xs
xsm
sm
md
lg

คสช.คิด เพื่อไทยทำ!"ชัชชาติ"แบไต๋เพื่อไทยพร้อมสานต่อ“อีอีซี-บัตรคนจน”แถมเลิกจำนำข้าว **มรสุมยุบพรรคยังแรง!12พรรคเจอร้องอีกระลอก ***เปิดผลโพลล์โซเชียลฯ"เพื่อไทย"ทิ้ง"พลังประชารัฐ"ไม่เห็นฝุ่น "ฟ้ารักพ่อ"เหมือนจะฮิตแต่เรตติ้งน้อยนิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นกหวีด

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ , นพดล อมรเวช , ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ , กราฟิกประกอบโพล
ข่าวปนคน คนปนข่าว

**คสช.คิด เพื่อไทยทำ! "ชัชชาติ" แบไต๋ เพื่อไทยพร้อมสานต่อ“อีอีซี-บัตรคนจน” แถมเลิกจำนำข้าว เท่ากับยอมรับผลงานรัฐบาลเผด็จการ ที่ตัวเองต้านมาตลอด

ศึกเลือกตั้ง'62 เพื่อไทย และ พลังประชารัฐ เป็นสองขั้วการเมืองที่ยืนอยู่ตรงข้ามกันชัดเจน เพื่อไทยแสดงออกมาตลอดว่ารับไม่ได้กับรัฐบาลคสช. หรือ เผด็จการ ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งวันนี้กลายเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐ ... ทว่า ในการหาเสียงช่วยลูกพรรคครั้งล่าสุด (23 ก.พ.) ที่บริเวณตลาดผลไม้ สี่แยกมหานาค "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ถึงกับประกาศอย่างไม่เหนียมอายว่า จะสานต่อโครงการ อีอีซี และ บัตรคนจน เพราะสองโครงการนี้ เป็นนโยบายดีๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เพื่อไทยจะเอามาทำต่อ ไม่เลิก อย่างบัตรสวัสดิการ เลิกไม่ได้เพราะภาครัฐได้เตรียมเงินช่วยเหลือไว้แล้ว และเป็นการช่วยเหลือคนจน แต่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือหรือไม่ จะดูรายละเอียดอีกที ...

"ชัชชาติ" ยังปฏิเสธเรื่องที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะทำโครงการรับจำนำข้าวต่อ แต่จะมีโครงการอื่น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพราะโครงการจำนำข้าว เป็นนโยบายประชานิยมที่แม้จะช่วยให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายมาก่อนนี้ แต่ก็เป็น"บาดแผลใหญ่" ทำให้รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ถูกดำเนินคดี คอร์รัปชั่น-ฉ้อโกง จนทำให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องติดคุก และ ยิ่งลักษณ์ ต้องหลบหนีคดีไปต่างประเทศ ... เมื่อเป็นจุดอ่อนก็เข้าใจได้ ที่พรรคเพื่อไทย จะซุกโครงการจำนำข้าว เอาไว้ในลิ้นขักชั้นในสุด ... เมื่อแลดูนโยบายหาเสียงอื่นๆของเพื่อไทยเวลานี้ ก็แทบจะไม่มีอะไรใหม่นอกจากวาทะกรรมทางการเมืองที่พุ่งเป้าโจมตีรัฐบาลทหาร เผด็จการสืบทอดอำนาจ หรือ ทุกข์มา 4-5 ปี จะทนทุกข์ต่อกันหรือ... แม้กระทั่งป้ายหาเสียงก็ไม่ได้ขายฝันเหมือนในอดีต หรือ ชูนโยบายใหม่ๆ จะมีแต่ข้อความที่วิพากษ์รัฐบาล คสช.เช่น "ล้มเหลวผิดหวัง ถดถอย ล้าหลัง คอยแต่จะสร้างวิกฤติเศรษฐกิจ" ติดกันเกร่อ

เมื่อแคนดิเดตนายกฯเพื่อไทยอย่าง "ชัชชาติ " ยกเอานโยบาย "อีอีซี-บัตรคนจน" มาหาเสียง ก็เข้าทำนองเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ไม่ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ รู้ๆกันว่าทั้ง อีอีซี หรือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ "บัตรคนจน" เป็นสองโครงการที่รัฐบาล คสช. พอจะอ้างได้ว่า คือ ผลงานรัฐบาลที่เป็นชิ้นเป็นอันที่สุด และพรรคพลังประชารัฐ พรรคของลุงตู่ ก็หยิบมาหาเสียงตั้งแต่แรก แบบนี้ก็เท่ากับยอมรับผลงานรัฐบาลคสช. ที่ตัวเองตั้งข้อรังเกียจ ประกาศต่อต้านทุกรูปแบบ นั่นเอง...
ลืม "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ"ไปได้เลย หากตอนนี้ควรเป็น "คสช.คิด เพื่อไทยทำ"


** มรสุมยุบพรรคยังแรง !! 12 พรรคการเมือง เจอร้องยุบพรรคอีกระลอก จากกรณีแอบแก้ไขข้อมูล เพื่อให้สมาชิกพรรคมีคุณสมบัติในการสมัครส.ส. หลังจาก กกต.ประกาศไม่รับรองไปแล้ว ส่วน "ธนาธร" เจอร้องผิด มาตรา 73 (5) ของพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. มีโทษขั้นสูงสุดถึงจำคุก 10 ปี และตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

จากกรณีที่ กกต.ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครส.ส. แล้วไม่ประกาศรับรอง 496 คน เป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต 389 คน ระบบบัญชีรายชื่อ 107 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหา เรื่องสมัครเป็นสมาชิกพรรค"ไม่ถึง 90 วัน" ตามกฎหมายกำหนด และเป็นสมาชิก"ซ้ำซ้อน" คือ สมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ โดยยังไม่ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเก่า ซึ่งกกต.บอกว่า หากผู้ใดเห็นว่าคุณสมบัติของตนเองถูกต้องแล้ว แต่ไม่ได้รับการรับรอง ก็ให้ไปร้องต่อศาลฎีกาฯได้ ... อีกไม่กี่วันถัดมา กกต.ได้ตรวจสอบลงลึกในรายละเอียดอีกครั้ง หลังจากมีผู้สมัครส.ส.ส่วนหนึ่ง ไปร้องต่อศาลฎีกาฯ แล้ว พบว่า 38 ราย ในจำนวนผู้สมัคร ส.ส.เขต ที่ไม่ได้รับการรับรอง และ 2 ราย จากส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ได้แอบเข้าไปแก้ไขข้อมูล ในฐานข้อมูลสมาชิกพรรค เพื่อให้คุณสมบัติของตนเองถูกต้อง

ผู้ที่แอบเข้าไปแก้ไขข้อมูลนี้ มาจาก 12 พรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อแผ่นดิน (พรรคเก่าของสุวิทย์ คุณกิตติ) 8 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ (พรรคของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์) 2 คน พรรคไทยศรีวิไลย์ (พรรคของ มาร์ค พิทบูล) 1 คน พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (พรรคของนายปรีดา บุญเพลิง) 4 คน พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล (พรรคของ ดร.ชุมชฎาธาร หาญณรงค์)1 คน พรรคประชาชนปฏิรูป (พรรคของไพบูลย์ นิติตะวัน) 1 คน พรรคประชาธรรมไทย (พรรคของพิเชษฐ์ สถิรชวาล) 1 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท (พรรคของ ชัช เตาปูน) 11 คน พรรคพลังปวงชนไทย (พรรคของ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร) 3 คน พรรคภราดรภาพ (พรรคของ ม.ร.ว.ดำรงดิศ ดิศกุล ) 1 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย (พรรคของ ลุงกำนัน) 4 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (พรรคของดำรงค์ พิเดช) 1 คน ส่วนผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 2 คน มาจาก พรรครวมพลังประชาชาติไทย และ พรรคเศรษฐกิจใหม่... ดูชื่อพรรคแล้วอาจเห็นว่าเป็น "พรรคเล็ก พรรคใหม่" แต่พอดูชื่อหัวหน้าพรรค หรือผู้เกี่ยวข้องแล้ว ล้วนเป็นผู้เคยที่โลดแล่นในวงการเมือง จนเป็นที่รู้จักมาแล้วเป็นส่วนใหญ่

ในมุมของกกต. หลังพบพิรุธนี้ ก็ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมส่งให้กับ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขต เพื่อใช้ในการชี้แจงสู้ คดีต่อศาลฎีกาฯ และเตรียมดำเนินการเอาผิดกับผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ในความผิดตามกฎหมายอาญา ฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ปลอมแปลงเอกสาร และใช้เอกสารปลอม และนำสืบ หรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกด้วย ... ซึ่งความผิดที่ว่านี้ อาจมองว่าเป็นแค่ความผิดส่วนบุคคล ไม่กระทบถึงยุบพรรค ...
แต่ "นพดล อมรเวช" หัวหน้าพรรครวมใจไทย มองลึกกว่านั้น เห็นว่าการกระทำดังกล่าว ไม่เพียงเป็นความผิดส่วนบุคคล เพราะพรรคต้องรู้เห็นเป็นใจด้วย จึงจะสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้ เนื่องจากระบบฐานข้อมูลของพรรคการเมือง ที่ลิงค์กับกกต. ต้องมี "พาสเวิร์ด" เฉพาะแต่ละพรรค จึงจะเข้าไปดำเนินการเกี่ยวกับฐานข้อมูลได้ จึงไม่ใช่ความผิดเฉพาะบุคคล แต่ลามไปถึงพรรคด้วย และเห็นว่าเข้าข่าย "เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด" ซึ่งมีโทษถึง "ยุบพรรค"ได้ เพราะไปเข้าตามความผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 จึงได้นำเรื่องนี้ไปร้องต่อ กกต. เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้พิจารณายุบ 12 พรรคการเมือง ดังกล่าว...

และในวันนี้ (25ก.พ.) "นักร้อง" อย่าง ศรีสุวรรณ จรรยา ก็จะไปร้องกก. กรณี "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่โพสต์ประวัติส่วนตัว ในเว็บไซต์ของพรรคฯ ว่าเป็น อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ช่วงปี 2551-2555 ทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็น ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครนายกฯ จึงมองว่า อาจเข้าข่าย "จงใจ หรือเจตนาที่จะหลอกลวงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง" เข้าร่อง มาตรา 73 (5) ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง 2561 ที่บัญญัติ ห้ามมิให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผู้ฝ่าฝืนอาจมีความผิดตาม มาตรา 159 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และศาลจะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปีด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการการตีความกฎหมายนั้น ต่างฝ่ายต่างมองในมุม "ประโยชน์" ของฝ่ายตน ขณะที่การพิจารณาของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญนั้น นอกจาก"ถ้อยคำ"ในตัวบทกฎหมายแล้ว ยังมีองค์ประกอบในเรื่อง "เจตนา" เข้ามาอยู่ในข่ายพิจารณาด้วย ดังนั้นเหตุจะลุกลามไปถึงขั้น "ยุบพรรค" หรือไม่ คงต้องลุ้นระทึกกันต่อไป

**เปิดผลโพลล์ โซเชียล SOCIAL VOICE POLL วัดกระแสคนโลกออนไลน์ "เพื่อไทย" ทิ้ง "พลังประชารัฐ" ของ "ลุงตู่" ไม่เห็นฝุ่น "ฟ้ารักพ่อธนาธร" เหมือนจะฮิต แต่เรตติ้งน้อยนิด แถมถูกพูดถึงด้านลบมากที่สุด

เลือกตั้งครั้งนี้ถือว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการหาเสียงของพรรคการเมืองมากที่สุด เนื่องเพราะ สื่อโซเชียล สามารถดึงคนให้เข้ามาร่วมแสดงความเห็น แชร์ความรู้สึก และทำอะไรร่วมกันเป็นวงกว้าง เกิดเป็นกระแสได้ ... ยกตัวอย่าง #ฟ้ารักพ่อ #พ่อรักฟ้า ที่สร้างกระแสให้ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในทวิตเตอร์ ... ต่างพรรคก็ต่างเคลมว่า "กระแสดี" ซึ่งก็ชวนให้คิด ว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือ ?

มาลองดูตัวชี้วัด "Social vioce Poll"โดย Feedback 180 ผู้เชี่ยวชาญการจัดทำระบบ Social vioce ซึ่ง เป็นข้อมูลระหว่าง วันที่ 17-18 ก.พ. ที่ผ่านมา ... จะเห็นว่า พรรคการเมืองที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในสังคมออนไลน์ คือ พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 เป็น พรรคไทยรักษาชาติ ที่มีกระแสเรื่องยุบพรรค "สองพรรคตระกูลเพื่อทักษิณ" ทิ้งพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคใหญ่แคนดิเดต ที่จะกลับเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาล กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคเก่าแก่ มีส่วนแบ่งน้อยนิด หรือ พูดอีกอย่างว่า คนในสังคมออนไลน์ แทบไม่พูดถึง

ขณะที่ ฟ้ารักพ่อธนาธร ปั่นกระแสในทวิตเตอร์ และเรียกเสียงกริ๊ด จากเด็กสาวและสตรีข้ามเพศได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้พรรคอนาคตใหม่ ถูกพูดถึงเท่าไหร่ ในภาพรวม ... ตรงกันข้ามเมื่อมองจากตัวชี้วัดในแง่การเปรียบเทียบว่า อารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมออนไลน์ พูดถึงแต่ละพรรค กลับพบว่าอนาคตใหม่ ถูกพูดถึงด้านบวกน้อยมาก แค่ไม่ถึง 6% ส่วนใหญ่ 94% พูดเป็นด้านลบ พอๆกับพรรคพลังประชารัฐ แคนดิเคตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได่ดีไปกว่าพรรค อนาคตใหม่ ... อารมณ์ความรู้สึกที่คนในสังคมออนไลน์พูดถึง"พลังประชารัฐ" ด้านบวก 8.86% พูดถึง ด้านลบ 91.14 % อาการน่าเป็นห่วง ... ส่วนที่คนในสังคมออนไลน์มีอารมณ์ความรู้สึกดีมากกว่าพรรคอื่นๆ คือ พรรคไทยรักษาชาติ และ พรรคเพื่อไทย

ชั่วโมงนี้ จึงพอเห็นภาพในสังคมออนไลน์ว่า กลุ่มพรรคใหญ่เพื่อไทย นอกจากจะถูกพูดถึงมากที่สุด หากยังมีเรื่องบวก ให้พูดถึงมากกว่า พรรคพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ... เหลือเวลาอีก 1 เดือนจากนี้ ถึงวันเลือกตั้ง ผลโพลล์อาจจะพลิกไปได้อีกหลายตลบ สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร





กำลังโหลดความคิดเห็น