xs
xsm
sm
md
lg

4 พรรคประชันนโยบายสุขภาพ พปชร.ชูนโยบาย “มารดาประชารัฐ” ประสานเสียงปฏิรูป 3 กองทุนสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

4 พรรคประชันนโยบายสุขภาพ “สุวิทย์” รอง หน.พลังประชารัฐ แย้มลดภาษีคนสุขภาพดีมีเฮ ชูนโยบาย “มารดาประชารัฐ” ดูแลตั้งแต่ตั้งท้องถึง 6 ขวบ พร้อมยืนยันคนรายได้น้อยไม่ต้องร่วมจ่ายบัตรทอง พ่วงปฏิรูป 3 กองทุนสุขภาพเพิ่มประสิทธิภาพ “มาร์ค” เน้นบริหารเงินป้อนระบบประกันสุขภาพให้เพียงพอครบถ้วน “ธนาธร” เชื่องบประมาณหลักประกันสุขภาพเอาอยู่ ปชช.ไม่ต้องจ่ายร่วม “หญิงหน่อย” ผุดไอเดีย “เฮลท์ฟอร์ออล-ออลฟอร์เฮลท์” ลั่นต้องทั่วถึง-ทัดเทียม

วันนี้ (11 ก.พ.) ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน มีการจัดเสวนาเรื่อง “ผ่าแนวคิดพรรคการเมือง อนาคตสุขภาพไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจาก 4 พรรคการเมือง ประกอบด้วย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวตอนหนึ่งว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจนทุกคนได้รับสิทธิ ซึ่งโดยระบบเป็นการร่วมจ่ายก่อนป่วย กล่าวคือ คนมีรายได้น้อยร่วมจ่ายผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ตัวเองใช้จ่าย ส่วนคนรวยมีภาษีหลายทางทั้งภาษีทางตรงและทางอ้อม โดยพรรคพลังประชารัฐมีแนวทางเพิ่มคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยต้องทำให้ครอบคลุมทั่วถึง เพิ่มคุณภาพของหน่วยบริการ และได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐไม่เห็นด้วยที่จะให้ประชาชนร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่ผู้ให้บริการคือโรงพยาบาลควรนำระบบการจัดซื้อยาร่วมกันมาใช้เพื่อช่วยลดต้นทุน

นายสุวิทย์ ยังได้นำเสนอแนวนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพ คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ด้วยการ 1. กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับ 2. กำหนดสิทธิที่แต่ละกองทุนให้กับสมาชิก และ 3. กำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่ผู้ป่วยมีสิทธิร่วมจ่ายได้ เช่น ระบบประกัน นอกจากนี้ ต้องมีระบบการออม การออกกำลังกาย รวมไปถึงนโยบายมารดาประชารัฐที่จะมาดูแลสตรีมีครรภ์ผ่านบัตรประชารัฐ แนวทางเหล่านี้จะลดความเหลื่อมล้ำลงไปเรื่อยๆ โดยรัฐบาลจะนำเงินภาษีมาบริหารจัดการให้มากขึ้น อาจต้องพิจารณาปลดล็อกข้อจำกัดให้ทุกบัตรสามารถใช้ทุกโรงพยาบาลได้หรือไม่

“การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญในศตวรรษที่ 21 พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายการเตรียมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ผ่าน 3 หลักประกัน คือ หลักประกันสังคมถ้วนหน้า หลักประกันการศึกษาถ้วนหน้า และหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า เพื่อทำให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทุกคนต้องได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ต้องให้ อสม.เข้ามาดูแล สร้างหมอครอบครัวให้ครบทุกตำบลเพื่อมาเป็นหมอประจำตัว ถ้าสุขภาพดีสามารถลดหย่อนภาษีได้ สุขภาพดีต้องเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา และเมื่อคลอดมาแล้วจนถึงอายุ 6 ปี เป็นจุดสำคัญที่พรรคจะให้การดูแลอย่างเต็มที่ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยด้วย” นายสุวิทย์ ระบุ

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โจทย์ของพรรคประชาธิปัตย์คือจะทำอย่างไรให้ระบบประกันสุขภาพได้รับงบประมาณเพียงพอ 1. ต้องปรับระบบงบประมาณให้มีหลักประกันว่าจะได้รับงบเพียงพอครบถ้วน 2. ค่าใช้จ่ายโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคหัวใจ ต้องมีการระดมเงินเพิ่มเติม 3. ต้องมีการปรับระบบภาษีให้คนมีกำลังจ่าย จ่ายภาษีมากขึ้นเพื่อมาดูแลคนมีรายได้น้อย พรรคจะให้ อสม. และองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามาดูแลประชาชนในพื้นที่มากขึ้น สร้างห้องยาชุมชน การจ่ายยา การส่งผลตรวจ การรวมระบบข้อมูลด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีมาใช้แอพพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวก ถ้าจะให้ประชาชนจ่าย ต้องดูว่าใครสร้างภาระ

ส่วน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยกินได้ เพราะทุกคนได้รับสิทธิอย่างถ้วนหน้า พรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่า งบประมาณของรัฐมีมากเพียงพอที่จะดูแลค่าใช้จ่ายบัตรทองได้ ไม่ต้องมีการร่วมจ่าย และแนวทางการรวม 3 กองทุนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมากขึ้น ทั้งในแง่งบประมาณ คุณภาพการบริการ ตลอดทั้งให้ท้องถิ่นมาบริหารจัดการ การเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ

ขณะที่ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลักคิดที่พรรคเพื่อไทยเสนอ คือ เฮลท์ฟอร์ออลและออลฟอร์เฮลท์ ทั่วถึงและทัดเทียม ต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานการให้บริการ เช่น สิทธิการตรวจสุขภาพ ต้องเพิ่มงบประมาณและจัดสรรให้เพียงพอ ต้องมุ่งเน้นสู่การสร้างสุขภาพและป้องกัน ใครดูแลสุขภาพดีต้องได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ระบบภาษี การได้รับบริการจากรัฐ จะนำเทคโนโลยีมาจัดระบบให้ง่ายขึ้นและถูกลง ต้องให้ประชาชนเลือกโรงพยาบาลได้


กำลังโหลดความคิดเห็น