มติผู้ตรวจฯ เคาะคำวินิจฉัย องค์การเภสัชกรรมผลิต วิตามินโฟลิก 0.4 มิลลิกรัม ภายใน พ.ค. 63 ช่วยว่าที่คุณแม่ลดอัตราลูกพิการแต่กำเนิด
วันนี้ (5 ก.พ.) นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาด 0.4 มิลลิกรัม ให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 2563 และจัดให้อยู่ในหมวดยา เพื่อประชาชนจะได้ซื้อบริโภคได้ง่ายขึ้น หมดกังวลเกี่ยวกับคำเตือนสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมทั้งให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรุงเทพมหานคร เร่งให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชากรวัยทำงาน โดยเฉพาะสตรีในวัยเจริญพันธุ์ เกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) รับทราบถึงรายละเอียดข้อมูล ความสำคัญของการบริโภคในการป้องกันความพิการแต่กำเนิด ตลอดจนดำเนินการใดๆ ให้ประชาชนเข้าถึงวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวผู้แทนองค์กรเพื่อผู้พิการได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องทำการผลิตวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาด 0.4 มิลลิกรัม สำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีโอกาสตั้งครรภ์รับประทานตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เนื่องจากช่วยป้องกันปัญหาพิการในเด็กทารกแรกเกิด โดยเน้นที่ช่วงเวลา 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์และ 3 เดือนหลังจากเริ่มตั้งครรภ์แล้ว เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตวิตามินโฟลิก เอซิด ในขนาด 5 มิลลิกรัม ซึ่งหากรับประทานทุกวันร่างกายอาจได้รับวิตามินโฟลิกเกินความจำเป็นและมีราคาสูง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อรับประทานได้ และขนาด 0.2 มิลลิกรัม ซึ่งจัดอยู่ในหมวดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวางจำหน่ายทั่วไป แต่ก็ยังเกิดปัญหาในการรับประทานเพราะความกังวลจากคำเตือนว่า “เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 293) พ.ศ. 2548 เรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 294) พ.ศ. 2548 เรื่องรอยัลเยลลีและผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี
อย่างไรก็ตาม การลดอัตราการเกิดความพิการแต่กำเนิดเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างประชากรที่มีคุณภาพซึ่งจะเป็นกำลังของชาติไทยในอนาคต รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ครอบคลุมด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีในการลดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อรักษาพยาบาลเด็กที่มีความพิการตั้งแต่แรกเกิดอีกด้วย