xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อเสนอ ป.ป.ช. จี้รัฐบาลในอนาคตกำหนดเจ้าภาพ ยกระดับคะแนนดัชนีรับรู้การทุจริต พ่วงแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิดข้อเสนอสำนักงาน ป.ป.ช. จี้รัฐบาลกำหนดเจ้าภาพ ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ระยะที่ 2 ของประเทศไทย อัปเกรดสำนักงาน ป.ป.ท.เป็นเจ้าภาพร่วมประสานทุกแหล่งข้อมูล พ่วงแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน พร้อมหนุนงบประมาณ/อัตรากำลังคัน ตั้งหน่วยงานพิเศษ เน้นกำกับ ติดตาม และผลักดันให้มีการยกระดับคะแนนรับรู้ทุจริตของประเทศ ย้ำรัฐบาลในอนาคต ต้องขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้ (21 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ระยะที่ 2 ต่อรัฐบาล เพื่อให้การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยเป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

มีข้อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการยกระดับ CPI โดยให้นำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ระยะแรกไปกำหนดแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจน และให้มีการดำเนินการตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ โดยให้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามผลการดำเนินงานและมีข้อเสนอเพิ่มเติมในการยกระดับ CPI พร้อมทั้งให้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกๆ 1 ปี

ทั้งนี้ รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณและอัตรากำลังแก่สำนักงาน ป.ป.ท.ในการจัดตั้งหน่วยงานมีหน้าที่โดยตรงในการกำกับ ติดตาม และผลักดันให้มีการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย และประสานกับหน่วยงานภาคเอกชนหรือมูลนิธิที่มีความพร้อมเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต

สำนักงาน ป.ป.ช.ยังเสนอต่อรัฐบาลให้มอบหมายหน่วยงานหลักและหน่วยงานรองเพื่อรับผิดชอบการยกระดับ CPI ในทุกแหล่งข้อมูล ประสานงานกับ ป.ป.ท.เพื่อบูรณาการการทำงานรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุก 1 ปี ขณะที่แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ ต้องมีความยั่งยืนที่แต่ละรัฐบาลเมื่อเข้ามาบริหารประเทศต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงตามแผนปฏิรูปฯ ที่ได้กำหนดไว้แล้วโดยไม่มีเหตุจำเป็น

“รัฐบาลในอนาคตต้องนำแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ไปขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดให้มีหน่วยงานหลักรับผิดชอบแผนปฏิรูปแต่ละด้าน โดยเฉพาะด้านที่มีผลต่อการยกระดับ CPI และให้ร่วมกันดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดให้มีหน่วยงานหลักในการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน”

นอกจากนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดให้มีกลไกการคุ้มครองพยานและผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต (Whistleblower)ให้เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชนให้เกิดความเชื่อมั่นในการแจ้งเบาะแสการทุจริต และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติ และให้การบริการกับประชาชน ดำเนินการปรับปรุง พัฒนา กฎ ระเบียบต่างๆ เพื่อลดการใช้อำนาจในการตัดสินใจอย่างอิสระที่จะเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ดุลพินิจต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการดำเนินการ พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติ และให้การบริการกับประชาชน จัดทำขั้นตอนการให้บริการให้มีความชัดเจน และมีการเผยแพร่ให้ผู้รับบริการทราบ เพื่อล่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ข้อมูล ข่าวสารของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ผลการดำเนินการของรัฐบาล การให้รางวัลแก่ผู้ที่ปฏิบัติตนโดยสุจริต การลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิด เป็นต้น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีชองประเทศ และสุดท้ายสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวช้องเข้าร่วมโครงการ Citizen Feedback และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม

มีรายงานว่า ข้อเสนอดังกล่าว ช่วงปี 2561 สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. ได้ทำการศึกษาวางแผนวิเคราะห์ข้อมูลดำเนินงาน เพื่อยกระดับคะแนน CPI ของไทยให้สูงขึ้นทั้งด้านนโยบาย ด้านเศรษฐกิจ ด้านกระบวนการยุติธรรม และด้านการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

“ป.ป.ช.ให้ความสำคัญกับคะแนน CPI มาก ซึ่งมีประเด็นข้อสังเกตว่าการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนน CPI ของสำนักงาน ป.ป.ช.เองมีลักษณะเป็นภาพกว้าง ข้อเสนอแนะจำนวนมาก และหลากหลาย อาจขาดความชัดเจนในแง่ของการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหา หรือประเด็นที่ต้องทำเร่งด่วน รวมถึงการกำหนดบทบาท หน้าที่ และแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานรัฐว่าหน่วยงานใดควรดำเนินการอย่างไร หรือประเด็นที่มีข้อเสนอแนะหน่วยงานใดควรรับเป็นเจ้าภาพดำเนินการ”

ที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงคณะกรรมการนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมและประสานงานการประเมินดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพหลักโดยตรง ข้อเสนอในการจัดหาหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านบุคลากร และงบประมาณ เพื่อกำกับติดตามและผลักดันให้มีการยกระดับค่าคะแนน CPI จึงมีความจำเป็นยิ่ง

ที่สำคัญการยกระดับคะแนน CPI มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐทุกแห่ง มิใช่เพียงแต่หน้าที่ของรัฐบาล ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ดังนั้น เมื่อมีการจัดทำแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐที่ชัดเจนแล้ว ควรกำหนดให้การปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานรัฐด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น