xs
xsm
sm
md
lg

ประชุม 10 ปี กม.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สับ บ.น้ำเมา สร้างปัญหา จี้คุมโฆษณาเด็ดขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประชุมใหญ่ 10 ปี พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สับบริษัทน้ำเมาสร้างปัญหาสุขภาพคนไทย ปชช. ตกเป็นเหยื่อบริสุทธิ์ สร้างความเสียหาย ศก. สังคมมหาศาล จวกใช้ ปชช. เป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ จี้ รัฐคุมโฆษณาเด็ดขาดเป็นของขวัญปีใหม่

วันนี้ (22 พ.ย.) ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งที่ 10 ขึ้น ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ประตูน้ำ โดยมีหัวข้อหลักในการประชุม คือ “สิบปี พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 : ประเทศไทยได้อะไร”

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การดื่มสุราไม่เพียงก่อให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพมากมาย แต่ยังทำร้ายผู้บริสุทธิ์และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาประชาชนคือผู้สูญเสีย แต่ไร้ความรับผิดชอบจากบริษัทสุรา อีกทั้งบริษัทสุรายังพยายามใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ และพยายามที่จะแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากการสำรวจการรับรู้ ความคิดเห็น และทัศนคติของประชาชนไทยต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 95 เห็นว่าสุราเป็นสิ่งให้โทษต่อสังคมไทย และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับทุกประเด็นเกี่ยวกับกฎระเบียบ มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี ระบุว่า ประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การลดและป้องกันปัญหาสังคมที่เกิดจากการดื่มเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ร้อยละ 80) รองลงมาคือการรักษาและการให้การช่วยเหลือโดยเร็วแก่ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่ม (ร้อยละ 79.5) และการบูรณาการกฎระเบียบหรือมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 76.) ซึ่งสิบปีหลังจาก พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้ พบว่า จุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง การพบเห็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง พื้นที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีจำนวนเพิ่มขึ้น วันและระยะเวลาที่จำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น ประชาชนกว่าร้อยละ 80 เห็นว่า ไม่ควรปรับแก้กฎหมาย ไม่ควรยกเลิกการควบคุมการนำภาพการดื่มสุราและภาพผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อและเครื่องหมายการค้าสุรา และประชาชนร้อยละ 83 เห็นว่า บริษัทน้ำเมา กำลังใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า อีกทั้งยังได้เสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ ให้เข้มงวดกวดขัน ควบคุมการโฆษณาการทำการตลาด การขายสุราให้เป็นของขวัญปีใหม่ แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป

ด้าน ศ.นพ. อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการ สสส. กล่าวว่า งานวิจัยจากทั่วโลกที่ผ่านมายืนยันและเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สุรา คือสารเสพติดถูกกฎหมายที่เยาวชนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด และเป็นด่านแรกในการเข้าสู่การใช้สารเสพติดชนิดต่างๆ และอบายมุขอื่นๆ ที่บ่อนทำลายสุขภาพ สังคม และประเทศชาติ กรมควบคุมโรค และ สสส. จึงได้เริ่มการประชุมจัดทำร่างกฎหมายเพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 และต่อมาจึงมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ขึ้น ทำให้สามารถผลักดันให้เกิดมาตรการและการดำเนินการต่างๆ เพื่อควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การห้ามบริโภคบนทาง การห้ามขายหรือห้ามบริโภคในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน การห้ามขายหรือบริโภคในรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ การห้ามขายหรือบริโภคในสวนสาธารณะของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ การแสดงรูปแบบของข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนี้ต้องอาศัยความรู้ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมและภาคนโยบาย ซึ่งได้สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งร่วมกันของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย

สำหรับการ การประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งที่ 10 มีการบรรยายพิเศษ 3 หัวข้อ ได้แก่ 1) ข้อแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข สำหรับบุคคลที่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2) มาตรการป้องกันอุตสาหกรรมสุราในการแทรกแซงการออกนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรัฐ (Countermeasures for alcohol industry influence on alcohol control policy) 3) การขับเคลื่อนสังคมไทยเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบสิบปี นอกจากนี้ ยังมีการประชุมนานาทรรศน์ ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพ,มาตรการควบคุมการเข้าถึงสุราของเยาวชน, มาตรการคัดกรองและบำบัดรักษา, ภาษีสุรา เครื่องมือของรัฐในการสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชน, มาตรการระดับชุมชนและบทบาทของภาคประชาชน, มาตรการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และมาตรการควบคุมการตลาดและโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการอภิปรายถึงพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 : ประเทศไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นกว่า 400 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น