xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” จี้ กกต.สอบปมโต๊ะจีนเชิงรุก ให้เวลา 1 สัปดาห์ นิ่งเฉยเจอ ม.157

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อดีต กกต.บี้ กกต.รุ่นน้องสอบปมโต๊ะจีน พปชร.เชิงรุก พิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ กม.ให้เวลา 1 สัปดาห์ค้นข้อมูล ขู่เพิกเฉยเจอ ม.157 แฉเป็นชุดผู้ร่วมบริจาค แนะสังคมรู้ทัน พรรคการเมืองใช้ช่องว่างกฎหมาย บริจาคผ่านที่ปรึกษาพิเศษ 72 ล้าน

วันนี้ (23 ธ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการจัดระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐในรูปแบบการจัดโต๊ะจีนแล้วเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายว่า ในมาตรา 73 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่การจัดงานระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ มีข้าราชการการเมืองที่เกี่ยงข้อง 4 รายการ คือ กรณีแรกเป็นโต๊ะจีนในนามนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ มีจำนวน 4 โต๊ะ 12 ล้านบาท ต้องตรวจสอบว่าได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเรี่ยไรหรือไม่ หรือหากตัวรัฐมนตรีเป็นผู้บริจาคเอง ตามกฎหมายระบุว่าจะบริจาคให้พรรคการเมืองได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ดังนั้น อีก 2 ล้านบาทเป็นเงินที่ได้มาจากไหน

ส่วนกรณีที่ 2 เป็นโต๊ะจีนของนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และหัวหน้าพรรค จำนวน 1 โต๊ะ 3 ล้านบาท กรณีนี้ตรวจสอบไม่ยาก เพราะหากนายอุตตมเป็นผู้บริจาคเองก็จบ แต่หากไปเรี่ยไรจากคนอื่นก็จะผิดในฐานะใช้ตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรมไปเรี่ยไรเงิน

ส่วนกรณีนายณพพงศ์ ธีระวร หรือ ดร.เอก ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ และรมว.อุตสาหกรรม มีความลึกลับซับซ้อน เพราะมีการบริจาคจำนวนเงินที่สูงมากที่สุด มีการระบุว่าจองโต๊ะถึง 24 โต๊ะ 72 ล้านบาท หาก ดร.เอก เป็นที่ปรึกษาของสองรัฐมนตรีจริง และจ่ายเงินของตนเองจริง จะบริจาคได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จึงเป็นภาระที่ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจากการเรี่ยไรหรือไม่ แต่ในทางนิตินัยกลับพบว่า ดร.เอก เป็นที่ปรึกษาจากการแต่งตั้งพิเศษของรัฐมนตรีพาณิชย์ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ถือว่าเป็นที่รับรู้ของสังคมเพราะมีการให้เครดิตตัวเองบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเป็นที่ปรึกษา ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง จึงไม่เข้าข่ายข้าราชการการเมือง

“มาตรา 73 ไม่ครอบคุมถึง เอาผิดไม่ได้ แต่ผมอยากชี้ให้สังคมเห็นว่ามีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อทำหน้าที่หาเงินเข้าพรรค ดังนั้น คนที่เป็นรัฐมนตรีคนที่มีคำสั่งแต่งตั้ง ดร.เอก ต้องรู้จักละอาย และรับผิดชอบในเรื่องนี้ และกรรมการบริหารพรรคในฐานะที่เป็นองค์รวมของกิจกรรมนี้ ต้องไปตรวจสอบว่ามีใครชักชวน ให้มาร่วมบริจาคหรือไม่”

ส่วนรายการที่ 4 คือ กรรมการบริหารพรรค 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท ซึ่งมี 7 คน ใน 26 คน ที่เป็นข้าราชการการเมือง จึงต้อบไปตรวจสอบว่า ทั้ง 7 คนนี้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปชักชวนเรี่ยไรหรือไม่ ตนถือว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะกรรมการบริหารพรรคด้วย ซึ่งต้องดูตามกฎหมายว่าจะพาดพิงถืงกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ซึ่งในมาตราที่ 127 กำหนดโทษไว้ชัดว่าใครทำผิดมาตรา 73 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี เรื่องนี้จึงต้องเดินหน้าต่อ และทั้ง7คน ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาความผิด แต่ยังไม่เข้าข่ายถูกยุบพรรคพลังประชารัฐเพราะกฎหมายมุ่งไปที่ตัวบุคคล

“ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และท้ายาย กกต.ว่าจะจัดการอย่างไร เพราะเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง แม้จะมีผู้บริหารของ กกต.บางคน พูดว่า ระหว่างที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะทำอะไรก็ได้ จะออกมาจากใครก็ตามขอให้กลับไปดูกฎหมายใหม่ เพราะในกฎหมาย กกต.มาตรา 22 วรรครองสุดท้าย ระบุไว้ชัดเจนว่า ในการควบคุม กำกับ ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ถือเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการที่จะดำเนินการสอดส่อง สืบสวน หรือไต่สวน เพื่อป้องกันและขจัดการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันใดที่อาจก่อให้เกิความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ซึ่งมาตรานี้เป็นไม้เด็ดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจ กกต.ไว้”

นายสมชัยยังขอให้ กกต.อย่าทำงานเชิงรับ แต่ต้องติดต่อกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อขอดูรายชื่อแขกที่ร่วมงานทั้งหมด แผนผังจากออแกไนซ์ และต้องขอดูกล้องวงจรปิดภายในงานว่ามีใครบ้าง สื่อที่ลงข่าวว่าได้แผนผังมาอย่างไร ซึ่งจะให้เวลา กกต.ในการรวบรวมข้อมูล 1 สัปดาห์ ถ้าหากยังไม่คิดทำอะไร อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผิดมาตรา 157 เพราะสังคมอยากเห็นการทำงานเชิงรุกของ กกต. เพื่อให้เห็นว่ากฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่นอนรอว่าเมื่อไหร่จะครบ 60 วัน ที่พรรคการเมืองจะส่งรายละเอียดมาให้ เพราะประเด็นนี้เป็นที่สงสัยของสังคม มีการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ และข้าราชการการเมืองไปทำให้เกิดประโยชน์และความได้เปรียบเสียเปรีนบในการเลือกตั้ง กกต.จะนิ่งเฉยไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเสื่อมไปมากกว่านี้



กำลังโหลดความคิดเห็น