xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ห่วงระบบนิเวศ “ป่าต้นน้ำ ชั้น 1 เอ” เสี่ยงสูง แม้รัฐผ่อนผัน บมจ.ปูนซีเมนต์ยักษ์ใช้ประโยชน์พื้นที่ ต่ออายุประทานบัตร 4 แปลง ทำเหมืองหินปูน 6 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาพัฒน์ห่วงระบบนิเวศ “ป่าต้นน้ำ ชั้น 1 เอ” หลังพบมีความเสี่ยงสูงจากสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติผันผวน ชี้ผลิตปูนซีเมนต์ส่งผลกระทบป่าต้นนํ้าโดยตรง แนะรัฐเร่งวางแผนใช้ทรัพยากรแร่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามแผนแม่บท 5 ปีบริหารจัดการแร่ หลัง ครม.ไฟเขียวผ่อนผัน “ปูนซีเมนต์นครหลวง” ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ต่ออายุประทานบัตร 4 แปลง ทำเหมืองหินปูนมูลค่า 6 พันล้าน

วันนี้ (28 ม.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (22 ม.ค.) มีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง มูลค่าประมาณ 6,262 ล้านบาท โดยจะสร้างผลประโยชน์ต่อภาครัฐและท้องถิ่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ค่าภาคหลวงแร่ ร้อยละ 60 ที่จัดสรรสู่ท้องถิ่นโดยตรง ตามคำขอต่ออายุประทานบัตร ที่ 1-4/2553 รวม 4 แปลง ที่เริ่มสิ้นสุดอายุตั้งแต่ 8 ก.ย.2556- 1 มิ.ย. 2558 เพื่อทับพื้นที่ประทานบัตรเดิมของบริษัท เป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่เพื่อนำไปใช้ในการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และผลิตคอนกรีตกึ่งสำเร็จรูป ตลอดจนเป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทฯตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2538 โดยให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (อก.) ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมาย

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า สถานการณ์ป่าต้นนั้าและระบบนิเวศ มีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดความผันผวนของสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ ในขณะที่การผลิตปูนซีเมนต์ได้ส่งผลกระทบกับป่าต้นนํ้าโดยตรง ดังนั้น ในอนาคตผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณาศึกษาทางเลือกประกอบการตัดสินใจที่เหมาะสมในภาพรวม โดยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ของเหมืองแร่และอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์อย่างเร่งด่วน เพื่อวางแผนบริหารจัดการแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความยั่งยืน ภายใต้ดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ทั้งนีเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560-2564

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่า คำขอต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ ได้รับความเห็นขอบจากที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ เมื่อ 3 ธ.ค. 2556 และที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อ 16 ก.ค. 2558 แม้ที่ผ่านมา ไม่มืปัญหาร้องเรียน คัดค้าน แต่ควรมีการกำกับให้มืการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไวในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ รวมทั้งสนับสนุนการเฝ้าระวังด้านสุขภาพและสื่อสาร ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านั้น บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตรที่ 1-4/2553 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม รวมเนื้อที่ 928 ไร่ 3 งาน 62 ตารางวา ซึ่งเป็นที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว และบริษัทฯ ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ด้วยแล้วและเป็นที่ดินมีสิทธิครอบครองของผู้ขอเอง รวมทั้งไม่เป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำเหมือง

พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประทานบัตรเดิมที่เคยได้รับประทานบัตรมาแล้วและได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้ ประกอบกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นชอบแล้วและเห็นว่าพื้นที่คำขอต่ออายุประทานบัตรทั้ง 4 แปลง เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560-2564
กำลังโหลดความคิดเห็น