เลขาฯกกต. เผย ยอดลงทะเบียนองค์กรเสนอชื่อผู้สมัคร สว.14 จว. 29 องค์กรแล้ว กทม.มากสุด 10 องค์กร เตรียมชงเสนอ คสช.คลายล็อกเปิดทางพรรค ระดมทุน-รับบริจาค สัปดาห์หน้า ชี้ นายกฯใช้โซเชียล พีอาร์ตัวเอง ไม่ขัดคำสั่งคสช. เหตุไม่ใช่พรรคฯ
วันนี้ (19ต.ค.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. เปิดเผยถึงการเปิดรับลงทะเบียนองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศเปิดรับลงทะเบียนองค์กรระหว่างวันที่ 15-24 ต.ค.61 ซึ่งปรากฏว่า ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา คือ ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2561 มีผู้แทนองค์กรมาลงทะเบียนองค์กร จำนวน 29 องค์กร จาก 14 จังหวัด ทั่วประเทศ โดยกทม.มากที่สุด 10 องค์กร รองลงคือพัทลุง ศรีสะเกษ 3 สระแก้ว นนทบุรี 2 พิษณุโลก ลำปาง หนองคาย นครปฐม ร้อยเอ็ด ปทุมธานี ตราด ตรัง และกาญจนบุรี จังหวัดละ 1 องค์กร
สำหรับองค์กรที่มีสิทธิลงทะเบียน ประกอบด้วย องค์กรที่กฎหมายจัดตั้ง เช่น สภาทนายความ แพทยสภา อัยการ องค์กรของรัฐต่าง ๆ เป็นต้น และองค์กรที่เป็นนิติบุคคล เช่น สมาคม มูลนิธิ เป็นต้น โดยกกต.เปิดรับลงทะเบียนไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งหากพ้นกำหนดแล้วองค์กรที่ไม่ยื่นลงทะเบียนก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครสว.ได้ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทุกองค์กรมาลงทะเบียน โดยทางกกต.จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้รับทราบโดยทั่วถึง
ส่วนที่มีองค์กรมาลงทะเบียนน้อยจะง่ายต่อการฮั้วหรือไม่นั้น เลขา กกต. กล่าวว่า ไม่ห่วงในเรื่องนี้ เพราะกฎหมายกำหนดมาตรการป้องกันการฮั้วอยู่แล้ว โดย
คนที่มีคะแนนไม่ถึง 10 % 4 คนจะให้เลือกใหม่ และคนที่ไม่มีคะแนนเลยจะไม่มีสิทธิเลือก นอกจากนี้ยังมีผู้สมัครอิสระที่จะมาสมัครในอนาคตด้วย จึงเชื่อว่าจำนวนผู้สมัครไม่น่าจะน้อย เพราะหน้าที่สว.ครั้งนี้มีความสำคัญ เนื่องจากสว.ทั้ง 250 คนร่วมโหวตนายกด้วย
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยังกล่าวด้วยว่า สัปดาห์หน้า สำนักงาน กกต.จะเสนอที่ประชุม กกต.พิจารณาเรื่องการบริจาค ระดมทุนของพรรคการเมืองว่าอะไรบ้างที่ควรเปิดให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมให้ถูกต้องจะได้ไม่ติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย โดยอาจเสนอไปยังคสช.ให้เป็นข้อยกเว้นหรือไม่ เพราะบางกิจกรรมที่มีความจำเป็นต้องเปิดให้ทำได้ เพื่อการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม ทั้งนี้ได้ทราบจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า กำลังเตรียมการเรื่องที่คสช.จะพบกับพรรคการเมือง แม่น้ำห้าสายรวมถึง กกต.ตามข้อ 8 ในคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/60 อยู่แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ส่วนตัวอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็วจะได้มีความชัดเจนในเรื่องการปฏิบัติของพรรคการเมือง
ส่วนกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ใช้สื่อโซเชียลประชาสัมพันธ์ตัวเอง ในขณะที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/61 ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหาเสียงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า กกต.มีหน้าที่ดูแลเฉพาะพรรคการเมือง แต่นายกรัฐมนตรีไม่ใช่พรรคการเมือง จึงไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งนี้