xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ยึดมารยาทยุติออก กม.หนึ่งสัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง แนะส่งศาลปมรับรองผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประธาน สนช.เผยเร่งพิจารณา กม.ที่ค้าง ตั้งเป้าสัปดาห์ละ 10-15 ฉบับ คำนึงมารยาทหยุดพิจารณา กม.หนึ่งสัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง เว้นสำคัญจริงๆ ห่วง กกต.เร่งรับรองผล ส.ส.เสี่ยงวุ่นวาย แนะส่งศาล รธน.เพื่อความชัดเจน

วันนี้ (24 ม.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงกรณี กกต.ประกาศวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.ว่า หลังจากนี้ สนช.จะพยายามเร่งรัดการพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ในสภาวาระ 2-3 ประมาณ 100 ฉบับ ให้เสร็จมากที่สุดด้วยความรอบคอบ ตั้งเป้าว่า 1 สัปดาห์จะพิจารณาให้เสร็จ 10-15 ฉบับ แม้ตามไทม์ไลน์แล้ว สนช.จะทำงานได้ถึงก่อนวันเปิดประชุมสภาครั้งแรก แต่ สนช.คำนึงถึงมารยาทและความเหมาะสม ดังนั้นจะหยุดพิจารณากฎหมายทุกฉบับหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง ยกเว้นจะมีเร่งด่วนสำคัญจริงๆ เช่น สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องเร่งลงนาม เรื่องร้ายแรงที่ต้องออกเป็นพระราชกำหนด หรือเรื่องเร่งด่วนที่มีความสำคัญจริงๆ ส่วนการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ยังค้างอยู่ใน สนช.นั้น ในขั้นตอนการคัดเลือกของกรรมการสรรหา ที่ไม่เกี่ยวกับ สนช.คงดำเนินการต่อไป แต่เมื่อเรื่องมาถึง สนช.แล้ว คงต้องรอให้สภาฯ ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา

นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนข้อห่วงใยการตีความเรื่องระยะเวลาดำเนินการเลือกตั้ง 150 วันนั้น ในฐานะที่ สนช.มีส่วนพิจารณาทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเห็นว่า เรื่องการจัดการเลือกตั้ง และระยะเวลาการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.เป็นคนละมาตรากัน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน โดยการประกาศผลรับรองการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น จะนับจากวันเลือกตั้งไป 60 วัน อย่าเอามาปนกันให้สับสน หรือมาขู่ กกต.ว่า มีความผิด ต้องชดใช้ค่าเสียหาย หากไม่เร่งดำเนินการให้เสร็จภายในเวลา 150วัน ทั้งนี้ หากมีคนไปร้องเรียนเรื่องการทุจริตเลือกตั้งหลังกรอบเวลา 150 วัน แต่ กกต.ไม่รับร้องเรียนอ้างว่า หมดเวลาแล้ว อาจเกิดปัญหาความวุ่นวายตามมาได้ ดังนั้น กกต.ควรสร้างความชัดเจนเรื่องนี้ ถ้าไม่แน่ใจให้ถามศาลรัฐธรรมนูญ การไปรับรองผลอย่างรวดเร็วเพราะเกรงจะครบเงื่อนเวลา 150 วัน ไม่ใช่เหตุผล อาจนำไปสู่ข้อขัดแย้งและข้อพิพาทในชั้นศาลตามมาได้

“อย่าไปฟังนักกฎหมายบางคน ไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวายโดยการตีความกฎหมายผิดพลาด คนที่ว่าวันนี้ ขอให้ไปดูกรณีที่ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า มีคำวินิจฉัยว่ากฎหมายลูกขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คนด่าคงลืมไปแล้ว” นายพรเพชรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น