เมืองไทย 360 องศา
ต้องบอกว่านี่อาจเป็นครั้งแรกในรอบสิบกว่าปีนับตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร ตั้งพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 เป็นต้นมา ต่อเนื่องจนถึงในชื่อพรรคเพิ่อไทยวันนี้ ที่ในการเลือกตั้งแล้วเครือข่ายของพวกเขาจะอยู่ในภาวะถดถอยหรือไม่ได้ “ฮอต” เปรี้ยงปร้างเหมือนเช่นทุกครั้ง
อาจเป็นเพราะต้องมาเจอกับคู่ต่อสู้ที่ไม่ธรรมดาอย่าง “บิ๊กตู่” หรือ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ รู้เท่าทันเกม หรือว่าเป็นเพราะ ทักษิณ ชินวัตร กำลังเข้าสู่ “ยุคขาลง” ตามวัฏจักรที่มีขึ้นแล้วก็ต้องมีลง มีลาภเสื่อมลาภไปตามสภาพอะไรประมาณนั้นหรือเปล่า
หากพิจารณากันตามความเป็นจริงก็ต้องบอกว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะเมื่อมองจากยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พัน” ที่หวังว่าจะตามเก็บคะแนนจากผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในอดีตตามตัวเลขจากการเลือกตั้งคราวที่แล้วเมื่อปี 2544 จำนวน 14 ล้านเสียง ให้กลับคืนมาให้ได้มากที่สุด จึงได้มีการแตกออกเป็น “พรรคย่อย” พรรคลูกที่เรียกว่า “ตระกูลเพื่อ” มาหลายพรรค เพื่อหวังแก้จุดอ่อนจากกติการัฐธรรมนูญปัจจุบัน
แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ในพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้ทุกอย่างพังทลายทุกอย่างย่อยยับป่นปี้ ทำให้ “ไปไม่เป็น” รวนกันทั้งกระบวน และสร้างความระส่ำระสายกันทั้งเครือข่าย ตั้งแต่ “บริษัทแม่” ไปยัน “บริษัทย่อย” เพราะสาเหตุมาจากการวางหมากที่หวัง “กินสามต่อ” เข้าฮอส เมื่อทุกอย่างกลับตาลปัตร มันถึงกลับตัวไม่ทัน
หากเริ่มโฟกัสจากพรรคเพื่อไทย ที่ถือว่าเป็นพรรคหลักเป็น “เรือธง” ของเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร แต่มาถึงนาทีนี้ กระแสไม่ได้เปรี้ยงปร้างอย่างที่คิดหวังเอาไว้ตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจที่ออกมาตรงกันในระยะหลังจะออกมาในรูปของความนิยมแบบ “เรียบๆ” ไม่ได้ร้อนแรงดังคาด ไม่ว่าจะเป็นตัวแคดิเดตนายกฯอย่าง “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ความนิยมก็เป็นแบบเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และเริ่มตามหลัง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐในระยะ “ห่าง” มากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่แคนดิเดตอีกคนของพรรค คือ ชัชชาติ สุทธิพันธุ์ ผลสำรวจจากสำนักเดียวกันกลับมีความนิยมลดลง ส่วนความนิยมของพรรคเพื่อไทยนั้นเล่า ล่าสุดก็ถูกพรรคพลังประชารัฐจี้ติดแบบ “หายใจรดต้นคอ” มีโอกาสแซงนำได้ทุกเมื่อ เพราะเมื่อพิจารณาจากบรรยากาศภายในเปรียบเทียบกันระหว่างสองพรรคความคึกคักนั้นต่างกันลิบลับ
แน่นอนว่าตัวแปรสำคัญของเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร อยู่ที่พรรคไทยรักษาชาติ ที่ในเวลานี้เหมือนกับอยู่ในภาวะ “ตายทั้งเป็น” กำลังลุ้นอยู่ว่าในวันที่ 7 มีนาคม ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดนัดวินิจฉัยจะออกหัวหรือก้อย จะ “ยุบหรือไม่ยุบ” แต่จากสภาพในปัจจุบันรับรองว่าไม่มีใครอยากเคลื่อนไหวอะไร อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากคำแถลงของศาลที่ระบุว่า “มีหลักฐานชัดเจนแล้วไม่จำเป็นต้องไต่สวนเพิ่ม” มันก็ทำให้การยื่นพยานจำนวนถึง 19 ปาก เพื่อหวังให้การพิจารณายืดเยื้อไปหลังเลือกตั้งก็ต้องเป็นหมันไป
แม้ว่ายังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นแบบบวกหรือลบ หากออกมาในทางลบหรือยุบพรรค จะส่งผลให้ผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติในระบบเขตที่ส่งสมัครราว 150 เขต กลายเป็นฟันหลอทันที คะแนนกลายเป็นโมฆะ
ขณะเดียวกัน หากจะให้เทคะแนนไปที่ "พรรคตระกูลเพื่อ"ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อชาติ มันก็ทำได้ยาก เพราะเหมือนกับ"ปลาคนละน้ำ"เพราะผิดแผนมาตั้งแต่แรก เนื่องจากไม่ได้ถูกตั้งให้เป็น"พรรคสำรอง" อย่างมากก็เป็นได้แค่คนรู้จัก เคยเป็นแค่มวลชนคนเสื้อแดงที่เคยอาสาเข้ามารองมือรองเท้าเท่านั้นเอง ไม่ใช่ระดับ"วงใน"อย่างพวกในพรรคไทยรักษาชาติ
ที่สำคัญเวลานี้ภายในพรรคเพื่อชาติมีแต่ข่าว"ความแตกแยก"สาวใส้กันเละ ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐอดีตรองหัวหน้าพรรค ที่แฉโพย จตุพร พรหมพันธุ์ ผู้สนับสนุนพรรคคนสำคัญว่าเล่นพวก และยังเปิดโปงในเรื่องการซื้อขายลำดับผู้สมัครบัญชีรายชื่อ ที่เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีคดีและเสี่ยงถูกยุบพรรคตามมาอีก และนอกเหนือจากนั้นยังมีข่าวทางลบอีกว่า เวลานี้ ยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้สนับสนุนคนสำคัญอีกคนหนึ่งก็ไม่พอใจแบบ “ทางใครทางมัน” กันไปแล้ว
หรือหากจะพึ่งพาพรรคแนวร่วมที่เคยมองกันว่าน่าจะหันไปทางพรรคอนาคตใหม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เวลานี้กระแสก็ “แผ่ว” ลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ ตัวของ ธนาธร ผลสำรวจล่าสุดก็มีความนิยมลดลงเมื่อเปรียบเทียบจากการสำรวจคราวก่อน
ส่วนอีกด้านหนึ่งเมื่อหันไปทางคู่ต่อสู้อย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่มีแคนดิเดตอย่าง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นับวันมีแต่ความคึกคัก ฮึกเหิม ทุกอย่างเป็นใจไปหมด ล่าสุด ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไฟเขียวให้ลุงตู่ไปขึ้นเวทีหาเสียงได้ เพียงแต่เตือนให้ระวังในเรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไปอยู่แล้ว แต่นั่นเท่ากับว่าได้เพิ่มช่องทางการหาคะแนนนิยมได้มากขึ้นไปอีก
เวลานี้คะแนนของพรรคพลังประชารัฐกำลังจี้ติดพรรคเพื่อไทยแบบ “หายใจรดต้นคอ” เวลาที่ยังเหลืออีกเกือบ 3 สัปดาห์น่าจะถือว่าเหลือเฟือที่จะแซงนำได้ ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่เวลานี้ทุกพรรคต่างพยายามขัดขวางไม่ให้ “บิ๊กตู่” ขึ้นเวทีหรือเดินสายช่วยผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ เพราะหากเกิดขึ้นจริงนั่นเท่ากับหายนะดีๆ นี่เอง
ดังนั้น หากสรุปถึงบรรยากาศเปรียบเทียบระหว่างสองฝ่าย เวลานี้ถือว่าหาก “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นคนกำหนดเกมก็ต้องบอกว่าเขา “พลาด” ทำให้พังทั้งกระดาน ทุกอย่างถดถอยไปหมด ไม่มีนโยบายใหม่มาขาย คนก็ไม่เปรี้ยง แผนแตกแบงก์พันก็ล้มไม่เป็นท่า
ขณะที่ “ฝ่ายลุงตู่” มีแต่ความฮึกเหิมทุกอย่างเข้าทาง ซึ่งอาจเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปีตั้งแต่ปี 44 ที่ตั้งพรรคไทยรักไทย ที่ ทักษิณ ส่อเค้าว่าจะแพ้ย่อยยับ!!