xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” หยันรัฐรีบร้อนประเคนเอราวัณ-บงกช เพื่อเงินทอนสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“รสนา” ฉะ กระทรวงพลังงานออกแบบสัมปทานจำแลง รีบร้อนเดินหน้าประเคนปิโตรเลียมแปลงเอราวัณและบงกช ให้เอกชน 2 กลุ่มเดิม โดยไม่รอฟังศาลปกครองตัดสินเพิกถอนประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม หวังเงินทอนเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่???

เมื่อเวลา 20.46 น. วันที่ 10 พ.ย. 61 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หัวข้อ “รีบร้อนประเคนบงกช เอราวัณ เพื่อเงินทอนสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่???” โดยระบุว่า

กระทรวงพลังงานเดินหน้าออกแบบการประมูลเทียมๆ อ้างว่า เป็นการใช้ระบบใหม่ใน “ระบบแบ่งปันผลผลิต” แต่แท้ที่จริงเป็นแค่การจัดสรรแบ่งเค็กในรูปแบบ “แบ่งกันผลิต” คนละแปลงของผู้รับสัมปทาน 2 เจ้าเดิมเท่านั้น ใช่หรือไม่???

ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยไม่รอฟังศาลปกครองว่าจะตัดสินอย่างไรกับคดีที่กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการปิโตรเลียมถูกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกฟ้องเพิกถอนประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ปี2560 และ กฎกระทรวง กำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ปี 2561

กฎกระทรวง และประกาศหลักเกณฑ์ฯที่นำมาใช้เปิดประมูลกำมะลอครั้งนี้ เป็นการกำหนดเงื่อนไขของหลักเกณฑ์ที่ทำให้ระบบจ้างผลิตเป็นหมัน

ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตถูกกำหนดเงื่อนไขทำให้พื้นที่ทั้งประเทศ ทำได้แค่แปลงบงกช เอราวัณเท่านั้น ที่เหลือกลับไปใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งน่าจะเข้าข่ายเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายปิโตรเลียมที่บัญญัติไม่ให้ต่อสัมปทาน ในแปลงเอราวัณ บงกชหลังหมดสัมปทานในปี 2565, 2566 ใช่หรือไม่???

เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2560 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้มีระบบจ้างผลิต และระบบแบ่งปันผลผลิตเพื่อทำให้รัฐบาลมีทางเลือกมากขึ้นในการทำสัญญาสำรวจผลิตปิโตรเลียมกับเอกชนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ ผู้เกี่ยวข้องได้ทำลายเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ ด้วยการกำหนดเงื่อนไขที่บิดเบี้ยวจนระบบจ้างผลิตทำไม่ได้ และอาศัยระบบแบ่งปันผลผลิต เพียงเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนเดิมให้ได้สิทธิผลิตต่อไปในแปลงเอราวัณ และบงกช โดยการเปลี่ยนป้ายชื่อใหม่จากระบบสัมปทาน เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต แต่เนื้อใน เป็นสัมปทานจำแลงใช่หรือไม่???

ส่วนระบบจ้างผลิตที่รัฐบาลจะได้เป็นเจ้าของปิโตรเลียมทั้งหมด กลับกำหนดเงื่อนไขจนไม่สามารถจ้างผลิตได้ ซึ่งแสดงอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนอย่างแท้จริง ใช่หรือไม่???

กระทรวงพลังงานรีบร้อนเดินหน้าจะประเคนปิโตรเลียม2 แหล่งนี้ให้เอกชน2กลุ่มเดิม แทนที่จะให้เกียรติศาลปกครอง ด้วยการชะลอเพื่อรอคำตัดสินของศาลปกครอง ที่รับคำฟ้องในคดีนี้เสียก่อน ใช่หรือไม่

เหตุใดจึงต้องรีบร้อนยกทรัพยากรปิโตรเลียม 2 แปลงนี้ ที่มีมูลค่ามหาศาลถึงปีละ 2 แสนล้านบาท ให้เอกชนเป็นเวลายาวนานถึง 36 ปี ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ??

ยิ่งรีบร้อนมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้สังคมเกิดคำถามได้ว่า หรือดีลใหญ่นี้ เป็นการหาเงินทอนเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่???


กำลังโหลดความคิดเห็น