xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าแผน “ตำรวจดิจิทัล” 3 ระยะ 1.3 หมื่นล้าน เฉพาะปี 63-65 ตั้งงบ 5.5 พันล้าน สนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผ่าแผน “ตำรวจดิจิทัล” 3 ระยะ งบ 1.3 หมื่นล้าน รองรับเทคโนโลยีใหม่ ป้องอาชญากรรม ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เน้นจัดหา-ติดตั้งระบบวิทยุสื่อสารดิจิทัล เฉพาะปี 63-65 ตั้งงบ 5.5 พันล้าน ภารกิจป้องกันภัย โครงข่ายร่วม ภาพ-เสียงออนไลน์ ขยายพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ด่านตรวจคนเข้าเมือง รองรับ AEC และทุก สน.ใน 3 จชต. เผยแผนระยะแรก 3.4 พัน ล. ติดตั้งแล้ว 170 สถานีฐาน แจกวิทยุ1.5 หมื่นเครื่อง ทั่ว กทม. ปริมณฑล ส่วนแผนสอง 4.4 พัน ล. เร่งติดตั้งแจกหัวเมืองใหญ่

วันนี้ (28 ธ.ค.) รายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (25 ธ.ค.) ให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ตามนัยมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 5,514,463,700 บาท ในรายการโครงการจัดหาและติดตั้งระบบวิทยุสื่อสารดิจิทัล ระยะที่ 3 ระหว่างปีงบประมาณ 2563-2565

โดยโครงการได้ผ่านความเห็นชอบจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับ สตช.แล้ว ซึ่งเป็นแผนงานด้านยุทธศาสตร์โครงการจัดหายุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของ สตช. กิจกรรมจัดหายุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของ สตช.

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการขยายและเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย (Network Service Provider) ระบบวิทยุสื่อสารแบบดิจิทัล Long Term Evolution(LTE) จากโครงการฯ ระยะที่ 2 ให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงในการสื่อสาร สำหรับใช้ในการปฏิบัติภารกิจ เช่น งานสืบสวนสวบสวน งานป้องกันปราบปรามที่ต้องใช้ทั้งภาพและเสียง

“สตช.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ ในการยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) จึงได้กำหนดใช้งบประมาณผูกพัน 3 ปี โดยปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ 1,102,892,800 บาท ปีงบ 64 ตั้งไว้ 2,205,785,500 บาท และ ปีงบ 65 ตั้งไว้ 2,205,785,400 บาท รวมทั้งสิ้น 5,514,463,700 บาท”

ทั้งนี้ยังได้รับอนุมัติตามประกาศคณะกรรมการโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการรคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว

โครงการดังกล่าว สำนักงบประมาณมีข้อสังเกตถึง สตช.ว่า ให้ สตช.เร่งจัดทำแผนการจัดหาครุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทด้านความมั่นคง และให้ยืนยันความพร้อมของโครงการดังกล่าว โดยให้มีคุณลักษณะเฉพาะงบประมาณหรือผลการสอบราคา และมีสถานที่/พื้นที่พร้อมที่จะดำเนินการ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด การพิจารณาเป้าหมายและประโยชน์ที่จะได้รับ และท้ายสุดให้จัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ดำเนินการให้เหมาะสมกับความจำเป็นเร่งด่วน

“การขอให้งบประมาณกว่า 5 พันล้านบาทนั้น สตช.มีความจำเป็นเพื่อขยายให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจำนวนมาก ด่านตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่เศรษฐกิจ (AEC) และเพิ่มพื้นที่การใช้งานให้ครบทุกสถานีตำรวจภูธรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย (Network Service Provider) ให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภพสูงในการสื่อสาร”

สำหรับใช้ในการปฏิบัติการภารกิจหลักด้านการสืบสวนสอบสวน งานป้องกันปราบปรามที่ต้องใช้ทั้งภาพและเสียง เพื่อรองรับการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ สตช. และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใหม่ตามแนวทางยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

ที่ผ่านมา สตช.ได้จัดทำโครงการจัดหาและติดตั้งระบบวิทยุสื่อสารดิจิทัลที่มีวงเงินสูงมาแล้ว 2 ระยะ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ ครม.ได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณ ในระยะที่ 1 จำนวน 3,408,000,000 บาท และระยะที่ 2 จำนวน 4,340,000,000 บาท มาแล้ว

“สภาพัฒน์มีข้อสังเกตให้ สตช.พิจารณานำผลการประเมิน โครงการระยะที่ 1 (ปี 2558-2560) และโครงการระยะที่ 2 (ปี 2561-2562) มาปรับเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 ที่จะมีภาระผูกพันงบประมาณในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการฯ และมีความคุ้มค่าของการลงทุน”

นอกจากนั้น ในปัจจุบันพบว่ามีระบบและอุปกรณ์ทางการติดต่อสื่อสารที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหลายหน่วยงาน เช่น ระบบวิทยุสื่อสารของกองทัพไทย ระบบวิทยุสื่อสารของภาคเอกชน/พลเรือน ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ระบบติดตามด้วยดาวเทียมบอกพิกัด (GPS Tracking) ซึ่งสตช.ควรพิจารณาบูรณาการร่วมกันในการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงให้ครอบคุลมและมีประสิทธิภาพทดแทน และต้องพิจารณาแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต และรองรับข้อจำกัดของระบบในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ ภัยพิบัติ หรือภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่อาจส่งผลต่อความเสถียรของระบบจนไม่สามารถใช้งานเพื่อการสื่อสารได้ โดยอาจนำระบบอนาล็อกมาใช้ควบคู่กัน เป็นต้น

มีรายงานว่า สำหรับกรอบหลักการการจัดหาโครงการระยะที่ 1 (ปี 2558-2560) และโครงการระยะที่ 2 (ปี 2561-2562) เพื่อใช้ทดแทนระบบแอนะล็อกแบบเดิมที่ใช้งานมานานกว่า 50 ปี เน้นสามารถป้องกันการดักฟังข้อมูลกรณีที่มีการส่งข้อมูลที่เป็นความลับได้

“มีการระบุว่า จะใช้ระบบดิจิทัลใหม่มาตรฐาน 4G LTE เช่นเดียวกับประเทศชั้นนำของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เกาหลี จีน สามารถรองรับการสื่อสารด้วยเสียงแบบเป็นกลุ่ม ป้องกันการดักฟัง สามารถส่งและแสดงพิกัด GPS รวมถึงสามารถรับส่งภาพ ข้อความและวิดีโอ และสามารถป้องกันข้อมูลการสื่อสารความลับได้ดีกว่าระบบเก่า”

ที่ผ่านมา สตช.ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 800 MHz จากสำนักงาน กสทช.ในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยระยะที่ 1 จะมีการติดตั้งสถานีฐาน 170 สถานี ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่สำคัญต่างๆ โดย สตช.ได้กำหนดให้ใช้ “เสาเมาเออร์” รวมถึงเครือข่ายสารสนเทศความเร็วสูงของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเท่านั้น เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล

“โครงการระยะที่ 1 สตช.ได้จัดหาเครื่องลูกข่ายจำนวน 15,000 เครื่อง แจกจ่ายตำรวจสายงานปราบปราม สายงานปฏิบัติการพิเศษ สายงานควบคุมฝูงชน และให้ศูนย์รับแจ้งเหตุ 191โครงการระยะที่ 2 เป็นการติดตั้งขยายพื้นที่การใช้งานไปยังหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ”

ขณะที่ ระยะที่ 3 วงเงินกว่า 5 พันล้านบาท สตช.มีแผนจะร่วมมือกับสำนักงาน กสทช., กสท. และ ทศท. เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจป้องกันสาธารณภัยต่างๆ สามารถใช้โครงข่ายร่วมกับตำรวจได้ พร้อมกับจะมีการนำอุปกรณ์กล้องติดหมวกและแว่นในลักษณะต่างๆ เข้าในใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่สามารถถ่ายภาพแบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้คับบัญชาสามารถสั่งการปฏิบัติการต่างๆ ได้โดยทันที โดยจะเป็นการป้องกันความผิดพลาดและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ วงเงินรวมโครงการทั้ง 3 ระยะ สตช.จะได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 13,262,463,700 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น