xs
xsm
sm
md
lg

โบ้ยกันวุ่น การไฟฟ้า-กทม.-กสทช.ถกนำสายไฟลงใต้ดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การไฟฟ้า-กทม.เตรียมผลักดันสายไฟลงดิน แก้ปัญหาสารพัดสายพาดสะพานลอย ลดอันตรายให้ประชาชน รับปัญหาเยอะเพราะรัฐไม่มีอำนาจรื้อถอนทรัพย์สินเอกชน

วันนี้ (6 ธ.ค.) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมเสวนาการแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการเกี่ยวกับความไม่สะดวกในการใช้สะพานลอยในเขต กทม. โดยตัวมีตัวแทนของ กทม. และการไฟฟ้านครหลวง และนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ทั้งนี้ ตัวแทนของ กทม.ให้ความคิดเห็นว่า สะพานลอยเป็นของ กทม. ดังนั้น กทม.จึงมีอำนาจในการรื้อถอนสายสื่อสารที่พาดบนสะพานลอยในลักษณะที่กีดขวางทางสัญจร แต่เนื่องจาก กทม.ไม่ทราบว่าสายเส้นใดเป็นของผู้ประกอบการรายใด จึงไม่กล้าทำการรื้อถอน เพราะจากประสบการณ์ กทม.เคยทำการรื้อถอนสายสื่อสารออก แต่เอกชนผู้เป็นเจ้าของสายสื่อสารได้ทำการฟ้องร้อง และศาลพิพากษาตัดสินให้ กทม.แพ้คดี ทำให้เมื่อเกิดปัญหาสายสื่อสารพาดบนสะพานลอยในลักษณะที่กีดขวางทางสัญจร ทาง กทม.จึงไม่กล้าดำเนินการรื้อถอนสายอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้านครหลวง กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีแผนจะดำเนินการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยทางนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารของ สำนักงาน กสทช.ก็จะส่งเสริมนโยบายนี้ ซึ่งเป็นแผนระยะยาว ในส่วนของแผนระยะสั้นนั้น นโยบายของสำนักงาน กสทช.มีแผนจะดำเนินการมัดรวบสายสื่อสาร ติดป้าย ให้เรียบร้อยว่าเป็นสายของหน่วยงานใด และท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็จะไม่อนุญาตให้มีการพาดสายสื่อสารเพิ่มเติมอีกถ้าไม่ใช่กรณีจำเป็น

ขณะที่ ผู้แทนจากการไฟฟ้านครหลวงระบุว่า ปัญหาของสายสื่อสารที่ไม่ได้รับอนุญาต การไฟฟ้านครหลวงได้ดำเนินการแก้ไขโดยแจ้งเจ้าของสายสื่อสารให้ทำการรื้อถอน ถ้าเจ้าของสายสื่อสารไม่ทำการรื้อถอน การไฟฟ้านครหลวงจะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีไว้ในเบื้องต้น ก่อนที่จะมีการตัดสายสื่อสารเหล่านั้น แต่ประเด็นดังกล่าวการไฟฟ้านครหลวงเคยโดนฟ้องจากเอกชนเจ้าของสายสื่อสารข้อหาละเมิดทรัพย์สิน ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาตัดสินคดีให้การไฟฟ้านครหลวงแพ้คดี ตามข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 39 และมาตรา 44 ที่ให้สิทธิและการคุ้มครองแก่ผู้รับใบอนุญาต

ปัจจุบันนี้ ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสายสื่อสาร ผู้ให้บริการ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบผลกระทบร่วมกันเนื่องจากเป็นภาพรวมของประเทศ และภาคเอกชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยมีความพยายามที่จะตั้งงบประมาณสำหรับจัดเก็บสายสื่อสารเป็นการเฉพาะ

ด้านนายปริญญากล่าวว่า ในประเด็นที่กรุงเทพมหานครได้ทำการรื้อถอนสายสื่อสารแล้วถูกฟ้องร้องและศาลพิพากษาตัดสินแพ้คดี ในความจริงแล้ว กทม.มีอำนาจรื้อถอนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จากสภาพปัญหาและข้อกฎหมายของหน่วยงานต่างๆ ที่นำมาบังคับใช้นั้นมีสภาพที่ขัดกัน ตามหลักแล้วอำนาจของสำนักงาน กสทช. คือ อนุญาตการวางพาดของสายสื่อสาร ส่วนอำนาจการรื้อถอนควรเป็นอำนาจของเจ้าของสะพานลอยตามเขตอำนาจในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร หรือกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท เป็นต้น ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าปัจจุบันการพาดสายสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่มีโทษทางอาญา อำนาจของกฎหมายมีเพียงอำนาจของการสั่งรื้อถอน โดยโทษสูงสุดคือสั่งปรับเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น