xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชนยื่นแก้ร่าง พ.ร.บ.โรงงานให้คงนิยามเดิม-ต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครือข่ายภาคประชาสังคมต้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ยื่นข้อเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ให้คงนิยมคำว่า “โรงงาน” ไว้ตามเดิม ให้มีกองทุนเยียวยาความเสียหายจากการประกอบการ คงการต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี เพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามเงื่อนไขตามใบอนุญาต เพื่อความปลอดภัย-ป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม

วันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสุริชัย หวันแก้ว ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคมต้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (คสสส.) ได้ยื่นหนังสือถึง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตามข้อเสนอของ คสสส.

สำหรับเนื้อหาของหนังสือ ระบุว่า ตามที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2561 ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นผู้พิจารณากําหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน ระยะเวลาดําเนินการ 45 วัน ต่อมาได้มีเครือข่ายภาคประชาสังคมยื่นหนังสือเรียน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อเสนอความเห็น เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้ ความทราบแล้วนั้นเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (คสสส.) (Civil Society for Health and Environment Network : CSHEN) และคณะ มีความห่วงใยถึงผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะความเสียหายของสิ่งแวดล้อมจากมลพิษอุตสาหกรรม และความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลจากการรวบรัตแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงานฉบับนี้ที่มุ่งเน้นเพียงการส่งเสริมการลงทุน อุตสาหกรรม เช่น การลดขั้นตอนการออกใบอนุญาต ยกเลิกอายุใบอนุญาตประกอบกิจการ และลดการควบคุมตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ เป็นต้น เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (คสสส.) อันประกอบด้วย ตัวแทนประชาชน นักวิชาการ นักกฎหมาย และองค์กรพัฒนาเอกชน จึงใคร่ขอให้ท่านโปรด พิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ทั้งนี้ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีหลักการที่ให้ความสําคัญต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของประชาชนอย่าง ครอบคลุมและครบถ้วนอย่างแท้จริงต่อไป

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... จะมีขึ้นครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 ก.พ. และนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช.ในวันที่ 27 ก.พ.นี้

รายละเอียดข้อเสนอแก้ไข “”ร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ...

เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (คสสส.) (Civil Society for Health and Environment Network, CSHEN) ขอเสนอแก้ไข “ร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ...” มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

1. มาตรา 4 ซึ่งแก้ไขบทนิยามตาม “มาตรา ๕”

เนื้อหาเดิมของร่าง :


มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคําว่า “โรงงาน” และ “ตั้งโรงงาน" ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“โรงงาน” หมายความว่า อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกําลังรวมตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าหรือกําลังเทียบเท่าตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไปโดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม เพื่อประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้ ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กําหนดในกฎกระทรวง

“ตั้งโรงงาน” หมายความว่า การนําเครื่องจักรสําหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งใน อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการ หรือนําคนงานมาประกอบกิจการโรงงานในกรณีที่ ไม่มีการใช้เครื่องจักร


ข้อเสนอคือ

ก) นิยาม “โรงงาน” ไม่ควรมีการแก้ไขนิยามดังกล่าว
เนื่องจากแม้ว่าจะเป็นการอํานวยความสะดวกให้แก่โรงงานหรือผู้ประกอบการ แต่จะส่งผลทําให้โรงงานขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้าหรือ กิจการที่มีคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่ถือเป็น “โรงงาน” อีกต่อไป การที่โรงงานจํานวนมากจะไม่อยู่ภายใต้การกํากับของกฎหมายโรงงานอีกต่อไป แม้ว่าจะเป็นโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษหรือส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของคนในชุมชน รวมถึงการก่อสร้างอาคารโรงงาน สามารถทําได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งส่งผลให้เกิดความหละหลวมในการตรวจสอบความ ปลอดภัย การกําหนดทําเลที่ตั้งโรงงาน และอาจส่งผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดตามมาในภายหลัง โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ของ ประชาชนในท้องถิ่น

เหตุผล เพื่อให้นิยามโรงงานครอบคลุมถึงกิจการที่มีกําลังแรงม้าตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป และมีคนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป ทั้งนี้ตามนิยามเดิมในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

ข) นิยาม “ตั้งโรงงาน” ควรแก้ไขเป็นดังนี้

“ตั้งโรงงาน” หมายความว่า การก่อสร้างอาคารเพื่อติดตั้งเครื่องจักรสําหรับประกอบกิจการ โรงงาน หรือนําเครื่องจักรสําหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคารสถานที่หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการ หรือนำคนงานมาประกอบกิจการโรงงานในกรณีที่ไม่มีการใช้เครื่องจักร

เหตุผล เพื่อให้การขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างอาคารด้วย อันจะทําให้กระบวนการพิจารณามีความชัดเจนและรอบตอบรัตกุมตั้งแต่แรก ไม่แยกส่วน

2. ขอให้เพิ่มการแก้ไขมาตรา 8 โดยเพิ่ม (9) ตาม “ร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ...” ที่เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม

ข้อเสนอคือ

“มาตรา ๘ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการประกอบกิจการโรงงานให้รัฐมนตรีมีอํานาจออกกฎกระทรวงเพื่อให้โรงงานจําพวกใดจําพวกหนึ่งหรือทุกจําพวกตามมาตรา ๗ ต้องปฏิบัติตามในเรื่อง ดังต่อไปนี้
...
“(๙)การกําหนดการจัดให้มีประกันภัย หรือหลักประกัน หรือกองทุนเพื่อการเยี่ยวยาความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน หรือเพื่อการฟื้นฟู หรือเพื่อการทําให้พื้นที่ตั้งโรงงาน หรือบริเวณโดยรอบกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือสภาพที่เหมาะสม”

เหตุผล เพื่อให้มีหลักประกันกรณีเกิดความเสียหายหรือผลกระทบจากการประกอบกิจการ

3. มาตรา 9 ซึ่งเพิ่มความเป็น “มาตรา ๙/๑ มาตรา ๙/๒ มาตรา ๙/๓ มาตรา ๙/๔ มาตรา ๙/๕ และ มาตรา ๙/๖”

ข้อเสนอคือ

ก) ให้ยกเลิกการเพิ่มความในส่วนมาตรา 9/1 ทั้งหมด


เหตุผล เนื่องจากผู้ตรวจสอบที่เป็นบุคคลธรรมดาอาจไม่สามารถรับผิดชอบได้เต็มที่ในกรณีเกิดความผิดพลาดหรือความเสียหาย และรายละเอียดของผู้ตรวจสอบนั้นควรจัดทําเป็นกฎหมายลําดับรอง คือ เป็นระเบียบที่รัฐมนตรีกําหนด การบัญญัติคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจสอบในพระราชบัญญัติจะทําให้การแก้ไขปรับปรุงทําได้ยากมากขึ้น อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ข) แก้ไขความในส่วนมาตรา 9/2 ในข้อ “ก. คุณสมบัติ (๑)” โดยกําหนดทุนจดทะเบียนของผู้ตรวจสอบที่เป็นนิติบุคคลไม่น้อยกว่าจํานวน 5 ล้านบาท

เหตุผล เนื่องจากการลดเงินวางประกันลงเหลือ 1 ล้านบาท อาจทําให้มีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และอาจไม่เพียงพอที่จะรับประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในกรณีที่เกิดความเสียหายจากการดําเนินการของผู้ตรวจสอบ

ค) ตัดความในส่วนมาตรา 9/2 ในข้อ “ก. คุณสมบัติ (๒)” เนื่องจากการกําหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9/1 มาใช้กับคุณสมบัติของหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการ หรือสมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคล สามารถกําหนดเป็นระเบียบของรัฐมนตรี

เหตุผล เนื่องจากการบัญญัติคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจสอบในพระราชบัญญัติ จะทําให้การแก้ไขปรับปรุงทําได้ยากมากขึ้น อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

4. มาตรา 10 ซึ่งให้ยกเลิกความใน “มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕" ออกไป

ข้อเสนอคือ

ให้ตัดมาตรา 10 ออกไป เพื่อให้ยังคง “มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕" ไว้เช่นเดิมตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535


เหตุผล ควรคงบทบัญญัติเรื่องการต่ออายุใบอนุญาตโรงงานในทุกกรณีตามมาตรา 14 และ มาตรา 15 ไว้ ไม่ควรยกเลิกไป เนื่องจากการพิจารณาทบทวนใบอนุญาตทุก 5 ปีจะเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามเงื่อนไขตามใบอนุญาต โดยเฉพาะมาตรการด้านความปลอดภัย การป้องกันมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เช่น การปล่อยฝุ่นขนาดเล็ก

5. มาตรา 11 ในส่วน “มาตรา ๑๘ (๑) (ก) - (ฉ) ซึ่งกําหนดเรื่องการขยายโรงงาน

ข้อเสนอคือ

ให้แก้ไขมาตรา 11 ในส่วน "มาตรา ๑๘ (๑) (ก) - (ฉ) โดยกําหนดให้การเพิ่มกําลังแรงม้า เป็นการเพิ่มขึ้นได้ในเชิงสัดส่วนอัตราร้อยละ (ตามร่างเดิม/ไม่แก้ตาม สนช.)


เหตุผล เนื่องจากการใช้อัตราร้อยละจะทําให้การขยายกําลังการผลิตเป็นไปในลักษณะที่อิงกับฐานกําลังการผลิตเดิมและสอดคล้องกับการได้รับอนุญาตตั้งแต่ต้น ไม่เปิดช่องให้มีการขยายกําลังการผลิตโรงงานได้แบบก้าวกระโดด ซึ่งจะมีผลทําให้ไม่สามารถควบคุมการประกอบกิจการได้อย่างเหมาะสม

6. มาตรา 13 ซึ่งแก้ไขความใน “มาตรา ๑๙”

ข้อเสนอคือ

ให้ตัดมาตรา 13 ขอกไป เพื่อคงความของ “มาตรา ๑๙” เดิมตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เอาไว้


เหตุผล ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 19 เนื่องจากจะมีผลทําให้ผู้รับใบอนุญาตขยายพื้นที่โรงงานได้โดยมีหน้าที่เพียงแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งเท่ากับไม่ต้องขออนุญาตและจะทําให้ไม่มีการกํากับดูแลติตตามมา อีกทั้งหากไม่มีการแจ้งข้อมูลให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ซึ่งถือว่ามีอัตราโทษที่ค่อนข้างต่ำ คืออาจมีการปรับไม่กี่พันบาท โดยมีการเปรียบเทียบคดี แล้วมีผลทําให้คดีอาญาเลิกกัน

7. มาตรา 14 ซึ่งเพิ่มเติม มาตรา ๑๙/๑

ข้อเสนอคือ

ให้ตัดมาตรา 14 ที่เพิ่มเติม “มาตรา ๑๙/๑ ออกไป


เหตุผล ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มเติมมาตรา 19/1 เนื่องจากทําให้ผู้ได้รับอนุญาตเพิ่มประเภทหรือชนิดของการประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

8. มาตรา 15 ซึ่งแก้ไขความใน “มาตรา ๒๑”

ข้อเสนอคือ ให้ตัดมาตรา 15 ที่แก้ไขความใน “มาตรา ๒๑” ออกไป


เหตุผล เนื่องจากเป็นการเปิดช่องให้เกิดการขอรับใบอนุญาตโดยไม่ต้องรับผิดชอบที่จะประกอบกิจการให้ได้จริง

9. มาตรา 17 ซึ่งแก้ไขความใน “มาตรา ๒๘”

ข้อเสนอคือ ให้ตัดมาตรา 17 ที่แก้ไขความใน “มาตรา ๒๘” ออกไป


เหตุผล เนื่องจากเป็นการเปิดช่องให้ไม่มีมาตรการตรวจสอบกรณีการเลิกประกอบกิจการโรงงาน ที่จะป้องกันผลเสียหายจากผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือชุมชน


กำลังโหลดความคิดเห็น