“ประยุทธ์” ลั่นนั่งประธานอาเซียน ดันอาเซปได้ปีนี้ ฉุนพวกเกลียดทหารให้ลองไปนั่งชายแดนสักพักจะได้รู้ไม่ใช่เรื่องสบาย ย้ำนโยบายประชารัฐไม่เกี่ยวพรรคไหน โวรัฐบาลนี้แก้ปัญหาน้ำได้ดีกว่ารัฐบาลอื่น
วันนี้ (30 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวว่า ความท้าทายใหม่อีกเรื่องคือต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากมาย ทั้งด้านความมั่นคงเศรษฐกิจจะเห็นว่ามีเรื่องความขัดแย้ง การเจรจา สงครามการค้ารอบบ้านเรา มีการทำกติกาพันธะสัญญาใหม่ ซึ่งไทยกำลังจะเป็นประธานอาเซียน เพื่อผลักดันการทำพันธสัญญาการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาเซป) ระหว่างอาเซียน กับ 6 ประเทศคู่เจรจา คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ออกมา เพื่อให้เป็นพันธสัญญาของอาเซียนและเกิดประโยชน์กับอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมี ทั้งที่ทำกันมาเกือบ 10 ปี รัฐบาลไทยตอนนี้พยายามที่จะผลักดันให้เกิดเรื่องนี้ให้ได้ เพื่อที่จะมีศักยภาพในการต่อรองกับภูมิภาคอื่นๆ ถ้าเราไม่มีก็จะลำบาก รัฐบาลต้องคิดในเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้ แล้วค่อยไปตามในรายละเอียดย่อยๆ ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ออกมา ซึ่งเราได้ร่วมผักดันกับประเทศรอบบ้าน คาดว่าจะออกมาได้ในปีนี้ ไม่เช่นนั้นเราจะเปลี่ยนแปลงไม่ทันเขาสู้เขาไม่ได้
นายกฯ กล่าวว่า หลายคนอยากให้ประเทศเราดีขึ้น รวยขึ้น มีรายได้ดีขึ้นจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเกษตรหลายประเทศปลูกข้าว ปลูกยางพารา และปาล์มในประเทศเขามากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อภาคการเกษตรของประเทศไทย ถ้าเรายังปลูกกันเรื่อยเปื่อยไม่มีอะไรได้ดี แล้วไปดูแลให้มีรายได้ดีทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้ ลองไปเช็กในสิ่งที่ตนพูดว่ามันใช่หรือไม่ใช่
ทั้งนี้ โลกมีพันธสัญญามากมายที่เขาจ้องมาที่เรา เหมือนการทำประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูอยู่ หรือปัญหาการบินอย่างไอเคโอ มันเหมือนกีดกันซึ่งกันและกัน เพราะเขาต้องการให้เกิดขึ้นกับประเทศเขาให้มากที่สุด เราจึงต้องแก้ปัญหาเรื่องความทับซ้อน รวมถึงเรื่องความมั่นคง การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และสงครามไซเบอร์ การลักลอบเข้าเมือง สิ่งเหล่านี้เกิดในโลกปัจจุบันเพราะการสัญจรไปมามันง่ายขึ้น ดังนั้นคนของเราต้องเข้มแข็ง เฝ้าระวัง ช่วยกันดูแล เคารพกฎหาย แต่เผอิญมีบางคนไปร่วมกระทำผิด ก็เป็นพวกเรากันเองนั่นแหละ เจ้าหน้าที่บางคนก็ไม่ดี ก็ต้องยอมรับกันตรงนี้ ตนปฏิเสธแทนไม่ได้ ท่านต้องทำให้ทุกอย่างโปร่งใส
นายกฯ กล่าวว่า เราต้องติดตามข่าวสารบ้านเมืองในต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นจะรู้แต่สิ่งที่ดีของเขา มันมีเรื่องที่ไม่ดีเราอย่าดูถูกประเทศเราเท่านั้นเอง แล้วเราจะแก้สิ่งที่ไม่ดีของเราได้อย่างไรเราก็รู้ดีกันอยู่ ตนทำคนเดียวไม่ได้ ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของความมั่นคงไม่ใช่เฉพาะพลเรือน ตำรวจ ทหาร หลายคนกำลังเกลียดทหาร ตนก็ไม่เข้าใจว่าวันนี้เราอยู่กันอย่างไร
“ใครจะไปอยู่ชายแดนได้บ้าง หมอจะไปอยู่ได้หรือไม่ คนที่ไม่ชอบทหารไปนั่งอยู่ชายแดนกับผมหน่อยเหอะ ให้ไปอยู่ที่นู่นเป็นปีๆ มันไม่ได้สบายนักหรอก ถ้าไม่มีทหาร ชายแดนจะเกิดอะไรขึ้น ภาคใต้ไม่มีทหารลงไปแก้ปัญหามันจะเกิดอะไรขึ้น ไอ้ที่พูดๆ กันรู้จริงหรือเปล่า คือประเด็นสำคัญทหารที่ดีก็มีเยอะ ทหารที่ไม่ดีก็มีอยู่ เมื่อทหารที่ไม่ดีก็จัดการออกไป ก็เห็นกันอยู่ว่ามีการลงโทษ มีการสั่งย้าย มีการจำคุกเยอะแยะไปหมด ถ้าหากไม่มีทหารก็ลองนึกดูแล้วกัน เวลาเกิดเหตุน้ำท่วม ภัยพิบัติ ใครจะไปช่วย จะมีเรือที่ไหน บางคนบอกว่าภัยพิบัติเกิดขึ้นบนบก ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับทหาร เอาเรือออกไปทำไม เอาออกไปเพื่อเบิกเบี้ยเลี้ยงหรือ ปัดโธ่สมองมันคิดได้ไง การที่เอาเรือออกไปอย่างตอนเหตุการณ์พายุปลาบึก ทหารเอาเรือออกไปวิ่งเล่นหรือ ทหารเอาไปเป็นสถานีลอยน้ำ คอยช่วยเหลืออพยพคน มีแผนงานแบบนี้ทุกประเทศ ไอ้นี่ติทุกอัน สมองมีแค่นี้เองหรือ วันนี้หากใครเข้าใจก็ต้องช่วยกันพูด และไม่ต้องมาพูดเอาใจ ผมรู้ว่าอะไรคือเอาใจและไม่เอาใจ ขอแค่พูดในสิ่งที่เป็นความจริงจะได้ช่วยลดความขัดแย้งลงไปได้บ้าง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ความร่วมมือในลักษณะที่มองอนาคตประเทศจะร่วมมือได้อย่างเดียว คือ ในลักษณะประชารัฐ ไม่เกี่ยวกับพรรคใดทั้งสิ้น เรื่องประชารัฐพูดกันมานานแล้ว ตั้งมา 3-4 ปีแล้ว ตลาดประชารัฐก็มีอะไรก็มีเอามายึดโยงกันอยู่นั่นแหละก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่อดีตและปัจจุบันคือการทำงานแบบประชารัฐ ฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน รวมถึงโครงการไทยนิยมก็ลงไปทุกหมู่บ้าน สร้างความเข้มแข็งเป็นกลุ่มให้เงินไปไม่ได้มากมาย
ทั้งนี้ การร่วมมือแบบประชารัฐเป็นวิธีการใหม่ หลายคนอาจไม่รู้ แต่เกิดขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นอยากให้เข้าใจคำนี้ว่าอะไรคือ “ประชารัฐ” คือทุกคนต้องร่วมมือกัน แต่เหลืออีกพวกไม่รู้จะเชิญเข้ามาร่วมมือกันอย่างไร ทั้งเอ็นจีโอ กลุ่มสิทธิมนุษยชน อย่างกรณีการสร้างเขื่อนวังหีบ ที่มีการคัดค้าน ในเมื่อทุกคนต้องการน้ำและป้องกันน้ำท่วม รัฐบาลก็จะทำโครงการลงไป ประชาชนในพื้นที่ก็ยินยอม แต่คนนอกพื้นที่กลับคัดค้าน มาเดินขบวน มาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล มันเกิดอะไรขึ้นที่ประเทศไทย นี่คือความยากในการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าไม่แข็งพอหรือมีหลักการที่มั่นคงเพียงพอก็ต้องเลิกและยอมไม่สร้าง ก็จะลากกันยาวอยู่อย่างนี้แก้ไขอะไรไม่ได้ เสียหายกันทุกปี ทั้งนี้ 4-5 ที่ผ่านมารัฐบาลนี้ลดการเยียวยา เหลือแค่จำนวนพันล้าน จากเมื่อก่อนหลายหมื่นล้านบาท การพัฒนาแหล่งน้ำ 4-5 ที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ทำมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาด้วยซ้ำ ก็ไม่มีใครรู้ เพราะไม่สนใจ เอาแต่สนใจเฉพาะเรื่องของตัวเองก็เป็นธรรมดา ตนไม่ได้ว่า