xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.รับสุญญากาศ ขอนายก-กก.สภามหา'ลัยชะลอลาออก หลังยืดบังคับใช้ยื่นบัญชี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ (แฟ้มภาพ)
รมช.ศธ.วอนนายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยชะลอลาออก หลัง ป.ป.ช.ยืดบังคับใช้ 60 วันปมยื่นทรัพย์สิน ระบุสุญญากาศแน่ถ้ารั้งไม่ได้ แนะเทียบอำนาจหน้าที่ อย่าแค่ตำแหน่ง

วันนี้ (13 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะลาออกหลังต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามประกาศ ป.ป.ช. ว่าหลังจาก ป.ป.ช.ขยายเวลาบังคับใช้ประกาศ ป.ป.ช.ออกไป 60 วัน ทำให้มีเวลาที่จะไปหาทางออก และทำให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีโอกาส ขณะนี้ตนพยายามที่จะส่งข่าวไปยังนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกแห่งว่าอย่าเพิ่งลาออก รอให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับ ป.ป.ช.ได้หาทางออกกันก่อน อย่างที่ทราบกันผลกระทบมันมากกว่าที่เราคิดไว้เยอะ อย่างน้อยการที่ ป.ป.ช.ยืดออกไป 60 วัน จะได้มีเวลาหารือกันมากขึ้นซึ่งน่าเห็นใจ ป.ป.ช.เหมือนกันว่าจะหาทางออกอย่างไร เนื่องจากต้องทำตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.อย่างเดียว ดังนั้น มันต้องมาช่วยกันทั้งทางรัฐบาล และ ป.ป.ช. เช่น จะแก้ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ใหม่หรือไม่ ก็ต้องใช้เวลา หรือบางคนเสนอให้ใช้มาตรา 44 เป็นเรื่องที่ต้องไปคุยและตกลงกัน

“ผมคิดว่าถ้าจะแก้ต้องแก้ทั้งกระบิ จะมายกเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่กลุ่มอื่นๆ อย่างองค์การมหาชนไม่ให้ก็จะเป็นประเด็นอีก ดังนั้น ขอให้ใจเย็นนิดหนึ่ง อย่าเพิ่งลาออกตอนนี้ ถ้าลาออกกันเยอะๆ มันจะเกิดสุญญากาศ องค์ประชุมจะไม่ครบมันจะลำบาก เพราะสภามหาวิทยาลัยต้องอนุมัติหลักสูตรซึ่งมีการเสนอเข้าในที่ประชุมทุกครั้ง หรือตำแหน่งทางวิชาการที่มีการพิจารณากันทุกเดือน จะทำให้มีผลกระทบแน่นอน” นพ.อุดมกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงเวลา 60 วันที่ยืดออกไป หากนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยยืนยันจะลาออก จะเพียงพอในการหาคนใหม่มาทดแทนหรือไม่ นพ.อุดมกล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ทันอยู่ดี การยืด 60 วัน ทำให้คนที่คิดจะลาออกมีเวลาพิจารณามากขึ้น เพียงแต่ถ้ายังไม่พอใจสิ่งที่เราจะปรับให้ เขาก็มีสิทธิ์จะลาออกอยู่ดี ซึ่งคงเป็นช่วงท้ายๆ ในระยะเวลา 60 วัน แต่กระบวนการสรรหาใหม่เร็วสุดต้องใช้เวลา 2 เดือน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ขอว่าอย่าเพิ่งลาออก เพราะรัฐบาลเต็มที่อยู่แล้วว่าต้องพยายามหาทางออกให้ได้

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตอนที่ ป.ป.ช.ทำประกาศไม่ได้มาปรึกษากับทางกระทรวงศึกษาธิการ เพราะ ป.ป.ช.ต้องทำ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยเขียนไว้กว้างๆ ว่าต้องเป็นผู้บริหารระดับสูง ส่วนเป็นใครบ้าง ป.ป.ช.เป็นผู้ตีความ ตนคิดว่าการเทียบตำแหน่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทีเดียว แต่ต้องเอาอำนาจหน้าที่เป็นหลัก สภามหาวิทยาลัยอนุมัติแต่หลักสูตรและตำแหน่งต่างๆ ไม่มีสิทธิ์อนุมัติงบประมาณ แค่เห็นชอบเพื่อส่งมาให้สำนักงบประมาณ เป็นเพียงทางผ่านเฉยๆ ไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรเกี่ยวกับเรื่องเงินเลย แต่พอ ป.ป.ช.เทียบเอาตำแหน่งเป็นหลักทั้งที่บางตำแหน่งไม่เกี่ยวข้องเลย มันจึงเกิดผลกระทบ เป็นความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น