xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก กห.ย้ำ “เกณฑ์ทหาร” จำเป็น วอนอย่าติดภาพ “ผู้กองยอดรัก” พรรคการเมืองอย่าหาเสียงลอยๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ (แฟ้มภาพ)
โฆษก กห.ยันยังจำเป็นต้องเกณฑ์ทหาร รองรับภารกิจด้านความมั่นคงที่หลากหลาย เผยยอดสมัครใจเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอ ยอมรับมี “พลทหารรับใช้” แต่จำนวนน้อยมาก อย่าติดภาพจำ “ผู้กองยอดรัก” วอนพรรคการเมืองอย่านำไปหาเสียงลอยๆ ทำลายเกียรติภูมิ ขวัญกำลังใจ ส่งผลต่อผู้ที่สมัครใจเข้ามาเป็น ยกตัวเลขประเทศประชาธิปไตย กลับมาใช้ระบบเกณฑ์ทหารอีกครั้ง

วันนี้ (27 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงกรณีที่มีบางพรรคการเมืองนำเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปหาเสียงว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 60 ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมถึงรักษาเอกราชอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการให้มีการทหารไว้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยกองทัพมีหน้าที่เตรียมกำลัง ป้องกันราชอาณาจักร และใช้กำลังตามอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตแดนทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

พล.ท.คงชีพกล่าวว่า ภาพรวมของทหารมีการใช้กำลัง 1 ใน 3 ไปปฎิบัติภารกิจป้องกันชายแดน รวมถึงในพื้นที่จังหวัดใช้แดนภาคใต้ และในส่วน 2 ใน 3 ต้องฝึกตามวงรอบ และปฏิบัติภารกิจ ดูแลความมั่นคงภายในประเทศ ทหารกองประจำการ จึงเป็นกำลังพลหลัก ของกองทัพ ที่หมุนเวียนกันเข้ามาทำหน้าที่รับใช้ชาติ รวมถึงการดูแลปกป้องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น ภัยยาเสพติด, ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ภัยก่อการร้ายอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์การแก่งแย่งชิงทรัพยากร รวมถึงโรคระบาดต่างๆ ที่เป็นภัยที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากสงคราม ซึ่งรัฐต้องดูแลเรื่องเหล่านี้ด้วยสำหรับความต้องการทางทหารกองประจำการนั้น ใน 1 ปีมีชายไทย ลงทะเบียนเป็นทหารกองเกินไว้ประมาณ 6-7 แสนคน แต่เข้ารับการตรวจเลือกประมาณ 4-5 แสนคนส่วนที่หายไป เพราะร่างกายไม่ผ่านการคัดเลือกและอีกส่วนหนึ่งก็มีการขอผ่อนผัน ซึ่งในส่วนความต้องการของกองทัพมีประมาณ 1 แสนคน หรือเป็น 1 ใน 5 ของยอดที่เข้ารับการตรวจเลือก ที่ผ่านมาในแต่ละปีมีคนสมัครใจเป็นทหารกองประจำการประมาณ 20% แต่ในปี พ.ศ. 2557-2558 มียอดสมัครใจ 45%

พล.ท.คงชีพกล่าวอีกว่า สถานภาพกำลังพลในกองทัพ แบ่งเป็นส่วนประชากร 4% ส่วนสนับสนุนการรบ 7% ส่วนภูมิภาค 14% ส่วนกำลังรบ 63% ส่วนส่งกำลังบำรุง 4% และส่วนการฝึกศึกษา 8% ซึ่งภารกิจของทหารกองประจำการ จะแบ่งเป็นการเตรียมกำลัง และปฏิบัติภารกิจภายในประเทศ 67% ส่วนภารกิจป้องกันชายแดน 33% ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนจากในอดีตเมื่อเวลาเกิดสงครามคนไม่มีความพร้อม เพราะไม่ได้รับการฝึกจึงทำให้เกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมาก ทางรัฐบาลในสมัยนั้น จึงได้ตราระเบียบการรับราชการทหารปี พ.ศ. 2497 ออกมา เพื่อให้ชายไทยทุกคน เข้ามารับการตรวจเลือกการเป็นทหาร เพื่อดูแลประเทศชาติ เตรียมกำลังและความพร้อมสามารถเผชิญต่อภัยสงครามได้

ทั้งนี้ ในโลกนี้มีอยู่ 39 ประเทศที่ยังใช้ระบบการเกณฑ์ทหารอยู่ และ 13 ประเทศที่ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้ว และ 29 ประเทศที่ไม่เกณฑ์หาร แต่ที่ผ่านมาหลายประเทศ ที่เคยยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร แล้วนำกลับมาพิจารณาใช้อีก เช่น ประเทศสวีเดน, ประเทศลิทัวเนีย ,และประเทศจอร์แดน ส่วนที่ประเทศอิตาลี โรมาเนีย, เยอรมนี และฝรั่งเศส กำลังพิจารณาหลักเกณฑ์การเกณฑ์ทหารกลับมาใช้อีกส่วนประเทศไทยนั้น เราทำแบบผสม เราจำเป็นต้องใช้การตรวจเลือกทหาร แบบผสมทั้งความสมัครใจ และเกณฑ์ทหารควบคู่กัน ทั้งนี้ทหารที่รับราชการมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีความต้องการเป็นทหาร โดยความสมัครใจ 2. กลุ่มที่ถือว่าเป็นหน้าที่ของชายไทยที่ต้องทำตามกฎหมาย กลุ่มนี้ก็จะเข้ามารับการตรวจเลือกและจับสลากใบดำ-ใบแดง และ 3. คือกลุ่มที่ไม่ต้องการรับราชการทหารเลย แม้จะมีแรงจูงใจมากเท่าไหร่ก็ตาม

“อย่างไรก็ตาม ระบบการเกณฑ์ทหาร กำลังมีการพิจารณาควบคู่ไปกับระบบกำลังสำรอง เช่น นักศึกษาวิชาทหาร ที่มีการเปิดรับนักศึกษาวิชาทหาร สามารถใช้สิทธิในการเรียนหลักสูตรวิชาทหารเพื่อลดเวลา หรือได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก หรือสามารถไปบรรจุอยู่ในบัญชีกำลังพลสำรอง ในชั้นยศต่างๆ เพื่อเรียกระดม ในสถานการณ์วิกฤต วันนี้เราเปิดโอกาสให้ชายไทยได้มีหลายช่องทาง ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารทั้งหมด” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว

พล.ท.คงชีพกล่าวยืนยันว่า การเข้ามาเป็นทหารกองประจำการ ทางกองทัพจะดูแลเรื่องสิทธิในหลายเรื่อง และดูแลคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดนเชื่อว่าชายไทยที่ผ่านการเกณฑ์ทหาร ทุกคนเมื่อปลดประจำการไปแล้ว ก็จะเป็นผู้นำทางสังคมและผู้นำครอบครัวที่ดี ไม่สร้างปัญหาให้สังคม เป็นคนมีระเบียบวินัย มีอุดมการณ์เพื่อชาติ และเป็นคนที่มีคุณภาพ แม้เราจะไม่ได้ออกไปรบ แต่ต้องเตรียมกำลังให้พร้อม โดยเฉพาะมิติงานด้านความมั่นคง

เมื่อถามว่า สังคมยังรู้สึกว่าทหารเกณฑ์ถูกนำไปเป็นพลทหารรับใช้บ้านจะลดจำนวนตรงนี้หรือยกเลิกไปเลยหรือไม่ พล.ท.คงชีพกล่าวอีกว่า ตนไม่ได้ปฏิเสธ แต่วันนี้ถือว่าน้อยมากหรือแทบจะไม่มี และถือเป็นนโยบายอยู่แล้วที่เราหลีกเลี่ยงการใช้ทหารไปทำภารกิจที่ไม่เหมาะสม โดยเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของเขา ภาพเก่าๆ ในละครผู้กองยอดรัก ที่ใช้ไปซักผ้า คงไม่มีให้เห็น เพราะทุกบ้านมีเครื่องซักผ้าใช้หมดแล้ว เราก็พยายามดูแล ไม่ให้มีการริดรอดเกียรติภูมิของทหารเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เรารับฟังทุกข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ แต่ปัจจุบันมิติความมั่นคงคลอบคลุม เราต้องศึกษาและทำความเข้าใจร่วมกันอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงกระทบต่อความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติ โดยต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ

“ที่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารในภาวะที่เราต้องการทหารขนาดนี้ จะยอมรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ วันนี้ต้องศึกษาและทำความเข้าใจกันก่อน ไม่อยากให้มีการพูดกันลอยๆ จะกระทบต่อจิตใจต่อคนปฏิบัติหน้าที่ พลทหารทุกคนเป็นรั้วของชาติที่มีชีวิต จิตใจ ควรมาหันมาให้เกียรติและให้กำลังใจในการทำงาน ผมเชื่อว่าชายไทยทุกคนจะภาคภูมิใจและเดินเข้ามาสมัครเป็นทหาร” พล.ท.คงชีพกล่าว และว่าส่วนการใช้ความรุนแรงระหว่างการฝึกทหารกองประจำการนั้น เป็นนโยบายของ รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบกอยู่แล้ว ให้ระมัดระวังพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ครูฝึกและรุ่นพี่จะถูกปลดออกจากราชการ อีกทั้งผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นต้องรับผิดชอบ ได้รับโทษถึงขั้นปรับย้าย ตนเชื่อว่าขณะนี้น้อยลงมาก ที่เห็นในโซเชียลมีเดีย ก็เป็นคลิปเก่าที่นำมาเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจผิด สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้ทหาร

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย หาเสียงยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หากเข้ามากำหนดนโยบาย กองทัพจะชี้แจงหลักการนี้ได้หรือไม่ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า คิดว่าเมื่อฟังสิ่งที่ชี้แจงแล้วจะเข้าใจ และพรรคการเมืองเหล่านั้นก็เคยทำงานทางการเมืองมาแล้ว และเป็นนักการเมืองหน้าเดิมๆ และมีหน้าใหม่เข้ามาบ้าง รัฐบาลที่ผ่านมาก็เป็นรัฐบาลในวิถีประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย หรือ พรรคประชาธิปัตย์ เคยทำงานในสภาฯ การแก้ไข พ.ร.บ.การเกณฑ์ทหาร ก็อยู่ในสภาฯ รวมถึงการรับกำลังพลเข้ามาเป็นทหาร ก็ต้องมีการขออนุมัติงบประมาณจาก ครม. จึงไม่อยากไปหาเสียงในลักษณะลอยๆ ว่าจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ประเทศเรามี 2 ระบบ คือ เกณฑ์ทหารและสมัครใจ ดังนั้นอย่าไปชูเป็นนโยบายหาเสียงเลย เมื่อเข้ามาก็ทำความเข้าใจกันเพราะความมั่นคงมีหลายมิติ จะบอกว่าไม่มีการสู้รบทำไมต้องมาเกณฑ์ทหารจำนวนมากมายนั้น ตนอยากให้มองว่าเป็นควรเป็นการรักษาสมดุลอำนาจทหารมากกว่า โดยไม่ต้องรบ แต่สามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติได้

“ทหารทำงานด้วยแรงศรัทธา อุดมการณ์ ไม่ใช่จ้างด้วยเงิน เพราะเงินซื้อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ไม่ควรตีค่าความรับผิดชอบต่อแผ่นดิน ความรักชาติ เป็นเงิน การดูแลแผ่นดินเกิด และความมั่นคงของชาติ เป็นหน้าที่ของทุกคน ผมต้องการชี้แจง ไม่ใช่เป็นการตอบโต้ การนำไปหาเสียงแบบนี้ก็ต้องพิจารณากันเองว่าเหมาะสมหรือไม่ ” พล.ต.คงชีพกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น