รองเลขาฯ กกต.ชวนพรรคการเมืองประชุม 22 พ.ย. ดูสาธิตมินิไพรมารี แจงทุกพรรคยังตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่ได้ เหตุยังไม่มีประกาศแบ่งเขต ดักคอวันประชุมอย่าใช้สำนักงานพัวพันการเมือง
วันนี้ (13 พ.ย.) นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. เป็นประธานประชุมชี้แจงพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ 7 พรรค ประกอบด้วย พรรคคลองไทย พรรคแผ่นดินธรรม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชานิยม พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยรุ่งเรือง ซึ่งพรรคส่งตัวแทนพรรคเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ นายวัชระ กรรณิการ์ ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น
นายแสวงกล่าวว่า เมื่อได้รับการรับรองเป็นพรรคการเมืองแล้วสามารถดำเนินกิจการการเมืองภายใต้บรรยากาศคลายล็อก คือ ทำได้เท่าที่คำสั่ง คสช.ที่ 53/60 และ 13/61 อนุญาตไว้รวม 6 กิจกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ต้องแจ้ง กกต.ก่อนดำเนินการไม่น้อยกว่า 5 วัน ถ้าพรรคต้องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้เริ่มรับสมัครสมาชิกได้ทันที และหากต้องการส่งผู้สมัครทั่วประเทศต้องมีตัวแทน 77 จังหวัด หรือมีสมาชิกจังหวัดละ 101 คน จำนวนที่ปลอดภัยคือควรมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 8,000-10,000 คน เพราะมีโอกาสที่สมาชิกจะซ้ำซ้อนกันเนื่องจากทุกพรรคเริ่มหาสมาชิกพร้อมกัน และประชาชนอาจลืมว่าสมัครเป็นสมาชิกพรรคอื่นไปแล้ว ขณะนี้ฐานข้อมูลของ กกต.มีข้อมูลสมาชิกพรรค 120,000 คน หลังจากนี้ กกต.จะทำหนังสือถึงพรรคการเมืองให้รายงานข้อมูลสมาชิกเพิ่มเติมทุกๆ วันศุกร์ของสัปดาห์ มาให้ กกต.ตรวจสอบเพื่อป้องกันการซ้ำซ้อน เพราะถ้าชื่อสมาชิกซ้ำกันจะถือว่าเสียสมาชิกทั้งสองพรรค
“ในการหาสมาชิกขอให้แจ้ง กกต.ก่อนลงพื้นที่ 5 วัน เพราะนอกจากเป็นไปตามกฎหมายแล้วยังจะเป็นตั๋วแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในพื้นที่ เพราะถ้าไม่มีการการไปหาสมาชิกก็จะลำบาก และอย่ากระทำฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น การจ้าง ให้เงินทรัพย์สิน หรือให้ประโยชน์อื่นใด โทษถึงขั้นยุบพรรค ทั้งนี้ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่าง กกต.กับพรรคการเมืองในวันที่ 22 พ.ย.นี้ อยากให้พรรคที่จะส่งผู้สมัครมารับฟังกระบวนการส่งผู้สมัครหรือมินิไพรมารี่ เพื่อให้ทราบในเรื่องของการรับฟังความเห็นสมาชิก หัวหน้าสาขาพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการสาธิตให้ดูว่าจะใช้วิธีใดได้บ้าง การโหวต การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ จุดมุ่งหมายเพื่อให้พรรคดำเนินการจัดตั้งสาขา หาสมาชิก และส่งผู้สมัครได้อย่างถูกต้อง ซึ่งพรรคที่จะส่งผู้สมัครควรต้องมาฟัง ไม่มีเรื่องอื่น อย่าเอาสำนักงานไปพัวพันกับเรื่องการเมือง”
ส่วนการจัดตั้งพรรคการเมืองสำนักงานฯ พยายามเร่งรัดการดำเนินการ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เพื่อให้ทุกพรรคสามารถลงเลือกตั้งได้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังเหลือพรรคที่อยู่ระหว่างการจดจัดตั้ง 12 พรรค ซึ่งสำนักงาน กกต.มั่นใจว่าจะสามารถรับจดจัดตั้งทั้ง 12 พรรคให้ทันการเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 นอกจากนั้น หากมีพรรคที่ยื่นจดจัดตั้งก่อนวันที่ 26 พ.ย. สำนักงาน กกต.ก็จะพยายามเร่งดำเนินการให้พรรคส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้อย่างแน่นอน ส่วนพรรคที่ยื่นจดจัดตั้งหลังวันที่ 26 พ.ย.นั้นจะไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เพราะจะถือว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเป็นสมาชิกพรรคน้อยกว่า 90 วันตามกฎหมายกำหนด
ขณะที่ในเรื่องของการจัดตั้งสาขาและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดขอให้เข้าใจว่า การตั้งสาขา 4 ภาคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองเป็นคนละเรื่องกับการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกนี้ ถ้าพรรคการเมืองเดิมมีสาขาตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นๆ อยู่แล้ว จะสามารถพิจารณาให้ความเห็นส่งผู้สมัครได้ทุกเขตในจังหวัดนั้นเท่านั้น ไม่ได้ทุกเขต ทุกจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสาขา ส่วนพรรคใหม่ที่ยังไม่มีสาขาแนะนำให้ตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดใดถ้า มีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตนั้นๆตั้งแต่ 101 คนขึ้นไปสามารถตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ โดยจะให้ความเห็นการส่งผู้สมัครได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆ แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบเรื่องเขตเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เพราะยังไม่มีการประกาศแบ่งเขตออกมา พรรคจึงยังตั้งตัวแทน พรรคประจำจังหวัดไม่ได้ ต้องรอการประกาศเขตเลือกตั้งก่อน
สำหรับประเด็นรายได้ของพรรคการเมืองจะมาจากทุนประเดิม ค่าบำรุงพรรคจากการรับสมัครสมาชิก 50-100 บาท ค่าขายสินค้าที่ระลึกและเงินบริจาค ขณะนี้คำสั่ง คสช.มีผลแค่ผ่อนคลายเท่านั้น เงินบริจาคจึงรับได้จากกรรมการบริหารพรรคเท่าที่จำเป็น หากต้องการรับบริจาคจากบุคคลอื่นต้องขออนุญาต คสช.ก่อน กรณีเงินระดมทุน เช่น จัดทอล์กโชว์ขายโต๊ะ ซึ่งคำสั่ง คสช.ยังไม่ได้ปลดล็อก จึงยังทำไม่ได้แต่การขายสินค้าที่ระลึกของพรรคทำได้เลย อย่าพูดเหมาหรือนำเรื่องระดมทุน ขายสินค้าที่ระลึก และรับบริจาคไปปนกัน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการซักถามของผู้แทนพรรคการเมือง นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ ซักถามถึงประเด็นที่กฎหมายพรรคการเมืองให้พรรคตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิก แต่ในประกาศของนายทะเบียนพรรคการเมืองกลับกำหนดให้พรรครับรองความถูกต้องการมีคุณสมบัติของสมาชิก ถ้ารับรองแล้วพบว่าภายหลังว่าสมาชิกขาดคุณสมบัติ พรรคก็จะมีความผิดด้วย จึงเห็นว่าประกาศนายทะเบียนออกเกินกว่ากฎหมายกำหนด สร้างภาระให้พรรคการเมือง ซึ่งนายแสวงยอมรับว่า กรณีดังกล่าวเป็นภาระของพรรคการเมืองทำให้หลายพรรคกังวลว่าหัวหน้าพรรคอาจจะร่วงเพราะต้องเซ็นรับรองความถูกต้องของสมาชิก ซึ่งสำนักงานอยู่ระหว่างปรับปรุงประกาศฉบับนี้เพื่อไม่ให้งานธุรการเป็นอุปสรรคขัดขวางพรรคการเมือง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นคำถามจากพรรคประชานิยมว่า ขณะนี้ยังไม่มีประกาศเขตเลือกตั้งทำให้ตำรวจที่สนใจร่วมอุดมการณ์การเมืองกับพรรคไม่สามารถลาออกมาสมัครสมาชิกพรรคได้ เนื่องจากไม่สามารถระบุเหตุผลในการลาออกว่าจะมาลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะยังไม่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง รวมถึงประเด็นที่กำหนดให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีต่อเนื่อง 3 ปี โดยนายแสวงชี้แจงว่า ข้าราชการสิทธิสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ ส่วนประเด็นการยื่นแสดงหลักฐานการเสียภาษีนั้น กกต.ประสานให้สรรพากรออกเอกสารรับรองการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ให้ผู้สมัครนำมาใช้ยื่นแสดง โดยปกติสรรพากรจะออกย้อนหลังให้เพียง 1 ปีเท่านั้น ส่วนกรณีนักศึกษาจบใหม่หรือผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ให้ติดต่อขอหนังสือรับรองจากกรมสรรพากรได้เช่นกัน เว้นแต่รายที่ไม่ไปยื่นเสียภาษีประจำปีแล้วจะไปขอชำระภาษีย้อนหลังซึ่งทำไม่ได้