“มหาดไทย” โชว์ผลงานตามนโยบายรัฐบาลในรอบ 4 ปี เน้น 4 ด้านหลัก สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ผังเมือง สิ่งแวดล้อม จัดการขยะ จัดระเบียบสังคม และปรับปรุงงานบริการประชาชนให้รวดเร็ว
วันนี้ (1 ก.พ. 62) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แก้ไขปัญหาและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนโดยมีแผนงาน/โครงการที่สำคัญใน 4 ด้าน ดังนี้
1) การเสริมสร้างสังคมเข้มแข็งและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระทรวงมหาดไทยได้ส่งเสริมให้ประชาชน มีอาชีพ มีรายได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านโครงการสำคัญ เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน (หมู่บ้าน/ชุมชนละสองแสนบาท) ครอบคลุม 81,555 หมู่บ้าน/ชุมชน โดยเป็นโครงการที่ส่งผลต่อการสร้างอาชีพสร้างรายได้โดยตรงและอ้อมจำนวน รวม 92,273 โครงการ และโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน จำนวน 3,273 หมู่บ้าน/ชุมชน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในชุมชน สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มจำนวน 547.677 ล้านบาท และพัฒนาต่อยอดกับโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญหาท้องถิ่น OTOP ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP การเพิ่มช่องทางการตลาด การพัฒนาผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP ทำให้มียอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ตั้งแต่ ปี 2557-2561 รวมเป็นเงิน 200,000 ล้านบาท และได้เปิดตลาดประชารัฐ 10 ประเภท 6,610 แห่ง จัดสรรสรรพื้นที่ให้ผู้ประกอบการ 96,849 ราย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้กว่า 1,604 ล้านบาท
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการ/กิจกรรมสำคัญ ผ่านการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่ ตั้งแต่แผนหมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาค และสนับสนุนจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ ในปี 2561 จำนวน 25,631.93 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการเพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน ภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยวและกีฬาในระดับพื้นที่
2) การบริหารจัดการสาธารณภัย การวางผังเมือง และสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศ ทั้งการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ภายใต้ระบบบัญชาการเหตุการณ์ รวมถึงระบบเตือนภัยที่เป็นระบบและเข้าถึงทุกพื้นที่เสี่ยงภัย และการวางระบบการจัดการสาธารณภัย โดยจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อวางแนวปฏิบัติ กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ เชื่อมโยงสายบังคับบัญชาที่ชัดเจนตั้งแต่ระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ มีระบบสั่งการและบัญชาการเหตุการณ์ที่มีเอกภาพ มีการเตรียมแผนเผชิญเหตุครอบคลุมการป้องกัน บรรเทา ฟื้นฟู และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกรูปแบบ โดยมีผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมและยอมรับกันทั่วโลก เช่น กรณีช่วยเหลือโค้ชและนักฟุตบอลทีมหมู่ป่าอะคาเดมี เป็นต้น
ด้านการพัฒนาผังเมืองเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ด้วยการปรับปรุงผังเมืองเพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ ผังประเทศ ผังภาค 6 ภาค ผังเมืองรวมจังหวัด 73 จังหวัด ผังเมืองรวมเมือง/ชุมชน 507 ผัง ผังเมืองเฉพาะ และการจัดทำแผนผังการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC โดยดำเนินการพัฒนาพื้นที่และกำหนดกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศ เพื่อประโยชน์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมือง การตั้งถิ่นฐาน การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการวางและจัดทำผังนโยบายบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำ โดยใช้มาตรการทางผังเมืองวางผังลุ่มน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างบูรณาการ ในพื้นที่ลุ่มน้ำทั่วประเทศ 25 ลุ่มน้ำ ดำเนินการแล้วเสร็จ 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำโตนเลสาป และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก สำหรับอีก 20 ลุ่มน้ำที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเพื่อวางผังต่อไป
ในด้านการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้มีการปรับปรุงกฎหมายและออกกฎหมายรองรับการแก้ไขปัญหาขยะให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 2 ฉบับ คือ 1) กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย 2) ประกาศกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการคัดแยก เก็บ ขน กำจัดมูลฝอยและการหาประโยชน์จากมูลฝอย และขับเคลื่อนการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” และแผนรณรงค์ “แยกก่อนทิ้ง” แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักการ 3 ช. หรือ 3Rs ได้แก่ 3 ช : ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่
ในด้านการพัฒนาคูคลองสำคัญของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ การจัดทำแผนแม่บทฟื้นฟูและพัฒนาคลองเปรมประชากร ระยะเวลา 9 ปี (พ.ศ. 2562-2570) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองเปรมประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคมปี 2562 และโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. และประตูระบายน้ำ คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อจากบริเวณเขื่อนเดิมอุโมงค์ยักษ์พระราม 9-รามคำแหง ไปทางระบายน้ำคลองสองสายใต้ โดยบริหารจัดการสิ่งรุกล้ำลำน้ำ และจัดระเบียบแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดที่สร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ และทางระบายน้ำ
3) การอำนวยความเป็นธรรมและการจัดระเบียบสังคม เพื่อสังคมสงบสุข โดยจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด และอำเภอทั่วประเทศ ตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 96/2557 มีประชาชนรับบริการ 3.292 ล้านเรื่อง สามารถยุติเรื่องได้ 3.233 ล้านเรื่อง นอกจากนี้ ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนภายใต้โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ทช.) โดยจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนแล้ว 360 พื้นที่ จากพื้นที่เป้าหมาย 380 พื้นที่ ใน 60 จังหวัด 109,644 แปลง เนื้อที่ 723,868 ไร่ ประชาชนมีที่ดินทำกิน 84,083 ราย และได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาโดยดำเนินการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร (ลดและควบคุมค่าเช่านา) ในปี 61/62 ในพื้นที่ 67 จังหวัด ผู้เช่านา 241,611 ราย ผู้ให้เช่านา 231,446 ราย พื้นที่ 4.307 ล้านไร่ สามารถลดค่าเช่านาให้ผู้เช่าได้ 11,199 ราย ผู้ให้เช่านา 11,456 ราย พื้นที่ 136,774 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 14.066 ล้านบาท ทำให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงสิทธิของเกษตรกรในสิทธิทำกินและโอกาสในการทำเกษตรกรรม
สำหรับในด้านการจัดระเบียบสังคม ได้ดำเนินการจัดระเบียบสังคมเพื่อสร้างสังคมให้เป็นสุขและสงบเรียบร้อย โดยดำเนินการจัดระเบียบสถานบริการ ตามคำสั่ง คสช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ สามารถสั่งปิดสถานบริการที่กระทำผิด จำนวน 44 แห่ง และสั่งปิดสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ จำนวน 436 แห่ง และในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ได้จับกุมผู้ค้ามนุษย์ 52 คดี ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 145 คน ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 22 ราย และสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ยึดอายัดทรัพย์สินผู้ค้ามนุษย์ 1,064 ล้านบาท ส่งผลให้ในปี 2561 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 2 จาก Tier 2 Watch List
นอกจากนี้ การจัดระเบียบสังคมของกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทุกเขต และการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ใช้ทางเท้าในการสัญจร
4) การพัฒนาการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ได้ดำเนินการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ (Linkage Center) และการยกเลิกสำเนาเอกสารราชการ (Zero Copy) โดยบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน โดยไม่ต้องเรียกเอกสารราชการ ตามแนวคิด “บัตรใบเดียวรับบริการจากรัฐได้ทุกเรื่อง ทุกที่ ไม่ต้องมีสำเนาเอกสาร” โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักภายใต้การมีส่วนร่วมจากส่วนราชการต่างๆ ซึ่งได้เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎรกับกระทรวงแล้ว 19 กระทรวง 168 หน่วยงาน รวมทั้งเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันข้ามหน่วยงานผ่านระบบ Linkage Center 152 ฐานข้อมูล เช่น ข้อมูลการเดินทางเข้าออก (Entry Exit) ของคนไทยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และข้อมูลผู้เสียภาษีของกระทรวงการคลัง เป็นต้น และได้สร้างมิติใหม่ในการให้บริการ คือ การยกเลิกการเรียกสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนในการขอรับบริการจากภาครัฐได้แล้ว 309 กระบวนงาน และใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว เพื่อขอรับบริการจากภาครัฐได้แล้ว 108 กระบวนงาน เช่น การขออนุญาตติดตั้งใช้ไฟฟ้า-น้ำประปา และการขอใบอนุญาตขับรถ เป็นต้น
และในด้านการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนด้านที่ดิน ได้ดำเนินการเร่งรัดงานรังวัดที่ดินเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยระยะเวลานัดรังวัดของสำนักงานที่ดินทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2559 เฉลี่ย 72 วัน ปี 2560 เฉลี่ย 47 วัน และปี 2561 เฉลี่ย 39 วัน ทำให้เจ้าของที่ดินได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเร็วขึ้น และการพัฒนาระบบ
การให้บริการประชาชนด้านทะเบียนที่ดินด้วยระบบออนไลน์ โดยนำเข้ารูปแปลงที่ดินในรูปแบบดิจิทัลครบแล้วทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการค้นหาตำแหน่งรูปแปลงที่ดิน ตำแหน่งที่ดิน เนื้อที่ ราคาประเมิน และคิวรังวัด ด้วยระบบภูมิสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ต (LandsMaps) และการให้บริการต่างสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ ซึ่งมียอดผู้ใช้งานแล้วรวมทั้งสิ้น 30.50 ล้านราย
และการนำเทคโนโลยีโครงข่ายการรังวัดด้วยดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) มาใช้ในการรังวัดรูปแปลงที่ดิน เพื่อรองรับการบริหารจัดการข้อมูลที่ดินบนแผนที่มาตราส่วน 1:4,000 ครอบคลุมพื้นที่ 36 จังหวัด ซึ่งเมื่อบูรณาการข้อมูลดาวเทียมของสถานีรับสัญญาณดาวเทียมอ้างอิงถาวรเพื่อเป็นโครงข่ายการรังวัดด้วยระบบดาวเทียมร่วมกับกรมแผนที่ทหาร กรมโยธาธิการและผังเมือง และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร รวมทั้งสิ้น 222 สถานี จะทำให้สามารถให้บริการรังวัดที่ดินให้มีค่าพิกัดภูมิศาสตร์ที่มีความละเอียดถูกต้องสูงและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ลดปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน เช่น ข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐ เอกชนด้วยกัน การออกเอกสารสิทธิคลาดเคลื่อน และความล่าช้าในการให้บริการ เป็นต้น