xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกาคณะที่ 4 ได้ฤกษ์ เคลียร์ข้อ กม.โอน 4 สนามบินภูมิภาคของ ทย.ให้ ทอท.พรุ่งนี้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กฤษฎีกาคณะที่ 4 ได้ฤกษ์ เคลียร์ข้อ กม. โอน 4 สนามบินภูมิภาคของ ทย. ให้ ทอท. หลังคมนาคม ขอหารือ ตามข้อสั่งการ “นายกฯ” ชี้ สนามบินเป็นทรัพย์สินของรัฐ โอนส่อขัด กม. เหตุ ทอท. เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีต่างชาติถือหุ้นได้ คาด โอนสิทธิ์บริหาร แต่ทรัพย์สินยังเป็นของ ทย.

วันนี้ (3 ก.พ.) แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 4 ก.พ. เวลา 10.00 น. คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 4 (กฎหมายเกี่ยวกับการคมนาคมและการสื่อสาร) ที่มี นายอมร จันทรสมบูรณ์ เป็นประธานกรรมการ มีวาระประชุมตามข้อหารือของกระทรวงคมนาคม ที่หารือแนวทางการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยาน ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน จำนวน 4 แห่ง ณ ห้องพระยามานวราชเสวี ขั้น 1 ตึกใหม่ มี นางสาววรรณา เจริญพลนภาชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ เป็นเจ้าของเรื่อง

ก่อนหน้านั้น มีข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโอนให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานตาก และ ท่าอากาศยานชุมพร ไปให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการ

รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงคมนาคม มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 โดยมีข้อกังวลในประเด็นที่ดินและทรัพย์สินเป็นของราชการ กรณีสถานภาพ ของ ทอท. ที่ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% เหมือนเดิมแล้ว เนื่องจาก ทอท. มีการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มีเอกชนถือหุ้น 30% และในส่วนของเอกชนนี้ เป็นนักลงทุนต่างชาติถึง 20% จะดำเนินการอย่างไร

ซึ่งประเด็นทางกฎหมายยังมีข้อจำกัด การดำเนินการทุกอย่างต้องมีกฎหมายรองรับ นอกจากนี้ พระราชกำหนด แก้ไข เพิ่มเติม พระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2558 ให้ตั้งกรมท่าอากาศยาน ซึ่งจะบอกหน้าที่ของกรมท่าอากาศยาน เช่น ศึกษาความเหมาะสม เป็นไปได้ในการมีสนามบินใหม่ ทำการก่อสร้าง และบริหาร มีท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 28 แห่ง หากจะต้องลดลงไป 4 แห่ง ต้องมีข้อกฎหมายรองรับ ว่า ทย. ไม่ต้องทำสนามบิน 4 แห่งดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ให้ ทอท. บริการสนามบิน 4 แห่งของ ทย. นั้น ยังพบข้อกังวลที่อาจกระทบต่อประชาชน และทำให้ประเทศเสียหายได้ เช่น ผู้โดยสารจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) สนามบินของ ทย. ซึ่งเป็นของรัฐ เส้นทางในประเทศ 50 บาท ระหว่างประเทศ 400 บาท ขณะที่ ทอท. เก็บค่า PSC สูงกว่า ในประเทศ 100 บาท ระหว่างประเทศ 700 บาท ทั้งที่มีบริการเหมือนกัน อาคารผู้โดยสาร ห้องน้ำ ที่จอดรถ, ค่าค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงอากาศยาน / จัดเก็บอากาศยาน (Landing/Parking Fee) ทอท. เก็บจากสายการบินสูงกว่า รวมถึงค่าบริการอื่นๆ ที่สายการบินต้องจ่าย ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ไม่จูงใจและกระทบต่อการเป็นศูนย์กลางการบินได้

ขณะที่ ทย. เปิดให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจำหน่ายสินค้าในสนามบิน มากกว่า ทอท. ที่เก็บค่าเช่าแพง และเน้นแบรนด์เนม และการให้สัมปทานเอกชนรายใหญ่ การบริหารงานมุ้งเน้นกำไร มีการปันผลผู้ถือหุ้นซึ่งมีต่างชาติได้รับผลประโยชน์ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น