xs
xsm
sm
md
lg

พรรคฯหนุนป้ายหาเสียงขึ้นรูปคู่คนในบัญชีรายชื่อ จี้ หาเสียงเท็จโซเชียลแจกใบส้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ชินวรณ์” เผย พรรคส่วนใหญ่หนุนป้ายหาเสียงขึ้นรูปคู่บุคคลในระบบบัญชีรายชื่อ หนุนข้อจำกัดป้ายกันโฆษณาชวนเชื่อ จี้ กำหนดโทษ “ใบส้ม” หาเสียงเท็จทางโซเชียล “ปิยบุตร” โวย รมต. ได้เปรียบพรรค จี้ ปลดล็อกคำสั่งกระทบสื่อ

วันนี้ (19 ธ.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการหารือกับ กกต. ช่วงเช้า ว่า มีการหารือเกี่ยวกับวงเงินค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งโดยเห็นว่าวงเงิน 1.5 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่เหมาะสมแล้ว แต่หากจะกำหนดไว้ไม่เกิน 2 ล้าน ก็ไม่ติดใจอะไร แต่ต้องมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายตามกฎหมายอย่างแท้จริง

ส่วนหลักเกณฑ์การติดป้ายหาเสียง นอกจากรูปผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรค หรือบุคคลที่พรรคเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว นายชินวรณ์ บอกว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่สนับสนุนให้ขึ้นรูปคู่กับบุคคลในระบบบัญชีรายชื่อได้ด้วย เพราะเป็นคนดี เด่น ดัง มีความสามารถ จึงควรเป็นดุลพินิจของแต่ละพรรคการเมืองที่จะพิจารณาว่าจะใช้รูปบุคคลใดในบัญชีรายชื่อขึ้นรูปคู่กับผู้สมัคร ส่วนการกำหนดจำนวนป้ายหาเสียงให้มีจำนวนเป็น 2 เท่าของหน่วยเลือกตั้งในเขต และกำหนดขนาดป้ายหาเสียงให้เท่าเทียมกัน รวมถึงการจัดโซนติดป้ายหาเสียง ก็ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง จะได้ไม่มุ่งเน้นทำป้ายเพื่อโฆษณาชวนเชื่อเพียงอย่างเดียว และหวังว่า กกต. ต้องเคร่งครัดในการดำเนินการตามกฎหมาย

นายชินวรณ์ ยังกล่าวถึงการประชุมในภาคบ่าย ว่า เป็นเรื่องให้ความสำคัญที่สุด เกี่ยวกับการหาเสียงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ โซเชียลมีเดีย ซึ่งควรมีมาตรฐานกติกาให้ชัดเจน โดยเฉพาะการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งข้อมูลอันเป็นเท็จ หากพบการกระทำผิดให้มีมาตรการระงับการเผยแพร่ทันที และให้ระงับสิทธิสมัครชั่วคราว หรือ ใบส้ม เพื่อดำเนินการกับผู้ก่อเหตุตามกฎหมาย และเสนอให้ยุติการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน เพื่อเผื่อเวลาได้ทัน

ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ได้ตั้งคำถามถึงข้อห้ามที่ไม่ให้ขึ้นรูปผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ทั้งที่ควรมีความเท่าเทียมกับผู้สมัครในระบบแบ่งเขต ขณะเดียวกัน บางพรรคการเมืองที่มีผู้บริหารเป็นรัฐมนตรี หรืออาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ก็มีความได้เปรียบ นอกจากขึ้นรูปบนป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองได้แล้ว ยังมีรูปบนป้ายประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ของรัฐบาลได้ด้วย ถือเป็นความไม่เท่าเทียมกับพรรคการเมืองอื่น และไม่เข้าใจเกี่ยวกับหลักการกำหนดเบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้งต่างกันในแต่ละเขต ส่วนการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ก็ไม่อนุญาตให้ซื้อโฆษณา หลังจากประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ทั้งที่ประหยัดและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ รวมถึงเรียกร้องให้ปลดล็อคคำสั่ง คสช. ที่มีผลต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในช่วงการเลือกตั้ง พร้อมระบุว่า พรรคการเมืองต่างๆ คงรู้สึกเหมือนกันเกี่ยวกับความอึดอัดจากกติกาต่างๆ ที่กำหนดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น