“ประยุทธ์” แจงหลังประชุม สมช. ย้ำทุกกฎหมายต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจน ป้องกันปัญหาอย่างในอดีต ด้านเลขาฯ สมช.เผยผลประชุมเห็นชอบกฎหมาย 2 ฉบับ พ.ร.บ.ความลับราชการ-พ.ร.บ.ก่อการร้ายฯ
วันนี้ (23 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงชาติ (สมช.) ครั้งที่ 3/2561 ว่าที่ประชุม สมช.รับทราบการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติประจำปี 2561 (C-MEX 18) ที่เป็นการฝึกร่วมกันของเหล่าทัพและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีผลสำเร็จไปตามเจตนารมณ์ นอกจากนี้ ที่ประชุม สมช.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายพ.ศ. ... ซึ่งมีข้อสังเกตต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งนี้เราจะต้องทำอย่างไรก็ตามให้เกิดการตรวจสอบการถ่วงดุลในการใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องการคุ้มครอง และเรื่องสิทธิมนุษย์ต่างๆ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ต้องเป็นไปตามนั้น โดยมีขั้นตอนที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างเช่นอดีตที่ผ่าน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยประเด็นปัญหาความมั่นคง ซึ่งวันนี้โลกกำลังจะเปลี่ยนไปสู่สังคมเทคโนโลยีและดิจิทัล เราจะต้องเตรียมหลายอย่างไปพร้อมกัน เพื่อให้มีความเข้มแข็งเพียงพอและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน รวมถึงสิ่งที่จะต้องพิจารณาควบคู่กัน คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทุกกฎหมายจะต้องสอดคล้องและไม่สร้างภาระให้กับประชาชน ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่
นายกฯ กล่าวว่า ตนได้เน้นย้ำในเรื่องกระบวนการแก้ปัญหาบรรเทาภัยพิบัติและให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคง ได้ใช้โอกาสในการฝึกประจำปีเอาเรื่องเหล่านี้ไปทำความเข้าใจ ทั้งนี้ประชาชนต้องเข้าใจว่าเราจะทำให้บ้านเมืองสุขสงบได้อย่างไร
ด้าน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงว่า ในปีหน้านายกฯเน้นย้ำให้ส่วนราชการต่างๆ ให้ความสำคัญในการฝึกต่างๆ ให้เกิดการบูรณการและความร่วมมือซึ่งหลายๆ เรื่องจะเป็นประโยชน์กับประชาชน เช่น เรื่องของภัยพิบัติต่างๆ การแก้ปัญหาทางไซเบอร์ การแก้ปัญหาภัยทางน้ำ อาทิ เรื่องน้ำมันรั่วไหล โดยเรื่องเหล่านี้จะเป็นการฝึกให้หน่วยงานต่างๆ มีขีดความสามารถในการรองรับเรื่องต่างๆ เหล่านี้
พล.อ.วัลลภกล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการพิจารณากฎหมายสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลความมั่นคงของรัฐ และความลับของทางราชการ พ.ศ. ... โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 ระบุว่ารัฐต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ แต่จะเว้นข้อมูลที่เป็นความลับที่เกี่ยวกับทางราชการ จึงต้องออก พ.ร.บ.ฉบับนี้มาเพื่อชี้ให้เห็นว่าอะไรที่เป็นความลับ ความมั่นคงของราชการก็จะสามารถที่จะปกปิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนึกถึงสิทธิของประชาชนก็ยังสามารถร้องเรียนตามระบบยุติธรรมได้ ตามหลักการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้
พล.อ.วัลลภกล่าวว่า อีกฉบับที่มีการพิจารณา คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย พ.ศ. ... ซึ่งปัญหาการก่อการร้าย เป็นปัญหาของโลก เราจะทำอย่างไรให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน จึงพยายามดำเนินการร่างฎหมายมาเพื่อให้มีการปฏิบัติการ บูรณการหน่วยงานให้ปฏิบัติการได้ตั้งแต่ยามปกติ ไปจนถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยสมช.เห็นชอบในหลักการ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ จากนี้จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และกฤษฎีกาต่อไป
“นายกรัฐมนตรีเน้นนโยบายว่า เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติได้ ต้องคำนึงว่าจะต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการป้องกัน ป้องปราม มากกว่าที่จะไปแก้ไขปัญหา ทำยังไงไม่ให้มันเกิดขึ้น รวมทั้งให้มีการตรวจสอบ และถ่วงดุล เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจมากเกินไป” พล.อ.วัลลภกล่าว