xs
xsm
sm
md
lg

บช.แจ้งแบงก์รัฐ “บัตรคนจน” รอบใหม่ เคสพิการ คนชรา ผู้ป่วยติดเตียง มอบฉันทะ “ผู้ดูแล” ทำธุรกรรมแทนได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บช. แจง “เจ้าของบัตรคนจน” รอบใหม่ กรณีผู้พิการ ผู้สูงอายุ และ ผู้ป่วยติดเตียง ไม่สะดวกไปแบงก์ สามารถมอบฉันทะ “ผู้ดูแล” ทำธุรกรรมแทนได้ หลัง บมจ.กรุงไทย ทำหนังสือสอบถามต้องใช้เอกสารใด? หรือกรณีเขียนหนังสือไม่ได้ให้ทำอย่างไร ย้ำ ธนาคารต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐาน “ใบมอบฉันทะ-ชื่อ-นามสกุล-ที่อยู่-ลายมือชื่อรับรอง-พยาน” ให้ละเอียดทุกขั้นตอน ก่อนผ่านธุรกรรม

วันนี้ (13 ม.ค.) รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมบัญชีกลาง มีหนังสือด่วนที่สุดถึง บมจ.ธนาคารกรุงไทย เพื่อแจ้งแนวทางดำเนินการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ภายหลัง บมจ. มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ สอบถามแนวทางการดำเนินงานกรณีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) มอบฉันทะ กรณีมีการทำธุรกรรมของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในการถอนเงินสดจากกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ของผู้ถือบัตรทีมืสถานะต่างๆ เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง อาจไม่สะดวกที่จะเดินทางไปที่สาขาธนาคารด้วยตัวเองเพื่อทำธุรกรรม

ทั้งกรณีอายัดบัตร และถอนอายัดบัตร กรณีปลดล็อกรหัสบัตร และเปลี่ยนแปลงรหัสบัตร (รหัส 6 หลัก ต้องใช้กรณีที่ถอนเงินสดที่ตู้ ATM ซื้อสินค้าจากรัานค้าที่ใช้ application ถุงเงิน) กรณีถอนเงินสดจาก e-Money กรณีแจ้งปัญหาถอนเงินแต่ไม่ได้รับเงิน และกรณีแจ้งตู้ยึดบัตร

“โดยธนาคารได้สอบถามแนวทางการดำเนินงานในกรณีที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมอบฉันทะให้ผู้อื่นทำธุรกรรมแทน เช่น การมอบฉันทะให้ผู้อื่นกระทำการแทน สามารถทำได้หรือไม่ หากสามารถมอบฉันทะได้ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง และในกรณีที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเขียนหนังสือไม่ได้ จะให้มอบฉันทะอย่างไร”

ล่าสุด กรมบัญชีกลาง มีหนังสือแจ้ง บมจ.ธนาคารกรุงไทย และมีหนังสือเวียนถึงกระทรวงมหาดไทย สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศแล้ว

ทั้งนี้ หนังสือที่กรมบัญชีกลางตอบคำถาม บมจ.ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ตามคู่มือประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กำหนดเงื่อนไขการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงฺ ที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถใช้สิทธิในการซื้อสินค้าได้ ดังนั้น เพี่อให้การดำเนินงานในกรณีทีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มอบฉันทะให้ผู้อื่นทำธุรกรรมแทนเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับกรณีการใช้สิทธิในการซื้อสินค้า

ให้ดำเนินการดังนี้ 1. กรณีผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถมอบฉันทะ/มอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทนได้

2. การมอบฉันทะต้องใช้เอกสาร ดังนี้ “กรณีผู้พิการ” ให้ผู้ดูแลที่มีชื่อปรากฏอยู่ในบัตรประจำตัวผู้พิการเป็นผู้ทำธุรกรรมแทนได้ โดยธนาคารต้องตรวจสอบจากบัตรประจำตัวผู้พิการที่ระบุชื่อผู้ดูแเล และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ดูแล “กรณีผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง” ให้ผู้ดูแลเป็นผู้ทำธุรกรรมแทนได้

โดยธนาคารต้องตรวจสอบจากเอกสาร ประกอบด้วย “ใบมอบฉันทะ/หนังสือมอบอำนาจ/เอกสารที่ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง (ผู้มอบ)” จัดทำขึ้นเพี่อใช้เป็นหลักฐานให้ผู้ดูแล (ผู้รับมอบ) กระทำการแทน ซึ่งจะต้องมีขัอมูล ประกอบด้วย 1. ชื่อ-นามสกุล และที่อยู่ของผู้มอบ 2. ชื่อ-นามสกุล และที่อยู่ของผู้รับมอบ 3. ลายมือชื่อผู้มอบ ผู้รับมอบ และให้มีพยานลงลายมือชื่อรับรองไวัด้วยสองคน รวมทั้งหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ดูแล”

ท้ายสุด กรณีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งร้ฐเขียนหนังสือไม่ได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ (รอบกากบาทหรือขีดเขียน ซึ่งบุคคลไม่รู้หนังสือ ขีดเขียนลงไว้เป็นสำคัญ) ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่น ทำนองเช่านว่านั้น ลงในใบมอบฉันทะ/หนังสือมอบอำนาจ/เอกสารที่ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานให้ผู้ดูแลกระทำการแทน แทนการลงลายมือชื่อ และให้มีพยานลงลายมือชื่อรองรับไว้ด้วยสองคน ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9
กำลังโหลดความคิดเห็น