xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตสับสน! ไม่กล้าแตะ ทษช.ขัดจุดยืนนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อนาคตใหม่” แถลงจุดยืน หลัง พปชร.-ทษช. เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จี้ “บิ๊กตู่” ลาออก อ้างยังเป็นรัฐบาล มีอำนาจเต็ม-เป็นคนแต่งตั้ง ส.ว. เอง เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน ย้ำ พร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากได้เสียงมากพอ แต่ไม่ร่วมรัฐบาลแห่งชาติ เลี่ยงตอบ ทษช. ไม่เสนอรายชื่อนายกฯ ที่มาจาก ส.ส. ขัดแย้งจุดยืนหรือไม่

วันนี้ (8 ก.พ.) เมื่อเวลาประมาณ 17.45 น. ที่ พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ได้แถลงจุดยืนของพรรค เรื่อง การเสนอรายชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ และ พรรคไทยรักษาชาติ โดย นายปิยบุตร เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ความว่า จากกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ มีมติเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พรรคไทยรักษาชาติ มีมติเสนอ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่ มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

1. พรรคอนาคตใหม่ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้วยเหตุผล 2 ประการ

- ประการแรก การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะจัดการเลือกตั้งทั่วไปนั้น ไม่สามารถเทียบได้กับบรรทัดฐานสากล เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ยังคงอนุญาตให้รัฐบาลมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการที่มีอำนาจจำกัด และหัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจเผด็จการตามมาตรา 44 อีกด้วย

- ประการที่สอง หัวหน้า คสช. มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการลงคะแนนให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น การดำรงตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้า คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกับเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน และส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถดำเนินไปได้โดยเสรีและเป็นธรรม

2. ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่ยืนยันเสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคอนาคตใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคอนาคตใหม่ยังยืนยันข้อเสนอในทางการเมือง 3 ข้อ ได้แก่

(1) หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.
(2) แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ และ
(3) ลบล้างผลพวงรัฐประหาร

พรรคอนาคตใหม่ เชื่อว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและการบรรลุข้อเสนอทั้ง 3 ข้อเสนอนั้น จะเป็นไปได้ก็ด้วยแนวทางที่มั่นคงในหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องถูกรวมเข้าไปในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ผลประโยชน์ของประชาชนจะต้องไม่ถูกลืม และสิทธิและเสรีภาพของประชาชนต้องได้รับการค้ำประกัน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าการตกลงรอมชอมกันเองระหว่างชนชั้นนำไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้เลย

3. ผลพวงของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ประการหนึ่ง คือ การปูทางไปสู่การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปิดช่องทางให้พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรีได้ พรรคอนาคตใหม่เห็นว่าพรรคการเมืองที่ยืนหยัดต่อหลักการประชาธิปไตย จะต้องยึดถือหลักการ “นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.” หลักการนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. คือ มรดกของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นผลพวงของการต่อสู้ของประชาชนผู้รักชาติและประชาธิปไตยต่อระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบตามรัฐธรรมนูญ 2521 และ 2534 ที่ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องประดับ และหลังเลือกตั้งกลับเชิญคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ประกอบไปด้วยนายทหาร และข้าราชการประจำ

เราต้องแลกเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนจำนวนมาก กว่าประเทศไทยจะสถาปนาหลักการ “นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.“ ลงไปในรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนจะถูกฉีกโดยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

4. พรรคอนาคตใหม่เรียกร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องดำเนินไปอย่างเสรี เป็นธรรม และแข่งขันกันอย่างเสมอภาค เท่าเทียม บุคคล สื่อมวลชน ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองทุกพรรค ต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเผชิญกับอุปสรรคขัดขวางในทางกฎหมาย และในทางประเพณีค่านิยม เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นกระบวนการสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

5. พรรคอนาคตใหม่มีความพร้อมกับการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทั้งในด้านบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี บุคคลที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรี ผู้สมัคร ส.ส. ตลอดจนนโยบายของพรรค ที่มุ่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างทั้งระบบ เรายืนยันว่า หากพรรคอนาคตใหม่ได้เสียงข้างมากเพียงพอ พรรคอนาคตใหม่พร้อมเป็นรัฐบาล และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่หากเกิดกรณีแต่งตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่รวบรวมทุกพรรคการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน พรรคอนาคตใหม่ก็พร้อมเป็นฝ่ายค้าน ไม่ใช่เพียงเพราะว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 106 บังคับให้ต้องมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาจำเป็นต้องมีฝ่ายค้านที่คอยตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลด้วย

สุดท้าย พรรคอนาคตใหม่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปได้ เราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องเลือกอยู่ระหว่างการเมืองแบบเผด็จการทหาร กับการเมืองแบบเก่า แต่การเมืองแบบใหม่ เป็นไปได้ การเมืองที่เป็นของคนทุกๆ คน ไม่ใช่การตกลงเจรจาโดยผู้มีอำนาจไม่กี่คน เป็นไปได้ การเมืองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เป็นไปได้
พรรคอนาคตใหม่
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในคำแถลงของพรรคอนาคตใหม่มุ่งดจมตีไปที่การสืบทอดอำนาจของ คสช.โดยไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์กรณีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติแต่อย่างใด แม้ในช่วงตอบคำถาม ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติ เสนอรายชื่อทูลกระหม่อมหญิงเป็นแคนดิเดตนายกฯ จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ ซึ่งนายปิยะบุตรได้ตอบว่า ทูลกระหม่อมหญิงได้เขียนในอินสตาแกรมว่าไม่นิยมชมชอบการใช้อภิสิทธิ์ เพราะฉะนั้นจึงเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปอย่างเสรี

ผู้สื่อข่าวได้ถามเพิ่มเติมว่า จุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ คือ นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. หากจะต้องร่วมมือกับพรรคไทยรักษาชาติจะขัดแย้งกับจุดยืนของพรรคหรือไม่ นายปิยะบุตรได้่ตอบเลี่ยงไปว่า ปัญหานี้จะไม่เกิด ถ้าเลือกพรรคอนาคตใหม่เข้ามาให้มากที่สุดและให้นายธนาธรเป็นนายกฯ

ขณะที่ นายธนาธร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติเมื่อเช้าที่ผ่านมา ถือเป็นการเซตซีโร่การเมืองไทยครั้งใหม่ เนื่องจากคำอธิบายเรื่องสีเสื้อกลุ่มต่างๆ นั้น ใช้ไม่ได้อีกต่อไป หลังจากนี้ จึงเป็นโอกาสของประชาชนที่จะเลือกแนวทางของตัวเองใหม่ ทั้งนี้ พรรคอยนาคตใหม่ยังคงยึดมั่นในจุดยืน 3 ข้อ และพร้อมร่วมมือกับทุกพรรคที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่ยืนยันว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการเจรจาต่อรองกับพรรคใดทั้งสิ้น

รายละเอียดการตอบคำถาม
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนภายหลังจากที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อ่านแถลงการณ์เรื่องจุดยืนของพรรคฯ แล้ว

ถาม- ถ้าในกรณีเสียงทั้งสองฝั่งสูสีกัน อนาคตใหม่ต้องเลือกระหว่างร่วมกับ ทษช. หรือยอมให้ฝั่ง พปชร.ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จัดตั้งรัฐบาล อนาคตใหม่จะร่วมสนับสนุน ทษช. และผู้สมัครของ ทษช. ซึ่งคือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ หรือไม่ คำถามที่สอง ขณะปัจจุบันนี้ต้องการเห็นการแข่งขันที่เป็นธรรม เสมอภาค วันนี้หลังจากทูลกระหม่อมหญิงฯ รับเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ ทษช. ในความเห็นของอนาคตใหม่ถือว่าเกิดความไม่เสมอภาคในการแข่งขันหรือไม่ คำถามสุดท้าย กลับไปที่ ปชป. อนาคตใหม่พร้อมจะร่วมรัฐบาลกับ ปชป.หรือไม่

ปิยบุตร- ข้อแรก อนาคตใหม่ยืนยันในหลักการ 3 ข้อใหญ่ๆ คือ ยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. สอง คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และสาม คือการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งทั้งสามข้อนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจว่าจะร่วมงาน ร่วมตั้งรัฐบาลกับใครหรือไม่

ถาม- แปลว่าไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ใช่ไหม เพราะสุดท้ายถ้าเสียงของอนาคตใหม่เป็นสวิงโหวตที่จะชี้ขาดว่าฝั่ง คสช.จะสามารถตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ และอีกทางเลือกก็คือเข้าไปร่วมกับ ทษช. เพื่อที่จะไม่ให้ฝั่ง คสช.ตั้งรัฐบาลได้ อนาคตใหม่พร้อมที่จะไปร่วมกับ ทษช.ใช่ไหม

ปิยบุตร- เรายืนยันว่าจะยืนหยัดในสามข้อนี้ และอนาคตใหม่เสนอคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี ผลการเลือกตั้งยังไม่มีใครทราบ เรามั่นใจว่าเราจะได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยจุดยืนแบบมั่นคงทางประชาธิปไตยแบบนี้ // ส่วนคำถามข้อที่สอง เรายืนยันว่าการแข่งขัน ที่จริงเขียนไว้ในแถลงการณ์เรียบร้อยแล้ว การแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องมีความเป็นเสรีและเป็นธรรม มีการแข่งขันอย่างเสมอภาค เท่าเทียม บุคคลใดก็ตามที่เสนอตัวเข้ามาสู่แวดวงการเมืองแล้ว ก็จะต้องถูกอภิปราย โต้แย้งถกเถียง นั่นเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ท่านเขียนในอินสตาแกรมว่าท่านไม่นิยมชมชอบกับเรื่องระบบอภิสิทธิ์ ก็แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีโอกาสที่จะแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทุกคนจำเป็นต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกอภิปราย ถูกโต้แย้งทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะว่าเข้าสู่การแข่งขันแบบประชาธิปไตยแล้ว

ถาม- ชัดเจนแล้วว่าทูลกระหม่อมหญิงฯ ไม่ได้เป็น ส.ส. แล้วที่พรรคอนาคตใหม่แถลงชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.จะมาเป็นนายกฯ แสดงว่าอนาคตใหม่จะไม่มีวันร่วมมือกับ ทษช.หรือไม่ในเมื่อแคนดิเดตของ ทษช.คือผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.

ธนาธร- ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ 60 จะยอมรับ

ปิยบุตร- คืออธิบายไปหมดเรียบร้อยแล้วว่าเรายืนหยัดใน 3 จุดยืน ว่า หนึ่ง เราสนับสนุนคุณธนาธร เป็นนายกรัฐมนตรี สอง เรายืนหยัดอยู่ตรงที่ว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และจุดยืนทางการเมืองของพรรคคือเราจะเข้าไปหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ คสช. เราจะเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ 60 ทั้งฉบับ และเราจะเข้าไปลบล้างผลพวงรัฐประหาร

ถาม- ถ้าหลักการข้อสอง กับข้อสาม มันขัดแย้งกัน อนาคตใหม่จะให้น้ำหนักทางไหนระหว่างไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอก กับหยุดยั้ง คสช.

ปิยบุตร- ผมคิดว่าคำถามนี้ง่ายนิดเดียว เลือกพรรคอนาคตใหม่ให้เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี หลักการที่ผมพูดมาจะทำได้หมด

ธนาธร- Anyone who has pass the qualifications has his/her (***) to apply himself/herself as a prime minister candidate, so there's no problem about that.

ถาม- เผื่อใจไหมหลังจากที่ทราบแคนดิเดตของ ทษช. และเป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศไม่คาดคิดมาก่อน

ธนาธร- ผมก็ต้องบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเช้าวันนี้คือการเซ็ตซีโร่ สีเสื้อทางการเมืองที่ผ่านมาไม่สามารถใช้อธิบายความขัดแย้งในสังคมได้อีกต่อไป นี่คือการเซ็ตซีโร่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกข้างทางการเมืองใหม่ และการเลือกข้างทางการเมืองครั้งนี้แตกต่างจากการเลือกข้างทางการเมืองครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา เพราะการเลือกข้างทางการเมืองครั้งนี้มีพรรคอนาคตใหม่

ถาม- เมื่อกี้ลืมตอบเรื่อง ปชป. ว่ามีปัญหาไหมที่ถ้าจะร่วม

ธนาธร- จริงๆ ก็อย่างที่อาจารย์ปิยบุตรได้เรียนไปแล้วหลายครั้ง ตัดชื่อพรรคออกไป ตัดชื่อคนออกไป เอาจุดยืนทางการเมืองเป็นตัวตั้ง ซึ่งก็คือจุดยืนทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. แก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้งฉบับ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร นี่คือจุดยืนที่เราต้องการจะผลักดัน ถ้าพรรคไหนเอาด้วย เราร่วมงานด้วยได้

ปิยบุตร- เท่าที่เห็นจากข่าวสาร มีผู้สมัคร ส.ส. สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาชัดเจนว่าพร้อมจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ถ้าแบบนี้ก็ชัดเจน ถ้าไปร่วมกับเขามันก็ชัดเจนว่าไม่ตรงกับแนวทางที่เราตั้งไว้ ผมคิดว่าอย่ามากังวลเลยว่าพรรคอนาคตใหม่จะร่วมงานกับ ปชป.หรือไม่ แต่ไปคิดดีกว่าว่า ปชป.จะร่วมงานกับ พปชร. หรือไม่










กำลังโหลดความคิดเห็น