุข้อกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ฉบับปี 35 ระบุเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แถมรังนก-น้ำลายยังเป็นสิ่งใดๆ ที่ได้จากสัตว์ที่มีชีวิต ห้ามบุคคลใดเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครอง ยกเว้นผู้ได้รับอนุญาตเก็บรังนก ตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกฯ แม้เจตนารมณ์กฎหมายโรคระบาดสัตว์ ปี 58 กำหนดเพื่อป้องกัน-ควบคุมโรคระบาดที่เกิดกับสัตว์ต้องมีใบอนุญาตควบคุมซากสัตว์ทางเศรษฐกิจ

วันนี้ (6 มี.ค.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.จารุวรรณ เฮงตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในเรื่องเสร็จที่ 230/2562 เรื่องอำนาจของกรมปศุสัตว์ในการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับรังนกอีแอ่น ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ภายหลังจากกรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีปัจจุบันมีผู้ประกอบการ ต้องการขออนุญาตค้า “รังนกอีแอ่นกินรัง” ที่เก็บมาจากบ้านรังนกเอกชน หรือคอนโดรังนกอีแอ่น โดยกรมปศุสัตว์เห็นว่ารังนกอีแอ่นกินรังเป็นสิ่งที่ได้จากนกอีแอ่นกินรัง จึงถือว่าเป็นซากสัตว์ตามนิยามคำว่า “ซากสัตว์” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ จากข้อหารือ เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์จะมีอำนาจในการพิจารณาออกใบอนุญาตทำการค้าหรือหากำไรในลักษณะคนกลาง ซึ่งรังนกอีแอ่นกินรังที่เก็บจากบ้านรังนกหรือคอนโดรังนก และการออกใบอนุญาตให้ทำการเคลื่อนย้ายซึ่งรังนกอีแอ่นกินรังที่เก็บจากบ้านรังนกหรือคอนโดรังนกตามมาตรา 22 มาตรา 24 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 หรือไม่ เพียงใด โดยเฉพาะ รังนกอีแอ่นกินรังที่เก็บจากบ้านหรือคอนโดของเอกชน กฎหมายไม่อนุญาตให้ขอรับสัมปทานได้ จึงไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 21 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 51

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) ได้พิจารณาข้อหารือ เห็นว่า พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่เกิดกับสัตว์ อันเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินขอประชาชนและเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยกำหนดขอบเขตของการควบคุมไปถึงซากสัตว์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ฯ ที่ได้กำหนดบทนิยามคำว่า “ซากสัตว์” หมายความว่า ร่างกายหรือส่วนของร่างกายสัตว์ที่ตายแล้ว สิ่งใด ๆ ที่ได้จากสัตว์ที่มีชีวิตหรือสัตว์ที่ตายแล้ว และให้หมายความรวมถึงอาหารสุกที่ทำ ประกอบ หรือปรุงจากซากสัตว์หรือสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูปที่ทำจากซากสัตว์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

เมื่อพิจารณาลักษณะรังของนกอีแอ่นกินรังซึ่งสร้างจากน้ำลายของนกดังกล่าวแล้ว รังของนกอีแอ่นกินรังจึงเป็นสิ่งใดๆ ที่ได้จากสัตว์ที่มีชีวิต และเป็นซากสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ฯ ผู้ใดที่ทำการค้าหรือหากำไรในลักษณะคนกลาง ซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์จึงต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ฯ

อย่างไรก็ดี โดยที่พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีเจตนารมณ์ในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเร่งรัดขยายพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ บัญญัติว่า การกำหนดให้สัตว์ป่าชนิดใดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองให้กระทำโดยกฎกระทรวง และได้มีกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 กำหนดให้นกอีแอ่นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ประกอบกับมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง ยกเว้นผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่นและผู้ที่อาศัยอำนาจของผู้รับอนุญาตดังกล่าว แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกำหนด

โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณามาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดเก็บรังนกที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะหรือในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ได้รับสัมปทานจากคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น จะเห็นได้ว่า กรณีรังนกอีแอ่นกินรังที่เก็บจากบ้านหรือคอนโดของเอกชนไม่อยู่ในสัมปทานที่จะได้รับอนุญาตให้เก็บตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฯ

“ดังนั้น เมื่อนกอีแอ่นกินรังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จึงเป็นกรณีห้ามบุคคลใดเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าคุ้มครองตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ จึงไม่อาจอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 22 มาตรา 24 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ฯ ในการพิจารณาออกใบอนุญาตทำการค้าหรือหากำไรในลักษณะคนกลาง ซึ่งรังนกอีแอ่นที่เก็บจากบ้านหรือคอนโดรังนก หรือออกใบอนุญาตให้ทำการเคลื่อนย้ายซึ่งรังนกอีแอ่นที่เก็บจากบ้านหรือคอนโดรังนกได้”

อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) มีข้อสังเกตว่า โดยที่ปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยมีหลักการในการห้ามบุคคลใดเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นรังของสัตว์ป่าคุ้มครองตามชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และโดยได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกรณีผู้ที่มีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ... แล้ว

เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย ส่วนราชการต่างๆ สมควรดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้มีการกำหนดเขตพื้นที่ควบคุมการปลูกสร้างอาคารหรือนำอาคารที่มีอยู่เดิมไปดัดแปลงให้นกอีแอ่น เข้ามาทำรัง ดูแลควบคุมการดำเนินการของผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ต้องไม่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญและให้คำนึงถึงความปลอดภัยต่อประชาชนด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น