อดีต ส.ว.กทม. ตั้งคำถามรัฐบาล มีขบวนการสมคบคิดถ่ายโอนกิจการบุหรี่ของรัฐไปให้เอกชนผูกขาดแทนแบบสุรา และนำที่ดิน 321 ไร่ มาใช้ประโยชน์ โดยการทำให้โรงงานยาสูบขาดทุน เปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเอื้อบุหรี่นอกราคาถูก ทำชาวไร่ยาสูบหมดทางทำมาหากิน
วันนี้ (26 ต.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ “ขบวนการสมคบคิดถ่ายโอนกิจการบุหรี่ของรัฐไปให้เอกชนผูกขาดแทน” โดย น.ส รสนา ตั้งคำถามว่าส่อเจตนาทำลายประโยชน์ของรัฐอย่างร้ายแรง ใช่หรือไม่???
น.ส รสนา ระบุว่า คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้เขียนบทความ2ตอน ว่า “ใครวางแผนฮุบที่ดิน โรงงานยาสูบ 321 ไร่?” โดยพูดถึงบันได 3 ขั้น ในการทำลายกิจการของโรงงานยาสูบที่มีกำไรมาตลอด 78 ปี ให้ขาดทุนได้ในชั่วเวลาปีเดียว ผ่านการวางแผนบันได 3 ขั้น คือ 1) เปลี่ยนวิธีจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ทำให้บุหรี่นอกถูกกว่าบุหรี่ไทย และสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจนทำให้โรงงานยาสูบขาดทุนทันที 2) ออก พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เพื่อแปลงสภาพโรงงานยาสูบเป็นนิติบุคคล 3) อาศัยกระบวนการเปลี่ยนโรงงานยาสูบมาเป็นนิติบุคคล ถ่ายโอนทรัพย์สินของโรงงานยาสูบที่เดิมอยู่กับกรมธนารักษ์มาเป็นของนิติบุคคล ซึ่งมีที่ดินแปลงงามหลังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ 321 ไร่ ติดมาด้วย เป็นการวางแผนให้สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวไปให้เอกชนเช่าระยะยาวหาประโยชน์ได้ในอนาคต ซึงนับว่าคุณธีระชัยสามารถอ่านเจตนาของการกำหนดนโยบายที่ทำให้โรงงานยาสูบขาดทุนได้อย่างมีเหตุมีผลน่ารับฟัง
การกำหนดนโยบายของรัฐบาล คสช.ในครั้งนี้ ที่ทำให้โรงงานยาสูบขาดทุนทันที น่าจะเข้าข่ายเป็นการบ่อนเซาะจากภายในที่ไม่ได้มุ่งหมายเพียงที่ดินแปลงงาม 321 ไร่ แปลงนี้เท่านั้น แต่น่าจะรวมไปถึงเจตนาที่จะถ่ายโอนกิจกรรมผลิต และถ่ายโอนกิจการขายยาสูบที่เคยทำกำไรให้รัฐปีละหมื่นล้านบาทไปให้เป็นกิจการของกลุ่มทุนเอกชนผูกขาดอีกด้วย ใช่หรือไม่
การค้าบุหรี่เป็นกิจการผูกขาดของรัฐ และเป็นการค้าที่มีการควบคุมเข้มงวดเพื่อไม่ให้มีการเพิ่มผู้บริโภคหน้าใหม่เข้ามา แม้มีการควบคุมเข้มงวด แต่ก็ยังสามารถทำกำไรให้โรงงานยาสูบราวหมื่นล้านบาทต่อปี และเป็นแหล่งรายได้ให้รัฐบาลปีละกว่า 8 พันล้านบาท กิจการผลิตบุหรี่ของรัฐบาลได้หล่อเลี้ยงเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบกว่า 5 หมื่นครอบครัว และยังหล่อเลี้ยงแรงงานที่อยู่ในสายการผลิตรวมแล้วเป็นแสนคน
กิจการดังกล่าวน่าจะเป็นที่หมายปองของกลุ่มทุนเอกชนที่อยากได้ไปบริหาร เหมือนกิจการสุราที่อดีตเคยเป็นกิจการผูกขาดของรัฐ แต่ปัจจุบันถูกยกไปให้เป็นกิจการของบริษัทเอกชนผูกขาดไม่กี่ราย
กิจการค้าบุหรี่มีการควบคุมเข้มงวดโดยผู้ค้าต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิต และขอใบอนุญาตค้าบุหรี่ ซึ่งแบ่งประเภทผู้ค้าบุหรี่เป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่ง (ป1) คือ ร้านค้าที่เป็นเอเยนต์ในแต่ละจังหวัด สามารถขายบุหรี่ได้ไม่จำกัดจำนวน
กลุ่มที่ 2 (ป2) คือ ผู้ค้าส่งช่วงในแต่ละอำเภอที่ซื้อต่อมาจาก ป1 จะถูกควบคุมจำนวนครอบครองบุหรี่ไว้คราวละไม่เกิน 1 พันมวน
และกลุ่มที่ 3 (ป3) คือ ร้านค้าปลีกที่ปัจจุบันมีอยู่ 5 แสนราย จะซื้อจากกลุ่ม ป2 และถูกจำกัดจำนวนการครอบครองไว้คราวละ 2 ห่อ (20 ซอง)
ระบบการควบคุมการจำหน่ายบุหรี่กระทำผ่านผู้ค้าบุหรี่ใน3กลุ่มมาอย่างยาวนาน ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2560 ทางโรงงานยาสูบได้ออกประกาศรับสมัครผู้ประกอบการค้าเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ขายส่งยาสูบให้กับโมเดิร์นเทรด (ม1) ขึ้นมาใหม่อีกกลุ่มโดยเข้ามาแทรกกลางอยู่ระหว่างเอเยนต์ (ป1) และผู้ค้าส่งช่วง (ป2 )
ผู้ขายส่ง ม1 สามารถซื้อบุหรี่โดยตรงจาก ยสท. ในราคาใกล้เคียงกับทางเอเยนต์ (ป1) และได้ราคาที่ถูกกว่า ร้านขายส่งช่วง (ป2 )ซึ่งโดยปกติของการค้าบุหรี่ของร้านค้าโมเดิร์นเทรด (modern trade)และร้านค้าส่ง (ป2) ต้องซื้อจากเอเยนต์ คือ ป1 ในจังหวัดนั้นๆ และการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นก็จัดเก็บผ่านร้านเอเยนต์ ป1 แต่การออกประกาศของ ยสท.ตั้ง ม1 ขึ้นมาเป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่ให้ร้านโมเดิร์นเทรด จึงเป็นการออกแบบให้ร้านโมเดิร์นเทรดมาชิงส่วนแบ่งการตลาดของเอเยนต์ (ป1 ) และมีแนวโน้มเบียดขับเอเยนต์ ป1 ในอนาคต โดยร้านค้าส่ง (ป2 ) และร้านค้าปลีก (ป3) สามารถมาซื้อบุหรี่ได้โดยตรงจากร้านโมเดิร์นเทรด (ม1)
การที่ร้านค้าส่ง ม1 มาซื้อบุหรี่โดยตรงจาก ยสท. ที่ กรุงเทพฯ ทำให้ร้านค้าส่ง ม1 ไม่ต้องชำระค่าภาษีท้องถิ่นให้กับอบจ.เหมือนเอเยนต์ ป1 เนื่องจาก กทม.ยังไม่ได้ออกกฎหมายท้องถิ่นของตนเองในการเก็บภาษีบุหรี่
การตั้ง ม1 เข้ามาแทรกกลางระหว่าง ป1 และ ป2 จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเอื้อประโยชน์เพื่อเปิดทางให้กับกลุ่มทุนใหญ่ทั้งโมเดิร์นเทรดและกลุ่มธุรกิจสุรา เข้ามาในวงการค้ายาสูบ โดยมีร้านค้าปลีก (ป3) 5 แสนรายทั่วประเทศเป็นเป้าหมาย ใช่หรือไม่
ในการค้าบุหรี่ผ่านผู้ค้าส่งแต่ละช่วง จะต้องเสียภาษีให้กับท้องถิ่น แต่การซื้อบุหรี่ผ่านระบบของโมเดิร์นเทรด (ม1) จะไม่มีการเสียภาษีให้ท้องถิ่นเพราะเป็นการซื้อตรงที่ กทม.จึงน่าจะกระทบต่อการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นในอนาคต
นอกจากนี้ ในอดีตการขอใบอนุญาตการค้ายาสูบ (ป3) จะต้องมีใบอนุญาต 2 ใบ คือ ใบอนุญาตขายบุหรี่ไทย 1 ใบ และใบอนุญาตขายบุหรี่ต่างประเทศอีก 1 ใบ แต่ปัจจุบันข้อกำหนดถูกเปลี่ยนให้เหลือการขอใบอนุญาตการจำหน่ายยาสูบเพียงใบเดียว ที่สามารถจำหน่ายได้ทั้งบุหรี่ไทยและบุหรี่ต่างประเทศ
ผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะเกิดความย่อหย่อนในการจัดเก็บภาษีจากบุหรี่ต่างประเทศ และเป็นการส่งเสริมโดยทางอ้อมให้คนหันไปสูบบุหรี่นอกมากกว่าบุหรี่ไทย เพราะมีราคาถูกกว่าหรือใกล้เคียงบุหรี่ไทย
การเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดทางให้บุหรี่นอกเข้ามาตีตลาดบุหรี่ไทย ซึ่งเปลี่ยนจากเป็นกิจการที่มีกำไร กลายเป็นขาดทุน และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่อาชีพของชาวไร่ยาสูบ เพราะยอดขายที่ลดลงทำให้กระทบถึงโควต้ารับซื้อใบยาสูบ จนขณะนี้ชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ชาวไร่ยาสูบรายเล็กรายน้อยกำลังถูกทำให้หมดอาชีพ ที่ทำกันต่อเนื่องมาถึง 4 ชั่วรุ่น กว่า 80 ปี และอาจต้องถึงกาลอวสาน และต้องเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น ซึ่งทำได้ยากมากเพราะการเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและการเปลี่ยนฐานลงทุนในการผลิตใบยาสูบไปทำธุรกิจอื่นแทบเป็นไม่ได้เลยในระยะ 10 ปีนี้ และในอนาคตอาจมีแผนการนำเข้าใบยาสูบราคาถูกจากจีนแทนการปลูกเอง รวมทั้งการผลิตอาจเปลี่ยนมือไปสู่กลุ่มทุนที่พร้อมเข้ามาร่วมทุนกับ ยสท.ตามกฎหมายใหม่ที่เปิดช่องให้ในระยะเริ่มแรก และอาจจะเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการการผลิต การจำหน่ายบุหรี่แทนรัฐบาลในที่สุด ก็ย่อมเป็นได้ ไม่ต่างจากในอดีตที่รัฐบาลเลิกโรงงานผลิตสุรา และยกกิจการให้เอกชนเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่ายแทนรัฐทั้งหมด ซึ่งกลายเป็นกิจการที่สร้างความร่ำรวยให้เอกชนอย่างมหาศาล
หากการขาดทุนของโรงงานยาสูบเกิดขึ้นโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของรัฐบาล คสช. และหากไม่ใช่เกิดจากความจงใจที่จะบริหารให้ขาดทุน เพื่อเป็นเส้นทางไปสู่การยกกิจการนี้ให้เอกชน รัฐบาล คสช.ก็สามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดาย เพียงกลับไปใช้ระบบภาษีแบบเดิม ก็จะสามารถฟื้นฟูกิจการของโรงงานยาสูบให้กลับมามีกำไรอย่างเดิมได้ และสามารถแก้ไขปัญหาชาวไร่ยาสูบนับแสนทั่วประเทศไปพร้อมกัน
แต่ถ้ารัฐบาล คสช.เห็นผลเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ แล้วไม่แก้ไข ยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อให้กิจการดังกล่าวต้องขาดทุนจนลล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา ย่อมต้องถูกตั้งคำถามว่าที่กระทำเช่นนี้เป็นกระบวนการวางแผนถ่ายโอนกิจการที่ได้กำไรของรัฐบาล ไปให้เอกชนร่ำรวยแทน ใช่หรือไม่??
พฤติกรรมเช่นนี้ คงไม่ต่างจากเสนาบดีในอดีตที่กระทำตนเป็นไส้ศึก บ่อนเซาะจากภายในด้วยการลักลอบส่งเสบียงให้กับข้าศึก ที่ปัจจุบันคือธุรกิจบุหรี่นอก และกลุ่มทุนผูกขาดเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ใช่หรือไม่??
นโยบายที่รัฐบาล คสช.ดำเนินการตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ย่อมไม่ต่างจากการเปิดประตูเมืองให้กลุ่มทุนใหญ่เข้ามาโจมตีผลประโยชน์ของประเทศจนทำให้เศรษฐกิจแบบรวยกระจุก จนกระจาย เลวร้ายยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมใช่หรือไม่ ??
และในที่สุด วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ที่คนไทยไม่คาดคิดว่าจะได้พบเห็นอีก ก็อาจจะปะทุขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้