xs
xsm
sm
md
lg

ก.ก.ถ.โยน สธ.จัดงบเพิ่มค่าป่วยการ อสม. วละ 1 พัน งวดต่อๆ ไป ปีละ 1.2 หมื่น ล.เอง หวั่นกระทบสัดส่วนรายได้ท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ก.ก.ถ. โยน สธ. จัดการงบค่าป่วยการ อสม. หัวละ 1 พันบาท งวดต่อๆ ไปปีละ 1.2 หมื่นล้านบาทเอง หวั่นกระทบสัดส่วนรายได้ท้องถิ่น แม้ระเบียบเงินอุดหนุน ให้ “อบจ.” ทำหน้าที่ธุรการเบิกจ่ายเงิน สสจ. ให้ อสม. โดยตรง ยันเพิ่มค่าป่วยการ อสม. คิดเป็นสัดส่วนรายได้ของ อปท. กับรายได้สุทธิของรัฐบาล ไม่ควรจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. ยันให้ สธ. เสนอคำรับขอรับการสนับสนุนงบต่อ สงป. โดยตรง เผยข้อเสนอให้ตัดลดค่าอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ของ สธ. แทน

วันนี้ (10 ก.พ.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.ก.ถ. รับทราบความเห็นของ อนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ก.ก.ถ. ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 4 ธ.ค. 61 จากอัตราเดือนละ 600 บาท/คน เป็นอัตราเดือนละ 1,000 บาท/คน ตามภาระงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธาณสุขเสนอให้ปรับเริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561 เป็นต้นไปนั้น

อนุฯ ก.ก.ถ. เห็นว่า ค่าป่วยการ อสม. ที่ได้กำหนดให้เป็นรายการเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ข้อเท็จจริง อปท. โดย องค์การบริการสว่นจังหวัด (อบจ.) จะทำหน้าที่ธุรการในการเบิกจ่ายเงินรายการดังกล่าวให้กับสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อเบิกจ่ายให้กับ อสม. โดยตรงนั้น

“จากมติ ครม. ดังกล่าว ทำให้ค่าป่วยการของ อสม. เพิ่มมากขึ้น ซึ่งค่าป่วยการดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนรายได้ของ อปท. กับรายได้สุทธิของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนรายได้ของ อปท. จึงเห็นว่า ไม่ควรจัดสรรเงินอุดหนุนรายการดังกล่าวให้แก่ อปท. โดยควรให้กระทรวงสาธารณสุข เสนอคำรับขอรับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวต่อสำนักงบประมาณโดยตรง”

ก่อนหน้านั้น สำนักงบประมาณ ได้เห็นชอบให้ปรับเพิ่มขึ้นอีก 400 บาท/คน แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายและภาระงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น ร่วมกับทีมหมอครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมรับรองประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society)

สำนักงบฯ ได้อนุมัติวงเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มค่าป่วยการ อสม. จำนวน 1,054,729 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นที่กระทรวงการคลังกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีถึงวันที่ทำการสุดท้ายของเดือน มี.ค. 2562 ภายในวงเงิน ทั้งสิ้น 4,218,916,000 บาท (อสม. จำนวน 1,054,729 คนๆ ละ 400 บาท เป็นระยะเวลา 10 เดือน)

“สำนักงบประมาณ เห็นว่า การเพิ่มค่าป่วยการ อสม. ดังกล่าว มีผลทำให้ภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุขควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินภาระงานและผลการปฏิบัติงานที่เพิ่มขึ้นจากเดิมให้ชุดเจน รวมถึงความไม่ซ้ำซ้อนของค่าใช้จ่ายที่จะได้รับจาก “โครงข่ายเน็ตประชารัฐ” เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขึบเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการเพิ่มค่าป่วยการในครั้งนี้”

ขณะเดียวกัน ต้องประสานกับ กทม. และกรมส่งเสริมการปกคองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอน

มีรายงานว่า สำหรับแผนจัดการสนับสนุน อสม. ที่เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561-กันยายน 2562 ระยะ 10 เดือน จำนวน 1,039,729 คน เป็น อสม. ประจำหมู่บ้าน 1,039,729 คน ใช้งบกว่า 4 พันล้านบาท และ อสม. กทม. 15,000 คน ใช้งบกว่า 60 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในการตั้งงบประมาณตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป กทม. และกรมส่งเสริมการปกคองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จะต้องตั้งคำของบประมาณเดือนละ 1,000 บาท/คน จาก อสม. 1,054,729 คน วงเงินทั้งหมด 12,656,748,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น