xs
xsm
sm
md
lg

สปน.ฝ่ายเลขาฯ บอร์ดแก้ปัญหาสารเคมี แจง 3 ประเด็น ความโปร่งใส ปม"หมอธีระวัฒน์" ไขก๊อก ประท้วงรัฐอุ้มนายทุน “ไบโอไทย” จับตา 14 ก.พ.บทสรุป “พาราควอต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สปน.แจง 3 ประเด็น ขอเคลียร์ปม “หมอธีระวัฒน์” ไขก๊อก ประท้วงรัฐอุ้มนายทุน ย้ำความโปร่งใส บอร์ดแก้ไขปัญหาสารเคมีฯ หลัง “บิ๊กตู่” แต่งตั้ง อ้าง รบ.รับข้อมูลวิชาการเชิงลึกจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นภาษาต่างประเทศ ก่อนตั้งอนุฯ รวบรวมข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ เผย กก.บางส่วนไม่เห็นด้วย ไม่ส่งรายชื่อเข้าร่วม ไม่สามารถแต่งตั้งได้ ก่อนสรุปให้กรรมการทุกภาคส่วนจัดส่งข้อมูลวิชาการรวบรวมนำเสนอที่ประชุมใหญ่ พร้อมตั้ง วช.เป็นตัวกลางทางวิชาการสรุปข้อมูลขั้นสุดท้าย เผยมติบอร์ด 6 ก.พ. 62 ให้จัดประชุมสรุปเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ-ภาคการเกษตร ก่อนเคาะ ด้าน “ไบโอไทย” เผย 14 ก.พ.จับตาวันแห่งความรัก ดูท่าทีรัฐจะทำอย่างไรต่อ

วันนี้ (7 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ภายหลัง รศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กธีระวัฒน์ เหมะจุฑา thiravat hemachudha ระบุว่า ขอลาออกจากการเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมกับส่งสำเนาถึงนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง

ขณะที่ เพจ BIOTHAI หรือมูลนิธิชีววิถี โพสต์ข้อมูลว่า เคาะแล้ว 14 กุมภาพันธ์ 2562 จับตาว่าคนไทยจะได้รับ “พาราควอต” สารพิษเฉียบพลันสูง แค่จิบเดียวก็ตายได้ ไม่มียาถอนพิษ ก่อโรคพาร์กินสัน ที่มากกว่า 50 ประเทศยกเลิกการใช้แล้ว เป็นของขวัญจากรัฐบาลในวันแห่งความรักหรือไม่

ไบโอไทยเตรียมเปิดเผยรายชื่อของบุคคล ผู้บริหารหน่วยงาน และรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ที่ลงมติให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงนี้ต่อ และเพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน สวนทางข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข สภาวิจัยแห่งชาติ สภาเกษตรกรแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข คณะกรรมการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายนักวิชาการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และองค์กรภาคประชาสังคม 700 องค์กร

เมื่อหน่วยงานของรัฐและรัฐบาลเพิกเฉยไม่ทำหน้าที่ปกป้องประชาชน การเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ และความจริงอย่างกว้างขวางคือพลังอำนาจของประชาชนในการต่อสู้กับอิทธิพลของบริษัทค้าสารพิษ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้

ล่าสุด สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการชุดนี้ได้ออกหนังสือและให้ข้อมูลผ่าน เพจสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงสาระสำคัญกรณี นพ.ธีระวัฒน์ แจ้งขอลาออกจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) เนื่องจากถูกกดดันจากเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ตัวแทนนักวิชาการได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ทั้งที่เป็นรายงานสรุปรายงานวิจัยในประเทศ และงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิจัยต่างประเทศ ในที่ประชุมเป็นจำนวนมาก แต่มิได้มีการพิจารณาบรรจุวาระ หรือดำเนินการเพื่อหาข้อสรุปตามกระบวนการทางวิชาการ หรือดำเนินการเพื่อหาข้อมูลสรุปตามกระบวนการทางวิชาการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลาตามคำสั่งแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีแต่ประการใด

คำชี้แจง

๑. นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๗๘/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) เป็นประธานกรรมการ โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เกษตรกร และมีผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการรวบรวม วิเคราะห์และสรุปข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทั้ง ๓ สาร ในทางการเกษตรในประเทศไทย

๒. ในการประชุมคณะกรรมการฯ ทุกครั้ง ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้มีการนำเสนอข้อมูล และรับฟังความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของกรรมการทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ในส่วนของการสรุปข้อมูลตามกระบวนการทางวิชาการ ในคราวการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นว่า ข้อมูลทางวิชาการและเอกสารงานวิจัยที่ได้รับจากกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความหลากหลายและมีรายละเอียดจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเชิงลึกเฉพาะด้าน โดยงานวิจัยบางฉบับมีที่มาและเป็นภาษาต่างประเทศ จึงได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อรวบรวม วิเคราะห์และสรุปข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทั้ง ๓ สาร ในทางการเกษตรในประเทศไทย โดยเห็นควรให้มีองค์ประกอบคือ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ผู้แทนส่วนราชการ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และเกษตรกร แต่เนื่องจากมีกรรมการบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะอนุกรรมการฯ จึงไม่ส่งรายชื่อเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบ ส่งผลให้ไม่สามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ได้

๓. ต่อมาคณะกรรมการฯ จึงได้มีมติในคราวการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๑ ให้กรรมการทุกภาคส่วนจัดส่งข้อมูลทางวิชาการ (โดยระบุที่มาและวิธีการได้มาของข้อมูลทางวิชาการ) ให้ฝ่ายเลขานุการ เพื่อรวบรวมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการฯ ร่วมกันวิเคราะห์ และสรุปข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ และได้ขอความอนุเคราะห์ให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิชาการ สรุปข้อมูลที่ได้รับจากกรรมการทุกภาคส่วน และเอกสารงานวิจัยทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยประธานได้ขอให้คณะกรรมการพิจารณาเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติดังกล่าว ก่อนเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป

ประเด็นที่ 2 ในทางตรงกันข้าม คณะกรรมการฯ กลับมีหนังสือเชิญประชุม โดยอ้างข้อเรียกร้องของ “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” ที่คัดค้านมติและคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินและข้อเสนอของสภาวิจัยแห่งชาติ (ว.ช.) ที่เสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง บรรจุในวาระการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ นี้ ทั้งๆ ที่องค์กรที่ยื่นขอคัดค้านนั้นเป็นองค์กรของสมาคมผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มิใช่ตัวแทนของเกษตรกรแต่ประการใด การประชุมที่จะเกิดขึ้นโดยบรรจุวาระนี้ แสดงเจตนาว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการเป็นไปเพื่อสร้างแรงกดดัน ไม่ให้มีการทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะมีการจัดประชุมในเร็วๆ นี้ มิใช่การดำเนินการอย่างโปร่งใสเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้รับมอบหมายแต่ประการใด

คำชี้แจง

การประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ ในวันนี้ (๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) คณะกรรมการได้กำหนดวาระการประชุมเพื่อทราบข้อมูลและข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและองค์กรเกษตรกร (ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง และสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย) เกี่ยวกับผลการวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กับสรุปข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติเมื่อคณะกรรมการฯ ได้รับข้อมูลใหม่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ โดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น แต่ได้กำหนดให้มีวาระเพื่อพิจารณาหารือข้อสรุปของคณะกรรมการฯ เพื่อเสนอข้อมูลทางวิชาการต่อผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการทั้ง ๓ สาร ในทางการเกษตรในประเทศไทยต่อไป

ประเด็นที่ 3 จากการตรวจสอบพบหลักฐานว่า กรรมการ จำนวน ๔ คน ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนที่มีการผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งโครงสร้างของคณะกรรมการเช่นนี้ไม่อาจทำให้การดำเนินงานและการประชุมสามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการใช้ความรู้ทางวิชาการเพื่อจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้

คำชี้แจง

จากการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้รับฟังและเปิดโอกาสให้กรรมการทุกภาคส่วน ได้เสนอข้อมูลข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณา เพื่อเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ ในวันนี้ (๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) คณะกรรมการฯ ได้มีมติที่สำคัญดังนี้

๑. ให้ส่งข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และข้อมูลทางวิชาการจากแหล่งอื่นๆ รวมทั้งความคิดเห็นของคณะกรรมการทุกภาคส่วนเป็นรายบุคคลเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ความคิดเห็นของกรรมการทุกภาคส่วนเป็นรายบุคคลให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายพิจารณาต่อไป

๒. ให้มีการจัดประชุมเฉพาะกลุ่มนักวิชาการเพื่อสรุปข้อมูลทางวิชาการประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ต่อไป

๓. ให้มีการจัดประชุมเฉพาะกลุ่มภาคการเกษตร เพื่อสรุปข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการทดแทนหรือมาตรการทางเลือก กรณีมีการยกเลิการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง”
กำลังโหลดความคิดเห็น