อดีต รมว.คลังชำแหละ ร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP)ฉบับใหม่ ปล่อยผี ให้โครงการบางประเภทพ้นจากการกำกับควบคุมและถ่วงดุลตรวจสอบ เปิดทางให้นายทุนใหญ่ที่หนุนหลังนักการเมืองเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ได้ง่าย เลวร้ายถึงขั้นปล้นชาติปล้นแผ่นดิน
วันนี้(25 ธ.ค.) นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala แสดงความเห็นกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติ(สนช.) ในวันนี้ จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ…..ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ว่า ร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2561 ที่รัฐบาลประยุทธ์เสนอต่อ สนช. ที่จะมีการพิจารณากันวันนี้ มีการแก้ไข พ.ร.บ. 2556 โดยทำให้ขอบเขตของมาตรา 7 แคบลงอย่างมาก
มาตรา 7 เดิมนั้น บรรยายแบบเฉียบขาด 'พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ' ยกเว้นเฉพาะปิโตรเลียมและเหมืองแร่ เพราะมีกฎหมายเฉพาะต่างหาก จึงประสงค์ให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมภายใต้แสงอาทิตย์และแสงจันทร์ ยกเว้นเฉพาะที่ไม่ถึง 1 พันล้านบาท
แต่ร่างใหม่ของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แก้ไขมาตรา 7 ถึงแม้จะบรรยายกิจกรรมอย่างขึงขัง โดยแตกออกเป็นบัญชีหางว่าว 12 วงเล็บ แต่มีหัวเรื่องกำกับเอาไว้ บีบแคบให้เหลือแต่เฉพาะโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ
ตามข้อมูลที่นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง อธิบายแก่สื่อมวลชน ร่างใหม่นี่จะมีผลกระทบอย่างจังต่อที่ราชพัสดุ
"ร่างกฎหมาย PPP ฉบับใหม่ ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่มีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมถึงกรณีการใช้ทรัพย์สินหรือให้เช่าต่อ
ดังนั้น ในกรณีการให้เช่าหรือใช้ทรัพย์สิน จึงไม่ต้องปฏิบัติตามร่างกฎหมาย PPP ฉบับนี้ การนำเสนอโครงการและการอนุมัติจึงเป็นอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และระเบียบของหน่วยงานนั้น"
และคำเตือนของนายประภาศ ก็ตรงกับหลักการและเหตุผลที่ระบุว่า
"โดยที่พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีบทบัญญัติในเรื่องของขอบเขตของโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐอย่างกว้างขวาง อันส่งผลให้มีโครงการร่วมลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะซึ่งเป็นภารกิจของรัฐที่ต้องจัดทำเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่รัฐประสงค์จะสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนต้องเข้ามาสู่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าว ..."
จึงเป็นอันแจ่มแจ้งแดงแจ๋ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ต้องการแยกธุรกิจบางอย่าง ออกไปจากกระบวนการถ่วงดุล และออกไปจากขั้นตอนการกำกับควบคุมโดยหลายหน่วยงาน ที่มีอยู่ในกฎหมายเดิม
ดังที่ผมเขียนไว้ว่า เป็นการสร้างประตูผี เพื่อให้ธุรกิจบางอย่างเล็ดรอดผ่านรูออกไป
เนื่องจากรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลนี้ เคยเป็นมือขวามือซ้ายของบรรดาเจ้าสัว นายทุนระดับชาติ ไม่ว่าในตำแหน่งลูกจ้าง หรือที่ปรึกษา ประชาชนจึงต้องเฝ้าระวังอย่างมาก
ถามว่า ร่างกฎหมายอย่างนี้ ประชาชนได้อะไร?
ผมวิเคราะห์แล้วเห็นว่า น่าตกใจ และอาจจะต้องใช้คำพูดแบบแรง อาจจะกล่าวได้ว่า ถึงขั้นปล้นชาติ ปล้นแผ่นดิน! จริงหรือไม่ ขอให้ผู้อ่านวิเคราะห์กันเอง ตามข้อมูลที่ผมชี้ต่อไปนี้
ต้องเริ่มต้นก่อนว่า การตรากฎหมายร่วมทุนฯ ฉบับแรกในปี 2535 นั้น ทำเพื่ออะไร?
เหตุผลที่ระบุไว้คือ มีการพบว่ากระบวนการอนุญาตให้สัมปทานแก่เอกชน และการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมทำกิจกรรมบางอย่างนั้น ของเดิมหละหลวม ส่วนใหญ่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีคนเดียว และใช้หลักเกณฑ์แต่ละโครงการแตกต่างกัน จึงเสี่ยงต่อการหาประโยชน์ส่วนตน
รัฐบาลอานันท์จึงได้ตรา พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 ให้ถ่วงดุลระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการ กับสภาพัฒน์ฯ และพิจารณาในรูปคณะกรรมการหลายฝ่าย
ยกเว้นเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าไม่ถึง 1 พันล้านบาท
แต่ร่างกฎหมายใหม่จะทำให้บางธุรกิจหลุดออกไปจากวงจรควบคุมของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ไม่ว่าจะเกิน 1 พันบ้านบาทหรือไม่!
ต่อไปนี้ แม้โครงการหมื่นล้าน แสนล้าน หรือล้านล้านบาท ก็หลุดออกไปหมด ไปขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ หรือหัวหน้าหน่วยงานนั้น
เป็นการเปิดฝาชีครั้งใหญ่ ให้นายทุนระดับชาติที่หนุนหลังนักการเมือง เอื้อมมือเข้ามาหยิบอาหารได้ง่าย เพียงแต่นักการเมืองเปลี่ยนกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นคนของตัวเองเท่านั้น
ระบบการถ่วงดุลตรวจสอบ กลไกการกำกับที่เขียนไว้อย่างสง่างามในร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ต่อไปนี้ จะเอื้อมไปไม่ถึง เป็นการปล่อยผีครั้งใหญ่ ผมจึงใช้คำว่าเป็นประตูผี
จึงขอตั้งคำถาม ขอให้ทีมเศรษฐกิจตอบต่อสาธารณะ:-
นโยบายอย่างนี้ของท่าน ประชาชนได้ประโยชน์อะไร? ท่านปลดกระบวนการพิจารณาและถ่วงดุล สำหรับบางธุรกิจ เพื่อรับใช้นายทุน หรือไม่?
ตัวอย่างเรื่องที่ดินโรงงานยาสูบที่ถนนพระราม 4 : มีการวางแผนเป็นขั้นตอนหรือไม่?
ปรับโครงสร้างภาษี - ทำให้บุหรี่ไทยแพงขึ้น - บุหรี่นอกถูกลง - โรงงานยาสูบเปลี่ยนจากกำไร 1 หมื่นล้าน - กลายเป็นขาดทุน - ต้องแก้ไขด่วน - โดยตรากฎหมายจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ - แล้วโอนที่ดินเข้าไปในรัฐวิสาหกิจ - ทั้งที่เขากำลังจะย้ายโรงงานไปอยุธยา - เป็นอย่างนี้หรือไม่?
เมื่อย้ายโรงงาน ที่ดินผืนนี้ ก็จะสามารถร่วมกับนายทุนระดับชาติ พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ แบ่งกำไรกัน วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง รัฐวิสาหกิจได้บ้าง นายทุนระดับชาติได้บ้าง ข้าราชการได้บ้าง ใช่หรือไม่?
และทั้งหมดนี้ จะหลุดออกไปจากกระบวนการกำกับและตรวจสอบของกฎหมายร่วมทุน ไปขึ้นอยู่กับบอร์ดรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ใช่หรือไม่?
ตัวอย่างที่ดินของ ร.ฟ.ท.ที่มักกะสันและศรีราชา อาศัยกฎหมาย อีอีซี ตัดออกไปได้แล้ว แต่เมื่อแก้ไขตามร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับนี้ ต่อไปก็จะลามไปถึงที่ดินที่เหลือได้ทั้งหมด ทั่วประเทศ ใช่หรือไม่?
ตัวอย่างที่ราชพัสดุที่ปัจจุบันอยู่ในครอบครองของรัฐวิสาหกิจ เช่น ปตท. และต้องการจะโยกเอาออกไป เพื่อตั้งเป็นบริษัทลูก เช่น PTTOR ก็จะหลุดออกไปด้วย ใช่หรือไม่?
ตัวอย่างที่ราชพัสดุที่องค์การเภสัชฯ ครอบครอง ถ้าจะร่วมลงทุนกับบริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง เพื่อหาทางผูกขาดการปลูกและค้ากัญชาเพื่อการแพทย์ ก็จะหลุดออกไปเช่นกัน ใช่หรือไม่?
ตัวอย่างที่ราชพัสดุที่ส่วนราชการครอบครอง ไม่ว่ากองทัพ หรือกรมอุทยาน ต่อไปการเอาไปให้เอกชนทำประโยชน์ ปลูกต้นไม้ ทำไร่ หรือสร้างรีสอร์ท พัฒนาเมือง จะหลุดออกไปด้วยหรือเปล่า?
และตัวอย่างที่ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เมื่อวานนี้เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ เคยเอ่ยปากให้ท่านจัดให้กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินในเขตทหารบริเวณกาญจนบุรี ให้เอกชนรายหนึ่งเช่าโดยให้คิดค่าเช่าในราคาถูก
ตัวอย่างทำนองนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะตัดออกไปจากสารบบ ใช่หรือไม่?
ต่อไปนักการเมืองไม่ต้องงอนง้อ ขอร้องรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคลัง เพียงแต่โยกคนของตัวเข้าไปเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ก็จะทำได้อย่างสบาย ใช่หรือไม่?
ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศมีสิทธิได้รับคำตอบจากทีมเศรษฐกิจนี้ ที่ชัดเจน เพราะสิ่งที่พวกท่านกำลังวางแผนอยู่นั้น เป็นทรัพย์แผ่นดิน เป็นของคนไทยทั้งหมดนะครับ
ท่านกำลังให้ของขวัญวันคริสต์มาสที่ขมขื่น มรดกสีดำที่ยาวนาน ไปชั่วลูกชั่วหลานชั่วเหลน หรือเปล่า?
วันที่ 25 ธันวาคม 2561
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ