xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” อัด คสช.แทรกแซงแบ่งเขตกระทบเลือกตั้ง จี้ “วิษณุ” กล้าเป็นพยานร้องศาลหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หน.ปชป.ฉะ คสช.แทรกแซงแบ่งเขตกระทบเลือกตั้ง ลดความน่าเชื่อถือ กกต. จี้ไม่สุจริตรับผิดชอบ อัดไม่ต่างปี 48 ถาม “วิษณุ” ให้ร้องศาลปกครอง กล้าเป็นพยานหรือไม่ เชื่อ ปชช.รังเกียจเอาเปรียบ คาด 4 รมต.ออกหลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ถาม “บิ๊กตู่” ออกตามไหม

วันนี้ (30 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ว่ามีหลายจังหวัดที่มีการวิจารณ์อยู่ โดยที่ จ.สุโขทัยเป็นรูปธรรมที่สุด เพราะจำนวน ส.ส.ไม่ได้ลด และเคยมีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่สอดคล้องกับกฎหมายอยู่แล้ว โดยมีข่าวมาตลอดว่ามีความพยายามแบ่งเขตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคใหม่ ทั้งๆ ที่ กกต.จังหวัดก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่เมื่อ คสช.มีคำสั่งที่ 16/61 ออกมาก็มีการแบ่งเขตตามที่มีการพูดวงในมาตลอด เมื่อดูแผนที่การแบ่งเขตใหม่ก็จะเห็นชัดเจนว่าไม่มีเหตุผลที่จะแบ่งเขตเลือกตั้งแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของ กกต.และกระบวนการเลือกตั้งทั้งกระบวนการ และทำให้ถูกวิจารณ์เรื่องความแทรกแซงต่อเนื่อง รวมถึงมีข้อสงสัยว่าการเลือกตั้งที่ต้องสุจริตเที่ยงธรรม โดยอาศัยความเป็นกลางและความเป็นอิสระของ กกต.จะทำได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ ยอมรับว่าแม้การแบ่งเขตเลือกตั้งหลายพื้นที่จะไม่เป็นไปตามกฎหมายแต่ก็คงดำเนินการอะไรได้ยาก เนื่องจากได้รับความคุ้มครองจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/61 เพราะในคำสั่งดังกล่าวระบุให้การแบ่งเขตของ กกต.ถือเป็นที่สุดและชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องฟ้องสังคมให้เห็นพฤติกรรมแบบนี้ เชื่อว่าประชาชนจะรังเกียจคนที่มีพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบแบบนี้ และหวังว่าจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนท่าทีของตัวเองว่าจะทำต่อไปหรือไม่

ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าหากไม่พอใจเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสามารถไปร้องศาลปกครองได้นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ฝากถามไปยังนายวิษณุว่าทำไมจึงคิดว่าไปศาลปกครองได้ ถ้าชี้แจงว่าเป็นคนเขียนคำสั่ง คสช.เอง และคำสั่งนั้นไม่ได้หมายความว่าศาลปกครองจะปฏิเสธ พรรคก็จะพิจารณาเรื่องการฟ้องศาลปกครอง และต้องถามนายวิษณุด้วยว่าจะไปเป็นพยานให้หรือไม่ ถ้าไปเป็นพยานให้แล้วศาลปกครองไม่รับคำร้องเพราะติดมาตรา 44 นายวิษณุจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะตามช่องทางกฎหมายแล้วเป็นเรื่องยาก หากไม่มีมาตรา 44 มาเกี่ยวข้องการแบ่งเขตเลือกตั้งเช่นนี้ผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เราคงดำเนินการไปแล้ว อย่างไรก็ตาม พรรคไม่อยากเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้แล้วเพราะอยากให้ประชาชนสนใจทิศทางประเทศมากกว่า แต่ที่ต้องพูดเพราะถ้าทำการเมืองแบบนี้เราไม่ได้พัฒนา ไม่ได้เดินหน้า ใครที่ทำเรื่องแบบนี้ไม่มีสิทธิพูดเรื่องธรรมาภิบาล หรือประชาธิปไตยทั้งสิ้น

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังเปรียบเทียบการใช้อำนาจรัฐแทรกแซง กกต.ในปี 2548 กับในปัจจุบันว่า ไม่มีอะไรแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามอดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งที่กาญจนบุรีและสุโขทัย พร้อมสู้ เนื่องจากเสียเปรียบมาหลายครั้งในการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังตอกย้ำว่าเราไม่พยายามพัฒนาการเมือง ไม่พยายามยกระดับการเมือง ยังอยู่ในกรอบความคิดเดิม ๆ อาศัยอำนาจมาใช้ความได้เปรียบและขาดธรรมาภิบาลอย่างรุนแรง พร้อมกับเตือนไปยัง กกต.ว่าใครที่ไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในที่สุดต้องรับผิดชอบ แต่ในยุคนี้มีมาตรา 44 คุ้มครองอยู่ก็อาจทำให้คิดว่าไม่เป็นไร จึงขอเรียกร้องไปยัง กกต.ว่าต้องเป็นหลัก ไม่เช่นนั้นการเมืองไทยจะวนกลับไปสู่วิกฤตอีกครั้ง ซึ่งตนเป็นห่วงและอยากให้ กกต.ออกมาชี้แจงว่าคำร้องใหม่มาจากไหน มีเหตุผลอะไรที่แบ่งเขตเลือกตั้งแบบนี้ ถ้าอธิบายไม่ได้ก็จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งจากนี้ไปเชื่อว่าความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองจะเข้มข้นมากขึ้น เพื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้ง โดยในขณะนี้แม้กรแสดูดจะเบาลงแต่ยังไม่หมด

เมื่อถามว่าถึงเวลาที่ 4 รัฐมนตรีที่เป็นผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐจะลาออกจากตำแหน่งหรือยัง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เขาคงตั้งเป้าเรื่องให้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.บังคับใช้ หรือมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง โดยคาดกันว่าอาจจะลาออกประมาณกลางธันวาคม ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศว่าพร้อมอยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคการเมืองนั้น ไม่น่าแปลกใจ โดยพรรคพร้อมที่จะแข่งขันทางการเมือง ถ้าสี่รัฐมนตรีลาออกต้องถาม พล.อ.ประยุทธ์ด้วยหรือไม่ เพราะประเด็นอยู่ที่มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้งหรือไม่ เนื่องจากใช้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ โดยเพิ่งใช้กับเรื่องการบ่งเขตเลือกตั้ง จึงต้องมีคำถามว่าถ้าคิดจะมีส่วนได้เสียทางการเมือง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล จะมีวิธีการใดที่จะให้ประชาชน มั่นใจว่าไม่มีการช้อำนาจเอื้อประโยชน์หรือทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง เพราะหากต้องการสร้างธรรมาภิบาล สร้างประชาธิปไตย การเลือกตั้งต้องสุจริต เที่ยงธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น