รองนายกฯ แนะควรประกาศรับรองผลช่วง 20 พ.ค. ไม่ให้ทับซ้อนพระราชพิธี แย้มเลือกตั้งก่อนพิธี ครม. ใหม่เกิดหลัง ส่งผลขยับกาบัตรช่วง 17 หรือ 24 มี.ค. โยน กกต. ตัดสินใจ เสี่ยงถูกร้องจัดเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จ 150 วัน หากตามน้ำ
วันนี้ (3 ม.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงการกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสมไม่กระทบต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งหลังการหารือประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง นายวิษณุ แถลงว่า ได้นำรายละเอียดขั้นตอนพระราชพิธีมาแจ้งต่อ กกต. เพราะจากเดิมที่ทราบว่า จะมีพระราชพิธีระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค. นั้น แต่ในรายละเอียดก่อนหน้านั้นประมาณ 15 วัน จะมีพิธีการสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการ รวมถึงหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วก็จะยังมีกิจกรรมต่างๆ อีกประมาณ 15 วันเช่นกัน หากยึดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. กกต. ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน คือ ไม่เกินวันที่ 24 เม.ย. จากนั้นภายใน 15 วัน จะต้องเสด็จฯเปิดการประชุมสภานัดแรก ซึ่งก็จะตรงกับวันที่ 8 พ.ค. เมื่อ กกต. ทราบขั้นตอนต่างๆ แล้วที่ยืนยันว่า วันเลือกตั้งควรเป็น 24 ก.พ. ก็บอกว่าจะนำข้อมูลเรื่องงานพิธีไปประกอบการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม เพราะตอนแรกคิดว่างานพิธีจะมีเพียง 3 วันเท่านั้น ซึ่งในจุดนี้รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะมีอำนาจเพียงนำพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยรัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ. เลือกตั้งไปตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. 61 และคาดว่า จะประกาศในวันที่ 2 ม.ค. แต่ขณะนี้ยังไม่โปรดเกล้าฯลงมา ซึ่งถือว่ายังอยู่ในพระราชอำนาจ แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ. เลือกตั้งลงมาแล้ว กกต. ต้องประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน จากนั้นจะประกาศวันรับสมัคร สถานที่รับสมัคร และรายละเอียดอื่นๆ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง ลงมาขณะนี้ ถือเป็นเรื่องดี เพราะก็จะทำให้ กกต. มีเวลาในการพิจารณาวันเลือกตั้งที่เหมาะสมได้มากขึ้น ลำพังวันเลือกตั้งจะมีเมื่อไหร่ไม่ได้มีผลต่อพระราชพิธีฯ และถึงอย่างไรการเลือกตั้งต้องมีก่อนพระราชพิธีฯแน่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลัง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ซึ่งข้อห่วงใยว่าอาจจะมีความโกลาหลทับซ้อน จึงเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปให้พ้นพระราชพิธีฯนั้นทำไม่ได้ เพราะวันอาทิตย์สุดท้ายคือวันที่ 5 พ.ค. จะจัดการเลือกตั้งก็ไม่ได้ เนื่องจากจะมีการจัดพระราชพิธีฯ หรือจะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปก็ไม่ได้ เพราะเกินกรอบ 150 วัน ไม่สามารถใช้มาตรา 44 เข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ถ้าจะใช้กำหนดวันเลือกตั้งเดิม คือ 24 ก.พ. ก็ไม่กระทบกับพระราชพิธีฯ เรื่องการหาเสียงก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะรัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วง คือ ระยะเวลาหลังการเลือกตั้ง ที่ยังมีกิจกรรมทางการเมือง เฉพาะข้อกำหนดที่ กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 เม.ย. แล้วกฎหมายกำหนดให้ คสช. ต้องประกาศ ส.ว. ภายใน 3 วัน หลังจากนั้น ซึ่งก็จะต้องมีการรายงานตัวของ ส.ส. ส.ว. ตามมา ซึ่งก็จะวุ่นวายพอสมควรกับที่ช่วงเวลาเดียวกันนี้ในด้านงานพระราชพิธีฯจะต้องมีการทำน้ำอภิเษก กิจกรรมการเมืองกับกิจกรรมพระราชพิธีฯ จึงต้องไม่ทับซ้อนกัน
“ในความเห็นส่วนตัว การประกาศผลรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. ที่เหมาะสมควรจะเกิดขึ้นหลังพระราชพิธีฯ คือสักวันที่ 20 พ.ค. แต่ทั้งนี้ หาก กกต. จะยืนยันจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. โดย พ.ร.ฎ. เลือกตั้งออกช้ากว่าวันที่ 4 ม.ค. ก็ได้ แต่ก็จะทำให้ระยะเวลาหาเสียงน้อยลด หรือถ้าจะลดเวลาในเรื่องการประกาศรับรองผลเหลือ 30 วัน กกต. เขาก็บอกว่าทำได้ แต่อย่าลืมนะว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก มันจะไม่ใช่แค่คนแพ้ร้องคนชนะเท่านั้น แต่คนชนะจะร้องคนแพ้ด้วย เพื่อจะดึงคะแนนของคนแพ้มาเป็นคะแนนตัวเอง เพื่อให้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อมากขึ้น มันก็จะวุ่นวาย จะมั่นใจได้ยังไงว่าจะรับรองผลได้ สรุปวันเลือกตั้งเกิดก่อนพระราชพิธีฯ รัฐบาลนี้จะเป็นคนจัดพระราชพิธี รัฐบาลใหม่ จะเกิดหลังพระราชพิธี”
เมื่อถามว่า ตามเงื่อนไขเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค. หรือ 17 มี.ค. นี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับ กกต. สื่อฟังแถลงไม่นานก็สามารถจับประเด็นได้ เมื่อตนได้บอกรายละเอียดกับทาง กกต. ไป เชื่อว่า กกต. คงมีคำตอบในใจและไปหารือกัน เพราะก่อนหน้านี้ กกต. หารือกันแล้วว่าจะเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. เมื่อ กกต. เห็นกรอบพระราชพิธีฯ 3 วัน ก็ยังยืนยันว่า จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. แต่พอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม กกต. จึงรับไปหารือเพิ่มเติม ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้แนะนำวันที่เหมาะสมในการจัดการเลือกตั้ง เบื้องตนที่เรายึดวันที่ 24 ก.พ. เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายพร้อม และจะเป็นวันที่เร็วที่สุด ส่วนจะเลื่อนวันที่เท่าไหร่ จะเลื่อนหรือไม่เลื่อนขึ้นอยู่กับ กกต.
เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่า วันที่ 24 ก.พ. ไม่เหมาะสมที่จะจัดวันเลือกตั้งแล้วนั้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ไม่กล้าบอก กกต. อย่างนั้น เพราะเดี๋ยวสื่อก็จะไปพาดหัวว่าตนมาสอนมวย กกต. เป็นสิ่งที่ กกต. จะต้องไปพิจารณากันเอาเอง แต่อย่างไรการเลือกตั้งจะต้องมีก่อนพระราชพิธีฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากเป็นตามที่ นายวิษณุ ระบุว่า การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งที่เหมาะสมเป็นควรวันที่ 20 พ.ค. นั้น แล้วย้อนเวลากลับไปโดยมีเงื่อนไขที่ กกต. มีอำนาจประกาศ ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ภายใน 60 วัน บวกกับวันนัดประชุมสภานัดแรกอีก 15 วัน หลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว วันเลือกตั้งที่เป็นไปได้ซึ่งต้องเป็นวันอาทิตย์ คือ วันที่ 17 มี.ค. หรือ 24 มี.ค. แต่ทั้งนี้ หาก กกต. เลือกวันใดเป็นวันเลือกตั้ง แล้วใช้เวลาพิจารณาเรื่องร้องเรียนก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 เต็มเวลา 60 วัน วันประกาศผลการเลือกตั้งก็จะไปตรงกับช่วงวันที่ 16 หรือ 23 พ.ค. ซึ่งจะเกินกรอบเวลา 150 วันที่วันสุดท้าย คือ 9 พ.ค. ตรงนี้อาจทำให้ กกต. เสี่ยงต่อการถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญกำหนดได้