อาจารย์นิติฯ ม.รังสิต ชี้ กรอบ 150 วันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ต้องรวมกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมถึงการรับรองผล แต่เกิดปัญหาขึ้น เพราะ กรธ. ไปเขียนมาตรา 171 ใน พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส.ฯ ให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน แนะส่งศาล รธน. ตีความ มาตราดังกล่าวขัด รธน. หรือไม่ หวั่นร้องศาลภายหลังกลายเป็นเลือกตั้งโมฆะ
วันนี้ (13 ม.ค.) อาจารย์คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ อดีตกรรมาธิการยกร่างฯ และ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Komsarn Pokong ในหัวข้อ ผมตีความรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ๑๕๐ วัน ในมาตรา ๒๖๘ อย่างไร มีรายละเอียดดังนี้
ปรากฏการณ์ของการอยากเลือกตั้งหรือไม่อยากเลือกตั้ง ที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในสังคมที่โต้กันว่า เวลา ๑๕๐ วัน ที่ต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จตีความอย่างไร วุ่นวายสับสนมาก
กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง บอกว่า ระยะเวลา ๑๕๐ วันที่กล่าวในรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖๘ ต้องตีความว่าระยะเวลา ๑๕๐วัน นั้นหมายถึงต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จทั้งหมดตั้งแต่การลงคะแนน นับคะแนน จนถึงการที่ กกต. รับรอง ส.ส. จนเสร็จสิ้น โดยมีอดีต กกต. ซึ่งปัจจุบันเป็นว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ของพรรคการเมืองหนึ่ง สนับสนุน และเปิดหลักฐานต่างๆ โต้แย้งอยู่
แต่ กรธ. ออกมาโต้ว่า ระยะเวลา ๑๕๐ วันนั้น มีความหมายแต่เพียงถึงวันลงคะแนนเลือกตั้ง เท่านั้น ไม่รวมถึง วันอื่นๆและไปไม่ถึงวันประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง
รวมถึงมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้สัมภาษณ์ด้วยว่าแนวทางการตีความของ กรธ. ถูกต้อง นักกฎหมายควรตีความกันอย่างตรงไปตรงมา
ผลัดกันกล่าวจนเกิดความสับสนอย่างมาก ว่า การตีความกรณีใดจึงจะถูกต้อง จนผมคิดว่าเมื่อสับสนกันมาก ก็เลยอยากเพิ่มความสับสนอีกนิด ด้วยความเห็นของผมเองว่า ผมตีความระยะเวลา ๑๕๐ วัน ในมาตรา ๒๖๘ อย่างไร
เพื่อที่ไม่ให้เข้าใจว่าผมเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ก็ต้องบอกว่า ผมไม่กระสันเรื่องจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ เพราะไม่เห็นว่าระบบการเลือกตั้งวิปริตที่สร้างขึ้น ไม่สามารถแก้ปัญหาของชาติได้และจำสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติดังที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวทักท้วงมาตลอด แต่ผมก็เบื่อหน่ายกับการทำลายความหวังของประชาชนที่อยากให้มีการปฏิรูปประเทศที่ถูกกระทำโดย คสช. ซึ่งเบื่อหน่ายอย่างเต็มที่จนอยากให้ไปให้พ้นสักที
เรามาที่ประเด็นปัญหา ก่อนอื่นที่จะตีความคำว่า ระยะเวลา ๑๕๐ วัน ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๖๘ ตีความอย่างไร ก็ต้องมาดูบทบัญญัติมาตรา ๒๖๘ เสียก่อน
“มาตรา ๒๖๘ ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๗ (๑) (๒) (๓) และ (๔) มีผลใช้บังคับแล้ว”
ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญฯ ก็จะเห็นว่า ระยะเวลา ๑๕๐ วัน มีการผูกข้อความทั้งข้างหน้าว่า “ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน.......”และผูกข้อความข้างหลังว่า “...นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๘๗ (๑) (๓) และ (๔) มีผลใช้บังคับ” ซึ่งหมายความมีการกำหนด “กิจกรรม”และ “เงื่อนเวลาของการสิ้นสุด”ของกิจกรรมนั้นไว้ในมาตรา ๒๖๘
หากตีความมาตรา ๒๖๘ ดังกล่าว ผมคงต้องตีความในลักษณะที่ว่า ต้องดำเนิน “กิจกรรม”ทั้งหมด ให้เสร็จสิ้น ภายในระยะเวลา ๑๕๐ วัน นับแต่วันที่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ๔ ฉบับ มีผลใช้บังคับ คือ (๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (๓) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ (๔) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีผลใช้บังคับทั้งหมดแล้วโดย ๒ ฉบับสุดท้าย ที่มีผลใช้บังคับคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็คือ ในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ดังนั้นเงื่อนไขทั้งหลายที่ในการบังคับใช้กฎหมายก็เริ่มตามมา คือต้องตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้ง สส.ภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯมีผลใช้บังคับ(นับจาก ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ) ซึ่งก็จะครบกำหนดในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๒ (ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้ง) และโดยผลของมาตรา ๒๖๘ ของรัฐธรรมนญฯ ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน ๑๕๐วัน นับแต่วันที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะครบ ๑๕๐ วันนับแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายตามเงื่อนไขตอนท้ายของมาตรา ๒๖๗ คือใน วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งวันนี้คือวันสุดท้ายที่ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ปัญหาของเรื่องคือในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ การดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ คือต้องเสร็จแค่ไหน เสร็จทั้งหมดหรือเป็นการกำหนดแค่ “วันเลือกตั้ง” เพราะ กรธ.และหลายคนพยายามตีความว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ คือเสร็จแค่ “วันเลือกตั้ง”
แต่อย่างไรก็ตาม กรอบเวลา ๑๕๐ วันดังกล่าว ก็มีการกำหนดรายเอียดวันเลือกตั้งเพิ่มเติมขึ้นมาในบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๗๑ ความว่า
“มาตรา ๑๗๑ ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันเลือกตั้งซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ”
ซึ่งหมายความว่า กรอบเวลาของการมีพระราชกฤษฎีกา จนถึงวันที่ กกต.กำหนด “วันเลือกตั้ง” ต้องไม่เกิน ๖๐ วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปฯมีผลใช้บังคับ แต่ไม่เกิน ๑๕๐ วัน นับวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับ แต่ก็มีปัญหาว่า วันที่ครบ ๑๕๐ วัน ตามรัฐธรรมนูญฯ ๒๖๘ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ คือวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ คือ วันเดียวกันที่มีความหมายอย่างเดียวกันหรือไม่ รวมทั้งต้องตีความ ภายหลังจากครบ ๑๕๐ วันในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ จะต้องทำอะไรแค่ไหน และมาตรา ๑๗๑ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะภายหลังจากที่ตีความมาตรา ๒๖๘ คำว่า “ต้องดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ” กับ ในมาตรา ๑๗๑ คำว่า “วันเลือกตั้ง” เป็นคนละข้อความแต่จะเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่
ปัญหาการตีความดังกล่าว ผมก็คงต้องเตือนว่า ในอนาคตถ้า รัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ใช้บังคับไปจนถึงมีการเลือกตั้งอีกครั้ง (ครั้งที่ ๒ ของการใช้รัฐธรรมนูญฯ) ก็จะมีปัญหาการตีความอีกในมาตรา ๑๐๒ เพราะรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๐๒ มีการเขียนแบบคลุมเคลือ ให้เข้าใจยาก(รัฐธรรมนูญฯ๒๕๖๐ ชอบสไตล์การเขียนแบบคลุมเคลือทั้งฉบับ (ต้องตีความโดยคนร่างตลอด ฮาอ่ะ)) กล่าวคือ
“มาตรา ๑๐๒ เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ
การเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา”
ซึ่งการเขียนแบบนี้เข้าใจยากว่า เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ นั้น กรอบ ๔๕ วันนั้น คือ กรอบการออกพระราชกฤษฎีกาฯให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือ กรอบการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วัน ซึ่งมีปัญหาการตีความไม่ต่างกับการตีความตามมาตรา ๒๖๘ ซึ่งต่างกับรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ ที่เขียนชัดไม่ต้องตีความ
รัฐธรรมนูญฯ ๒๕๔๐
“มาตรา ๑๑๕ เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร”
หรือรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๕๐
“มาตรา ๑๐๗ เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร”
สงสัยต้องรอปัญหาการตีความแน่ๆ ในอนาคต(ถ้ายังอยู่)
อย่างไรก็ตาม คงต้องกลับมาทำความเข้าใจก่อนว่า การดำเนินการเลือกตั้ง คือ การได้มาซึ่งผู้แทนของบุคคลหรือองค์กรด้วยวิธีการให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจทางการเมือง ทำการเลือกบุคคลหรือองค์กรนั้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของเขา ดังนั้น กิจกรรมที่เป็นการดำเนินการเลือกตั้งจึงต้องประกอบด้วยกิจกรรมหลายกิจกรรมในการดำเนินการ ซึ่งในความเห็นของผมเห็นว่า ประกอบด้วยกิจกรรมที่เริ่มตั้งแต่การจัดทำกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง การตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปและการกำหนดวันเลือกตั้ง วันลงคะแนน การนับคะแนน การตรวจสอบการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจบลงที่การรับรองผลการเลือกตั้งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้น ความเห็นของผมในการตีความเบื้องต้น จึงมีความเห็นว่า คำว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน จึงมีความหมายว่า ต้องดำเนินกิจกรรมตามที่กล่าวมาข้างต้นทุกอย่างจนถึงการรับรองผลให้เสร็จภายใน ๑๕๐ วัน ไม่ได้หมายความถึง “วันเลือกตั้ง” เพียงอย่างเดียว
แล้วคำว่า “วันเลือกตั้ง” นั้นมีความหมายอย่างไรนั้น เป็นที่รับรู้กันในทางวิชาการว่า “วันเลือกตั้ง” นั้น มีความดังเช่น รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๐๐ บัญญัติไว้
มาตรา ๑๐๐ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง
คำว่า “วันเลือกตั้ง” จึงไม่ได้มีความหมายว่าเป็นวันลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง แต่มีความหมายถึงวันเริ่มต้นการมีสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาที่เริ่มต้นทันทีในวันที่ประชาชนได้เลือก แต่ความหมายดังกล่าว หาได้หมายความถึง “วันลงคะแนน” แต่อย่างใด ซึ่งในวงวิชาการต่างก็ทราบกันดีว่า วันลงคะแนนอาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังก็ได้ เช่น วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับบุคคลที่อยู่นอกราชอาณาจักรหรือวันที่กำหนดให้เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งที่กำหนดได้ หรือวันลงคะแนนอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีภัยพิบัติ เหตุร้าย เหตุจลาจล ซึ่ง กกต. กำหนดขึ้นภายหลัง “วันเลือกตั้ง” แต่ดูเหมือนว่า กรธ. จะตีความว่า “วันเลือกตั้ง” เป็นวันที่ครบระยะเวลา ๑๕๐ วัน แล้วการลงคะแนนเลือกตั้งก่อน “วันเลือกตั้ง” หรือการลงคะแนนหลัง “วันเลือกตั้ง” หมายความว่าเป็นวันอะไร แต่ที่แน่ๆ คือ หากมีการกำหนดการลงคะแนนหลัง “วันเลือกตั้ง” ก็หมายความว่า ยังรวมคะแนนระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบเขตในบางเขตเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จใน “วันเลือกตั้ง” ไม่ได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการตีความคำว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน
เมื่อเห็นดังกล่าว ผมจึงขอบอกว่า การดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕๐ วัน จึงเป็นวันที่การดำเนินการทั้งหมดสิ้นสุดจริงๆ ไม่ใช่ “วันเลือกตั้ง” หรือ “วันลงคะแนน” อย่างที่มีคนให้ความเห็น
แต่การตีความกฎหมายจนวุ่นวายนี้เกิดจากอะไร ก็ต้องตอบว่า การที่ กรธ. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ มาตรา ๑๗๑ เสียจนขัดแย้งกันกับรัฐธรรมนูญฯมาตรา ๒๖๘ จนเกิดการตีความที่สับสนเกิดขึ้น
ผมคิดว่า ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเสียใหม่ก่อนมั๊ย ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๗๑ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราขอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖๘ ในเรื่องระยะเวลา ๑๕๐ วัน เสียก่อนดีมั๊ย อย่าให้ กรธ. ซึ่งก่อเรื่องในการร่างเรื่องเดียวกันแต่ไม่ใช้มาตรฐานการร่างต่างกันใช้ถ้อยคำต่างกัน จนผมเองเห็นว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ มาตีความอีก เพราะยิ่งตีความยิ่งห้างไกลหลักวิชาเข้าทุกทีและก่อปัญหาไปเรื่อยจนสังคมเข้าใจกันยุ่งเหยิงไปหมดในขณะนี้
อ้อ ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าพรรคการเมืองเขาร้องคัดค้านการเลือกตั้งว่ากระทำโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ศาลวินิจฉัย ค่าเสียหายจากการเลือกตั้งก็ตี การเสียเวลาก็ดี เผลอๆ นายกฯตู่อาจไม่ได้รับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้นะ