xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” สั่งทบทวนตั้ง 52 หน่วยงานใหม่ตามแผนปฏิรูป ก.พ.ร.แจงกันงานซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลขาฯ ก.พ.ร.เผยนายกฯสั่งทบทวน ตั้ง 52 หน่วยงานใหม่ตามแผนปฏิรูป ยันเสนอทบทวนป้องกันทำงานซ้ำซ้อน หวั่นสิ้นเปลืองงบ ชี้ไม่มีใครรับประกัน มีแล้วประเทศจะเจริญรุ่งเรือง

วันนี้ (3 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.20 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (2 ม.ค.) มีมติรับทราบทบทวนข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ 52 หน่วยงานตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ ว่าเราได้ให้ข้อเสนอในที่ประชุม ครม.ว่าการตั้งหน่วยงาน 52 หน่วยงาน ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานองค์การมหาชนและส่วนราชการ รวมถึงกรมใหม่ เป็นจำนวนที่เยอะ และยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ในรายละเอียดว่าเหมาะสมและจำเป็นจะต้องตั้งมากมายขนาดนั้นหรือไม่ หรือที่มีอยู่มันพอแล้ว หรือเกินพอแล้วหรือไม่ ควรจะยกเลิกเสียด้วยซ้ำไป โดยเราได้ไปดูแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมุ่งให้ภาคราชการมีขนาดเล็กลง ทำงานแบบคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงใช้เทคโนโลยีให้บริการประชาชนมากขึ้น ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานใหญ่ๆ เพราะการตั้งหน่วยงานจำนวนมากขนาดนี้มีตรรกะขัดกันกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ เราจึงเสนอ ครม.ไปว่า มันไม่สอดคล้องกันและควรมีการทบทวนให้ดีก่อนตั้งหน่วยงานใหม่ เพราะ ก.พ.ร.เห็นว่ามีภาระกับงบประมาณของรัฐมาก ขณะที่เรื่องประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ไม่มีใครรับประกันว่า การตั้ง 52 หน่วยงานแล้วประเทศไทยจะเจริญรุ่งเรือง และเรายังเสนอไปว่า ถ้าจะตั้งหน่วยงานใหม่ ต้องยุบเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานที่มีอยู่เดิม (One-In, X-Out) เพื่อไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อน และสิ้นเปลืองงบประมาณไปอีก 20-30 ปี เพราะปัจจุบันหน่วยงานราชการไม่ได้ทำงานเป็นแท่งเหมือนเมื่อก่อน เราทำงานแบบบูรณาการ หากยังทำงานเป็นแท่งก็จะเกิดปัญหา

นายปกรณ์กล่าวอีกว่า ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับข้อเสนอและสั่งการให้มีการทบทวน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รับกลับไปพิจารณาทบทวนแก้ไข นอกจากนี้ ก.พ.ร.ยังเสนอที่ประชุม ครม.ว่าปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัล เราจะต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานมากขึ้น และลดจำนวนคนให้น้อยลง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐ กระบวนการทำงานจะเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งการจะตั้งหน่วยงานใหม่จะต้องแนบแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) มาด้วย เนื่องจากขณะนี้กฎหมายที่เสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนใหญ่ จะมีการตั้งหน่วยงาน กรมและองค์การต่างๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับแก้แล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบจะนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง โดยคาดหวังว่าจะเสร็จทันก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ยืนยันว่า ก.พ.ร.ไม่ได้ขัดแย้งหรือทะเลาะกับใคร เราเพียงเสนอตามหลักการว่าควรจะเป็นอย่างนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น