xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” จ่อร้อง สตง.-ป.ป.ช.สอบ “ทีโออาร์” โครงการเตาเผาขยะ กทม.ชี้ พิรุธอื้อ-ราคาเวอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“ศรีสุวรรณ” จ่อร้อง สตง.สอบ “ทีโออาร์” โครงการเตาเผาขยะ กทม. ชี้ ตั้งราคาแพงเวอร์ พิรุธเอื้อประโยชน์-ล็อกสเปกให้บางบริษัท ส่อขัด กม. จัดซื้อจัดจ้าง เซ็ง กทม. ชี้แจงไม่เคลียร์ เลี่ยงตอบประเด็นสำคัญ

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสที่ 20 ธันวาคม 2561 เวลา 10.30 น. สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จะเข้าร้องเรียนต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรับธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ตรวจสอบรายละเอียดของ ร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) โครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอยขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและอ่อนนุช ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณโครงการละ 6,570 ล้านบาท รวม 2 โครงการ มูลค่า 13,140 ล้านบาท ของกองจัดการขยะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ในการจัดทำทีโออาร์ดังกล่าวมีข้อพิรุธหลายประการที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางรายที่วางแผนร่วมกันกับ กทม. อย่างเป็นขั้นเป็นตอน อาทิ การกำหนดราคากลางที่สูงเกินความเป็นจริงถึง 3 เท่าตัว คือ 900 บาทต่อตัน ทั้งๆ ที่ท้องถิ่นอื่นๆ ได้ดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันกับ กทม. แต่ทว่ากลับมีราคากลางที่น้อยกว่า กทม.ถึงราว 3 เท่าตัว อาทิ โรงงานแปรรูปขยะมูลฝอยชุมชนขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ (MW) ต.โนนทอน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งได้สัมปทานสัญญาในรูปแบบ BOT ระยะเวลา 20 ปี เช่นเดียวกับที่กำหนดในร่างทีโออาร์ของ กทม. มีกำลังการกำจัดขยะ 600 ตันต่อวัน ค่ากำจัดขยะเพียงตันละ 250 บาทในปีแรก และกำหนดเพิ่มขึ้น 10% ในทุก 3 ปี หากคำนวณตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว อัตราค่าจ้างกำจัดขยะสูงสุดไม่เกิน 490 บาทต่อตันเท่านั้น ขณะที่โรงเตาเผาขยะเทศบาลนครภูเก็ตในปัจจุบันก็กำหนดอัตราค่าจ้างกำจัดขยะเพียง 300 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ได้กำหนดไว้ในร่างทีโออาร์โครงการเตาเผาขยะมูลฝอยในอีกหลายๆ จังหวัด อีกทั้งทุกโครงการมีการต่อยอดเป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับ กฟผ. หรือ กฟภ. ซึ่งถือเป็นรายได้หลักอีกทางของบริษัทเอกชนที่เข้ามาลงทุนด้วย นอกจากนี้ยังประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การจำกัดไดออกซินที่ไม่เพียงพอ หรือความไม่เหมาะสมของแหล่งที่มาในการสืบราคากลางอันมีลักษณะที่ส่อไปในทางทุจริต ในการร่างทีโออาร์ที่เข้าข่ายล็อคสเปคกีดกันผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งจะยังผลให้รัฐ หรือ กทม. เสียประโยชน์อย่างมหาศาล หากปล่อยให้การกำหนดทีโออาร์ดังกล่าวผ่านพ้นไปและเข้าสู่การประมูลได้ จะเป็นการกระทําผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และขัดต่อมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยชัดแจ้ง

“ก่อนหน้านี้ สมาคมฯได้ทำหนังสือขอให้ รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลขับเคลื่อนด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยทั่วประเทศ ทบทวนร่างทีโออาร์ของ กทม. มาหนหนึ่งแล้ว ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ตอบกลับมาที่สมาคมฯ ว่า ได้ส่งเรื่องให้ กทม. เพื่อชี้แจงประเด็นต่างๆ ตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามคำชี้แจงของ กทม. ผ่านสื่อต่างๆ ก็พบว่า ชี้แจงในลักษณะไม่ตรงประเด็น และหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงข้อสังเกตที่สำคัญหลายเรื่อง จึงจำเป็นต้องพึ่งอำนาจของ สตง. รวมไปถึงจะยื่นร้องเรียนต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เข้ามาร่วมตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย” นายศรีสุวรรณ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น