xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ออก ม.44 เว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรบางกรณี-ยกเลิกคำสั่ง 1/60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คสช.ประกาศใช้ ม.44 ยกเลิกคำสั่ง คสช.1/2560 กำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่น หลัง ม.สุโขทัยฯ แก้ปัญหาภายในเรียบร้อย พร้อมยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรบางกรณี สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

วันนี้ (16 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2561 เรื่องยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2560 ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2560 เรื่องการกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่น ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พุทธศักราช 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาภายในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิขอลาออกจากตำแหน่งจนทำให้เหลือกรรมการไม่ครบองค์ประกอบตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2521 นั้น ขณะนี้เหตุสำคัญอันเป็นปัญหาภายในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2560 เรื่องการกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่น ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พุทธศักราช 2559 สำหรับกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่าสมควรยกเลิกประกาศกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่นฉบับอื่นใด ให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีแล้วรายงานให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบ

และยังมีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2561 เรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรบางกรณี โดยที่พันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นเครื่องมือสําคัญในการดํารงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงินและเสถียรภาพ ของระบบสถาบันการเงิน ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ผ่านมามุ่งหมายให้มีการพัฒนาตลาดพันธบัตร ให้มีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับการระดมทุนและการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน อันจะมีผลให้การกู้ยืมเงินผ่านตลาดตราสารหนี้ของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ภาครัฐจึงได้มีการกําหนดมาตรการทางภาษีต่อนิติบุคคลต่างประเทศที่มีการลงทุนในตลาดพันธบัตรของประเทศไทยเพื่อดูแลให้ปริมาณเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวควรนํามาใช้บังคับแก่พันธบัตรของรัฐบาลให้เป็นอย่างเดียวกัน เพื่อมิให้เกิดความสับสนแก่นักลงทุน อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาหลักการและนโยบายที่มุ่งหมายให้พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีสถานะและได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกัน สมควรยกเว้นภาษีเงินได้พึงประเมินสําหรับดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินอันจะส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแหงชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สําหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและดอกเบี้ย พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อ 2 เพื่อประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สําหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553 จนถึงวันที่คําสั่งฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

ข้อ 3 ให้คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496

ข้อ 4 ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้

ข้อ 5 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป




กำลังโหลดความคิดเห็น