หัวหน้า ปชป.ร่วมเสวนานโยบายด้านสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดี ชี้ต้องครอบคลุมทุกกระทรวง คนแก้ได้จริงต้องเป็นนายกฯ เท่านั้น ระบุรัฐไม่มีหน้าที่เอาทรัพยากรส่งเสริม “เมดิคัลฮับ” พร้อมชู 6 นโยบายแก้ปัญหา
วันนี้ (11 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเวทีเสวนา นโยบายด้านสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดีจากมุมมองพรรคการเมือง จัดโดยสมาพันธ์เครือข่าย NCDs ประเทศไทย ว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต และใช้ทรัพยากรอย่างมากในการดูแลรักษา แต่ที่สำคัญกว่าคือเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม และไม่ได้มีแง่มุมของสาธารณสุขอย่างเดียว ฉะนั้นนโยบายที่จะมาแก้ไขหรือจัดการกับปัญหานี้ต้องครอบคลุมทุกกระทรวง คนจะแก้ได้จริงต้องเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ทีมงานนโยบาย หรือทีมงานที่จะอยู่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิด ปรัชญาและแนวทางการทำงานด้านสาธารณสุขที่จะแก้ปัญหานี้ซึ่งกระบวนการของการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะที่ไม่ได้เจาะจงว่าจะมีแต่เพียงนโยบายสาธารณสุขอย่างเดียว พรรคสนับสนุนกระบวนการสร้างนโยบายที่ทำให้ประเด็นสาธารณสุข สามารถแทรกเข้าไปอยู่ในการรับรู้ และการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ เริ่มต้นตั้งแต่สนับสนุนงานทางด้านวิจัย หน่วยงาน สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) มาเป็น สปรส. (สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ) โดยมีองค์กรสำคัญ 2 องค์กรที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งขึ้นมาคือ สช. (สมัชชาสุขภาพ) เพื่อให้เป็นเวทีสำหรับภาคประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านใดก็ตาม ตั้งแต่อุตสาหกรรม คมนาคม หรือกระทรวงพาณิชย์ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำเงินสนับสนุน ภาคประชาชนเข้ามารณรงค์เกี่ยวกับพฤติกรรม โดยมีรายได้ที่แน่นอน หักภาษีจากเหล้า จากบุหรี่ ทั้งหมดเป็นหน่วยงานที่ตรงกับการแก้ปัญหา NCDs
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยืนยันได้ว่าตั้งแต่มีนายกรัฐมนตรีมา และมีหน่วยงานเหล่านี้ มีแต่ตนที่เป็นนายกฯ แล้ว มาเป็นประธานองค์กรจริง ไม่ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีดูแล และมีการตัดสินใจในรัฐบาลตนอย่างน้อยๆ 2 เรื่องที่แสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการนโยบายสาธารณะที่จะมาแก้ปัญหานี้ มีหลายพรรคการเมืองพูดถึงนโยบายการสนับสนุนเมดิคัลฮับ (Medical Hub) หรือ “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” ขณะที่สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ เขียนชัดด้วยหลักการที่ถูกต้องว่า นโยบายของรัฐที่เอาทรัพยากรของรัฐไปอุดหนุนให้เกิดการเติบโตบริการสาธารณสุขในเชิงพาณิชย์เป็นสิ่งไม่ควรกระทำ แต่หากเมดิคัลฮับจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะความได้เปรียบของประเทศของบุคลากรก็ไม่ว่ากัน แต่รัฐไม่มีหน้าที่ไปส่งเสริม เพราะนั่นคือตัวดูดทรัพยากรออกจากการสาธารณสุขภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องบุคลากร หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพยากรอื่นๆ
“ยกตัวอย่างสมัยที่ผมเป็นรัฐบาลเมื่อ BOI มีมติส่งเสริมเมดิคัลฮับ ผมได้บอกว่าเรื่องนี้ขัดกับธรรมนูญสุขภาพ ไม่ควรให้มติ BOI มีผล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นการต่อต้านธุรกิจ ใครอยากจะทำก็ทำไป แต่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะต้องไปส่งเสริมในเรื่องนี้เพราะนี่คือประเด็นที่ต้องตัดสินใจในเชิงทรัพยากร หรือกรณีที่มาบตาพุดก็เกิดกระบวนการที่นำเอาภาคประชาชนมาร่วมแก้ไขปัญหามลพิษโดยต้องมีการระงับโครงการการลงทุนไป 67 โครงการ เมื่อเทียบกับ EEC ในสมัยรัฐบาลปัจจุบันที่อนุมัติไปพร้อมยกเว้นกฎระเบียบหลายเรื่อง เช่นผังเมือง สิ่งแวดล้อม เพราะหวังเรื่องการลงทุน ผมจึงบอกว่าปัญหาแบบนี้เราแก้ไม่ได้ ถ้าผู้นำรัฐบาลไม่มีความชัดเจนว่าจะลำดับความสำคัญในการจัดการปัญหาอย่างไร ความยากในนโยบายสาธารณะอยู่ตรงนี้ การมาแข่งกันพูดเรื่องดีๆ ไม่ยาก ทุกคนก็พูดว่าจะทำทุกสิ่งที่เป็นสิ่งดีๆ แต่การตัดสินใจว่าต้องเลือกอะไร นั่นคือเหตุผลสำคัญ”
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับพรรคประชาธิปัตย์เรามีความพร้อมและแนวทางการบริหารประเทศที่ให้ความมั่นใจว่าจะถือปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญ และต้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญใน 6 ประเด็น เช่น เรื่องการพัฒนาเด็กเล็ก เรื่องสังคมผู้สูงอายุ เรื่องระบบการเข้าถึงกรณีฉุกเฉิน เรื่องการขนส่งสาธารณะ เรื่องฝุ่น เรื่องสินค้าสุขภาพ กับการจัดพื้นที่เพื่อสนับสนุนให้เป็น Healthy Zone อันนี้โดยกระบวนการที่เราส่งเสริมมาจากสมัชชาสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ลงไปในระดับพื้นที่อยู่แล้ว การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เพื่อให้มีการตัดสินใจได้เพิ่มขึ้น และนโยบายที่กำหนดให้ส่วนราชการให้ความร่วมมือ ยกตัวอย่างเช่น การที่จะซื้อสินค้าสุขภาพ ได้เริ่มต้นจากหน่วยงานราชการ อันนี้เราพร้อมที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการต่างๆ