xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เต้น! “โรงขยะหมื่นล้าน“ อ่อนนุช-หนองแขม เปิดร่างทีโออาร์ อ้างสูตรราคากลางถูกกว่าเดิม ต่างชาติเข้าคิวประมูลปีหน้า ย้ำคำสั่ง “หน.คสช.” โรงขยะเว้น ไม่ต้องทำอีไอเอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กทม. เต้น! “โรงขยะหมื่นล้าน” อ่อนนุช-หนองแขม เปิดร่างทีโออาร์ อ้างคิดสูตรราคากลางปรับลด “ค่าจ้างกำจัดขยะ” เหลือ 900 บาทต่อตัน ถูกกว่าอัตรา “มจพ.” ที่ปรึกษาฯ กำหนด 1,000 บาทต่อตัน หลังสังคมวิจารณ์เทียบราคากลางสูงกว่าท้องถิ่นอื่นกว่า 3 เท่าตัว ย้ำ รายละเอียดท้องถิ่นอื่นแตกกัน แถมไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์เป็นของราชการเมื่อสิ้นสุด เหมือนของ กทม. ที่ให้เอกชนสร้าง รับจ้าง กทม. เผาใน 20 ปีแล้วยกให้ เผยจีน ญี่ปุ่น ยุโรป เอกชนรายเดิมสนใจโครงการหมื่“หน.คสช.” ยกเว้น ไม่ต้องทำอีไอเอ ทำแค่ไออีอี

วันนี้ (18 พ.ย.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กทม. เผยแพร่บทสัมภาษณ์ นายชาตรี วัฒนเขจร รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ชี้แจงถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อกำหนดในร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม รวม 2 โครงการ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิดดิ้ง) ทั้งในส่วนของการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน การกำหนดระยะเวลาการรับฟังคำวิจารณ์ของผู้ประกอบการ การกำหนดค่าจ้างดำเนินการกำจัดมูลฝอยของโครงการในอัตรา 900 บาทต่อตัน และการกำหนดคะแนนการพิจารณา

โดย โครงการนี้ กองกำจัดมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อมได้ประกาศ ได้ออกประกาศร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) โครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และอ่อนนุช ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิดดิ้ง) วงเงินงบประมาณโครงการละ 6,570 ล้านบาท รวม 2 โครงการ มูลค่า 13,140 ล้านบาท ผ่านเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ www.gprocurement.go.th เพื่อรับฟังคำวิจารณ์ โดยกำหนดระยะเวลารับฟังคำวิจารณ์ระหว่างวันที่ 13-16 พ.ย. 2561

สำหรับโครงการดังกล่าว พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้เสนอ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และได้รับการอนุมัติจาก รมว.มหาดไทย ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ ร่างทีโออาร์ ที่มีรายละเอียด 34 หน้าออกมา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า กทม. ได้กำหนดระยะเวลาฟังคำวิจารณ์ เพียงแค่ 4 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ทั้งที่เป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนด้วยงบประมาณรัฐถึง 6,570 ล้านบาท

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในส่วนของวิธีการคำนวณราคากลางที่กำลังจะเปิดประมูลที่หนองแขมและอ่อนนุชนั้น ได้ระบุปริมาณการกำจัดขยะไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ราคาตันละ 900 บาท หรือ 90,000 บาทต่อวัน คูณด้วยระยะเวลา 20 ปี หรือ 7,300 วัน ตัวเลขราคากลางจึงออกมาที่โครงการละ 6,570 ล้านบาท รวม 13,140 ล้านบาท ซึ่งเดิมวางงบประมาณการจ้างเผาต่อเนื่องรวม 14,660 ล้านบาท เป็นเวลา 20 ปี ซึ่งอ้างอิงราคากลางจากสัญญาที่ กทม. ทำไว้กับโรงกำจัดขยะผลิตกระแสไฟฟ้าที่หนองแขม ในราคา 970 บาทต่อตัน ตั้งแต่ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่ได้ปรับลดลงมาเล็กน้อย ที่ราคา 900 บาท/ตัน หรืองบประมาณ 13,140 ล้านบาท สำหรับ 20 ปีดังกล่าว

“ในวงการทราบกันดี ว่า ราคากำจัดขยะด้วยระบบเตาเผาที่ดำเนินการในปัจจุบัน ไม่ได้แพงขนาดนั้น อย่างที่หน่วยราชการจ้างเอกชนที่ จ.ภูเก็ต ก็อยู่ที่ราว 500 บาท/ตัน หรือที่ จ.ขอนแก่น อยู่ที่เพียง 250 บาท/ตัน เท่านั้น แต่ กทม. กลับใช้ราคา 970 บาท/ตัน เป็นราคาตั้งแต่ยุค คุณชายสุขุมพันธุ์ จนมาถึงยุคนี้ ทั้งที่ต้องไม่ลืมว่าบริษัทที่ได้งานเตาเผาขยะ ยังสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าสร้างรายได้อีกต่อหนึ่งด้วย”

**จ้าง มจพ.เป็นที่ปรึกษาฯจัดทำร่างฯ โครงการเตาเผาขยะ

นายชาตรี ระบุว่า กทม. โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้จ้างที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (IEE) ของโครงการ ซึ่งในข้อกำหนดของงานจ้างที่ปรึกษาฯ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และตามข้อกำหนดของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยได้นำผลการศึกษาเสนอขอความเห็นชอบโครงการต่อคณะกรรมการกลางการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยของกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเรียบร้อยแล้ว

**เปิดร่างทีโออาร์แจงข้อกำหนดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 และร่าง TOR ได้กำหนดประเด็นด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องเสนอรายละเอียดการดำเนินการไว้แล้ว เช่น จะต้องติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อบำบัดน้ำเสียในโครงการน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วให้เป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษ ในส่วนของมลพิษทางเสียงและการสั่นสะเทือนจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งตามที่กฎหมายอื่นกำหนด นอกจากนี้ ยังต้องมีระบบป้องกันมลพิษทางอากาศ รวมทั้งการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในบริเวณโครงการอย่างน้อย 1 จุด และภายนอกโครงการอย่างน้อย 4 จุด ทุกๆ 6 เดือน ประกอบกับ TOR ยังได้กำหนดให้ ก่อนดำเนินการก่อสร้างโครงการและระหว่างดำเนินการบริหารจัดการโครงการ ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการตามข้อกำหนด ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ ประกาศ ระเบียบของทางราชการ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ ทั้งที่มีขึ้นเพื่อบังคับทั้งในปัจจุบันและที่จะมีขึ้นเพื่อบังคับใช้ในอนาคต

**รับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการผ่านเว็บฯตามระเบียบคลัง

ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ 4 วัน นั้น เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 46 ออกตามความในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ต้องนำร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ประกาศทางเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ให้สามารถตรวจสอบและท้วงติง ในระยะเวลาที่กำหนด เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความคิดเห็น และสามารถท้วงติงไปยังหน่วยงานได้โดยตรงกรณีไม่เห็นพ้องต่อร่าง TOR ที่กำหนดไว้ โดยเปิดเผยตัว

*ปรับลดค่าจ้างกำจัดเหลือ 900 บาทต่อตันถูกกว่าอัตราที่ มจพ.กำหนด

นอกจากนี้ กรณีค่าจ้างดำเนินการกำจัดมูลฝอยของโครงการนั้น จากผลการศึกษาโดยที่ปรึกษาโครงการฯ ได้คำนวณค่าความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ที่เอกชนจะสามารถลงทุนได้ในหลายอัตรา โดยได้แนะนำค่าจ้างดำเนินการกำจัดมูลฝอย (Tipping Fee) ในอัตรา 1,000 บาทต่อตัน ซึ่งจะได้ค่าอัตราผลตอบแทนภายในเท่ากับ 9.10 แม้ว่าจะทำให้เอกชนมีกำไรในการบริหารจัดการเตาเผาขยะน้อยกว่าที่ประมาณการ แต่ กทม. ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลัก จึงได้ปรับลดค่าจ้างดำเนินการกำจัดมูลฝอยเหลือ 900 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดที่ยังสามารถบริหารจัดการได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานคร

“ในการดำเนินการ เหมือนลงทุนให้เอกชนนั้น โครงการนี้การก่อสร้างเตาเผาเป็นส่วนที่เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด และเมื่อครบ 20 ปีทรัพย์สินจะเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. แต่งบดังกล่าวเป็นวงเงินงบประมาณที่ กทม.จะจ้างเอกชนเป็นผู้เผาเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งเดิมมีการศึกษาว่าจะจ้างไม่เกินตันละ 1,000 บาท แต่ผู้บริหาร กทม. มองว่า ราคาสูงเกินไป จึงได้ปรับลดลงมาเหลือตันละไม่เกิน 900 บาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม. และกระทรวงมหาดไทยแล้ว เชื่อว่าหากเปิดประมูลแล้วราคาอาจจะถูกลงกว่านี้”

**เตาเผาราคาสูง เพราะใช้เทคโนโลยีเหมาะกับลักษณะขยะใน กทม.

การดำเนินโครงการเตาเผาขยะของ กทม. มีราคาแตกต่างจากเตาเผาขยะของหน่วยงานอื่นๆ นั้น เนื่องจากมีรายละเอียดการดำเนินการที่แตกต่างกัน โดยของหน่วยงานอื่นจะมีการปรับอัตราค่าจ้างตามอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นประมาณ 3% ต่อปี ขณะที่กทม.เป็นอัตราตายตัว ไม่มีการปรับลดตามอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งมีความแตกต่างของเทคโนโลยีระบบเตาเผา และการกำจัดเถ้า ซึ่งเตาเผาของ กทม. เหมาะกับการเผาขยะจากบ้านเรือนซึ่งเป็นขยะสด ขยะเปียกที่มีความชื้นสูง ขณะที่หน่วยงานอื่นเป็นการเผาขยะเก่าในบ่อฝังกลบ ซึ่งมีความชื้นน้อยกว่าและองค์ประกอบของขยะไม่เหมือนกัน รวมทั้งการที่เอกชนบางแห่งเป็นเจ้าของเตาเผาในที่ดินเอกชน ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์เป็นของราชการเมื่อสิ้นสุดโครงการเหมือนของกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ เงื่อนไขของการขายไฟฟ้าจากโครงการของ กทม. ซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็ก (SPP) จะสามารถขายไฟฟ้าให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ในอัตรา 3.66 บาทต่อหน่วย ทำให้มีรายได้จากการขายไฟต่ำกว่าโครงการที่มีขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่สามารถขายไฟฟ้าได้ในอัตรา 5.80 บาทต่อหน่วย ทำให้มีรายได้ต่ำกว่าของหน่วยงานอื่นประมาณ 40% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อค่าจ้างกำจัดมูลฝอย (Tipping Fee) ประกอบกับผู้รับจ้างจะเป็นผู้รับความเสี่ยงในการขายไฟฟ้าเองอีกด้วย

**ใช้เกณฑ์คุณภาพ 90-10 เพื่อให้ได้เทคโนโลยีขั้นสูง ในราคาที่เหมาะสม

สำหรับเกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิคและราคา นั้น กทม.ให้น้ำหนักการพิจารณาด้านคุณภาพและราคา 90-10 เนื่องจากต้องการได้เตาเผาขยะที่มีคุณภาพและใช้เทคนิคขั้นสูง ซึ่งผู้ผลิตและผู้ประกอบการจะต้องมีประสบการณ์ เพื่อไม่ให้โครงการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน หากใช้เกณฑ์ราคามากกว่าคุณภาพ โดยเน้นราคาต่ำสุด อาจจะได้เทคโนโลยีที่ไม่ดี ไม่ได้คุณภาพ และไม่ได้ผู้ที่มีประสบการณ์ ความชำนาญ และความเข้าใจในการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การพิจารณาผลการประกวดราคาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งมีทั้งอาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 5 คน

มีรายงานว่า สำหรับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับสนับสนุนการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยของ อปท. จำนวน 10,000,000,000 บาท ซึ่งมีค่าครุภัณฑ์การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยให้แก่ อปท. จำนวน 6,000,000,000 บาท และ ค่าก่อสร้างการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 4,000,000,000 บาท จะถูกบรรจุอยู่ในเงินอุดหนุนทั่วไปตามหลักเกณฑ์ที่ อปท. จัดทำคำของบประมาณปี 2562 ในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์

**จีน ญี่ปุ่น ยุโรป เอกชนรายเดิมสนใจโครงการหมื่นล้าน ย้ำคำสั่ง หน.คสช.ยกเว้นไม่ต้องทำอีไอเอทำแค่ไออีอี

มีรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการประชุมสภา กทม. เพื่อพิจารณาแผนงานลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ กทม.ยังไม่ดำเนินการ เช่น โรงกำจัดขยะไฟฟ้า ซึ่ง กทม. จะลงทุนก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ในพื้นที่หนองแขมกับอ่อนนุช ซึ่งสภา กทม. จะต้องจัดสรรงบประมาณค่าจ้างเอกชนบริหารจัดการโครงการ จากนั้นถึงจะดำเนินการจัดหาเอกชนตามขั้นตอน พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ 2556 รูปแบบการลงทุนจะเป็นลักษณะเดียวกับโรงเตาเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้าที่หนองแขม พื้นที่ 30 ไร่ ขนาด 300-500 ตันต่อวัน โดยเอกชนจะลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการระยะเวลา 20 ปี กับโรงเตาเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งแรกที่หนองแขม พื้นที่ 30 ไร่ ขนาด 300-500 ตันต่อวัน โดยเอกชนลงทุนก่อสร้างและบริหารโครงการ โดยได้รับผลตอบแทนที่ กทม.จ่ายเป็นค่ากำจัดขยะให้ตลอดอายุสัญญา 20 ปี

“ใช้ที่ดินของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขมเดิม แต่ละแห่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่า จะเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2562-2564 โครงการจะเดินหน้าได้เร็ว เพราะได้รับการยกเว้นตามคำสั่งหัวหน้า คสช.และประกาศของกระทรวงมหาดไทย ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA จะทำแค่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ท้องถิ่นหาผู้ลงทุนโรงกำจัดขยะที่สามารถผลิตไฟฟ้าไว้ใช้งานได้”

แหล่งข่าวระดับสูงจาก กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติ ให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงขยะไฟฟ้าจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และ ยุโรป รวมถึงเอกชนรายเดิมที่ กทม.จ้าง ขนขยะไปฝังกลบก็สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ได้แก่ บริษัท กลุ่ม 77 จำกัดของตระกูลสะสมทรัพย์ รับขนขยะที่หนองแขมกับสายไหมไปกำจัดที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และบริษัท ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ จำกัด รับขนขยะที่อ่อนนุช ไปกำจัดที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเมื่อโรงขยะไฟฟ้าแล้วเสร็จ ใน 3 ปีข้างหน้า กทม.จะยกเลิกการฝังกลบ หากเอกชนรายเดิมทั้ง 2 รายไม่เข้าประมูลก็หมดสิทธิ์รับงานของ กทม. เช่นเดียวกับบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้ากำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม ซึ่งปัจจุบันบริษัทรับขยะจาก กทม.ใน 5 เขต ได้แก่ ทวีวัฒนา หนองแขม จอมทอง ภาษีเจริญ และ บางกอกใหญ่ ในปริมาณ 500 ตันต่อวัน ก็ให้ความสนใจโครงการนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น