“สุดารัตน์” ทวีตข้อความสับ พ.ร.บ.ไซเบอร์ คุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนโจ่งแจ้ง ทำลายบรรยากาศลงทุน ต่างชาติกลัวล้วงข้อมูล ถ้าพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลต้องแก้ พ.ร.บ.นี้ เป็นอันดับแรก
วันนี้ (2 มี.ค.) คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ได้ทวีตข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในทวิตเตอร์ @sudaratofficial ว่า พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่ สนช. พึ่งผ่านมาด้วยคะแนน 133:0 คือการคุกคามเสรีภาพของประชาชนอย่างโจ่งแจ้ง
เป็นกฎหมายที่ตีความได้กว้างขวาง ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการขอข้อมูล ยึด ค้น เจาะ ทำสำเนา และสอดส่องข้อมูลได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล ผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ให้ความร่วมมือ จะมีโทษทั้งจำและปรับ!!
คุณหญิง สุดารัตน์ ยังทวีตข้อความอีกว่า พ.ร.บ.ไซเบอร์ ยังทำลายบรรยากาศทางธุรกิจ ทั่วโลกจะไม่กล้ามาลงทุนในไทย เพราะกลัวถูกเจาะเอาความลับทางธุรกิจไป
หากพรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาล พ.ร.บ.ไซเบอร์ฉบับนี้จะต้องถูกแก้ไขเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม สำหรับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ชี้แจงวานนี้ว่า หลักการสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าวมุ่งที่จะป้องกันความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น ไวรัส มัลแวร์ การโจมตีระบบจากอาชญากรคอมพิวเตอร์ อาจกระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชน หรือความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เพื่อให้สามารถป้องกัน หรือรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที
กฎหมายนี้จึงมีการกําหนดหน่วยโครงสร้างพื้นฐานสําคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure : CII ) ทั้งหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน ตลอดจนกําหนดให้มีมาตรฐานและ แนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้สามารถบริการได้อย่างต่อเนื่อง
ผู้ร่างกฎหมายได้กำหนดว่าโครงสร้างพื้นฐานสําคัญทางสารสนเทศ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านบริการของรัฐที่สำคัญ เช่น ระบบการเบิกจ่ายเงินของกรมบัญชีกลาง เป็นต้น ด้านการเงิน ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ด้านความมั่นคง ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และด้านสารธารณสุข ทั้งนี้สามารถเพิ่มด้านอื่นได้อีกในอนาคต
กฎหมายนี้จึงมิได้ส่งผลกระทบและมิได้ไปคุกคามสิทธิต่อประชาชนโดยทั่วไปแต่อย่างใด แต่จะสามารถป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที เพราะปัจจุบันเกิดปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์อยู่เสมอ ซึ่งกฎหมายได้ระบุประเภทภัยคุกคามทางไซเบอร์ไว้ 3 ระดับ (1) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับไม่ร้ายแรง (2) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง และ (3) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤต
เบื้องต้น ภัยคุกคามในระดับไม่ร้ายแรง หน่วยงานนั้นๆ และหน่วยงานกำกับดูแลต้องดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ส่วนภัยในระดับร้ายแรงซึ่งทำให้บริการที่สำคัญต้องหยุดชะงัก สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติจะให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหา โดยในการเข้าไปในสถานที่หรือเข้าไปตรวจคัน เจ้าหน้าที่จะต้องขอหมายศาล
ขณะที่ภัยระดับวิกฤตต้องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่บริการที่สำคัญถูกโจมตีจนล่มไม่สามารถให้บริการได้เป็นวงกว้าง หรือมีประชาชนเสียชีวิตและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงให้ใช้อำนาจตามกฎหมายด้านความมั่นคง อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อาจต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนพร้อมกับแจ้งศาลโดยเร็ว
ทั้งนี้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ยังได้ให้นิยามของ “ภัยคุกคามทางไซเบอร์” ไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 3 ว่า “การกระทำหรือการดำเนินการใดๆ โดยมิชอบโดยใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมไม่พึงประสงค์โดยมุ่งหมายให้เกิดการประทุษร้ายต่อระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง” ดังนั้น การกระทำใดๆ ที่ไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดการประทุษร้ายต่อระบบคอมพิวเตอร์ จนก่อให้เกิดความเสียหาย ย่อมจะไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดในกฎหมายนี้อย่างแน่นอน
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
ปลัดดีอีแจง กม.ไซเบอร์ ไม่ละเมิดสิทธิ
โต้ พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ ให้รัฐคุมเบ็ดเสร็จไม่จริง ย้ำมุ่งใช้กับอาชญากรโจมตีระบบ ไม่เกี่ยวกับประชาชนทั่วไป