เลขาฯ กกต.แถลงสรุปยอดลงทะเบียนองค์กรเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว.ทั่วประเทศ 476 องค์กร พบมี 6 จว.ไม่มีองค์กรยื่นลงทะเบียน เชื่อไร้ปัญหายังมีผู้สมัครอิสระ คาดเสร็จกระบวนการทั้งหมดกลาง พ.ย.
วันนี้ (25 ต.ค.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงสรุปการยื่นคำขอลงทะเบียนองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั่วประเทศที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศเปิดรับลงทะเบียนองค์กรระหว่างวันที่ 15-24 ต.ค. มีผู้แทนองค์กรมาลงทะเบียนองค์กรจำนวนทั้งสิ้น 476 องค์กร จาก 71 จังหวัดทั่วประเทศ แยกเป็น กลุ่ม 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 51 องค์กร กลุ่ม 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 15 องค์กร กลุ่ม 3 กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข 87 องค์กร กลุ่ม 4 กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 79 องค์กร กลุ่ม 5 กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน / อาชีพอิสระ 26 องค์กร
กลุ่ม 6 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม 18 องค์กร กลุ่ม 7 กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบธุรกิจ หรืออาชีพด้าน การท่องเที่ยว 35 องค์กร กลุ่ม 8 กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ 86 องค์กร กลุ่ม 9 กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม 38 องค์กร กลุ่ม 10 กลุ่มอื่นๆ (ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่นๆ) 41 องค์กร โดยจังหวัดที่มีองค์กรมีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงทะเบียนมากที่สุด 6 อันดับแรก ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 115 องค์กร, สระแก้ว 52 องค์กร, นนทบุรี 18 องค์กร, นครราชสีมา 14 ราชบุรี สมุทรปราการ จังหวัดละ 14 องค์กร
นอกจากนี้มีจังหวัดที่ไม่มีองค์กรมีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาลงทะเบียน จำนวน 6 จังหวัด ประกอบด้วย บึงกาฬ, แม่ฮ่องสอน, ระนอง, เลย, สตูล และอุทัยธานี ซึ่งเชื่อว่าในจังหวัดที่ไม่มีองค์กรมาลงทะเบียนจะไม่มีปัญหา เพราะยังมีผู้สมัครอิสระไปสมัครได้
ส่วนกลุ่มอาชีพผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1. กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข จำนวน 87 องค์กร 2. กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ จำนวน 86 องค์กร 3. กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมงจำนวน 79 องค์กร 4. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง จำนวน 51 องค์กร 5. กลุ่มอื่นๆ (ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่นๆ) จำนวน 41 องค์กร โดยหลังปิดรับลงทะเบียนองค์กรแล้วตั้งแต่วันที่ 25-29 ต.ค.ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร จะตรวจสอบคุณสมบัติองค์กร และรายงานสรุปผลการตรวจสอบคุณสมบัติองค์กรนับแต่วันปิดรับการลงทะเบียนองค์กรจากนั้นประกาศผลการลงทะเบียน ขององค์กร ภายใน 20 วัน นับแต่วันปิดรับการลงทะเบียนองค์กร กกต. รวมทั้งการพิจารณาคำร้องคัดค้านขององค์กร คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือน พ.ย. 2561 และก็จะเริ่มกระบวนการรับสมัครซึ่งจะเกิดขึ้นหลังพระราชกฤษฎีกาการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้ โดยองค์กรที่ได้รับการรับรองก็สามารถส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ว.ได้