xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีส ถ.แจงดรามาคำสั่งห้ามรถฉุกเฉิน อปท.รับผู้ป่วยกลับบ้าน ยก 3 ประเด็นย้ำทำได้ แต่ต้องป่วยจริงตามกฎ-ระเบียบราชการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อธิบดี สถ.แจงดรามาคำสั่งห้าม อปท.นำรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยกลับบ้าน ยก 3 ประเด็นย้ำทำได้ แต่ต้องป่วยจริงตามกฎ-ระเบียบทางราชการ ย้ำไม่ใช่อยู่รอจนรักษาเสร็จแล้วเอาคนเจ็บกลับบ้าน ยันหากมีบุคคลอื่นที่กำลังรักษาตัวอยู่จะอาศัยกลับบ้านด้วยรถฉุกเฉินสามาถทำได้ หรือบุคคลเดียวกันตอนไปส่งตัวฉุกเฉินรักษาตัวจนหาย สามารถแจ้งให้ท้องถิ่นไปรับกลับได้ พร้อมน้อมรับคำแนะนำอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานการใช้งบฯแผ่นดินอย่างคุ้มค่าและเพื่อประโยชน์สุขประชาชน

วันนี้ (19 ต.ค.) มีรายงานว่า เฟซบุ๊กกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยถึงกรณีที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สั่งห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยกลับบ้านนั้น กรมฯ ต้องขอเรียนว่า การดำเนินการของ อปท.ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” คือ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นภยันตรายต่อการดำรงชีวิต หรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการประเมินการจัดการ และการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรือการป่วยนั้น

นั่นคือรถฉุกเฉินของ อปท.มีวัตถุประสงค์การใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น ดังนั้น หาก อปท. นำรถฉุกเฉินซึ่งมีอยู่เพียงคันเดียวไปให้บริการรับส่งผู้ป่วยตามนัด ซึ่งในปัจจุบันมี อปท.หลายแห่ง ได้ให้บริการรับส่งประชาชนในท้องถิ่นในการเดินทางไปพบแพทย์ตามใบนัดที่กำหนดวันเวลาไว้แล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นกรณีฉุกเฉินแต่อย่างใด และถ้าเกิดมีผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะทำให้ไม่มีรถฉุกเฉินให้บริการ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิตได้ ประกอบกับปัจจุบันได้มี อปท.ถูกหน่วยตรวจสอบทักท้วงและเรียกเงินคืน กรณีนำรถฉุกเฉินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย

“อย่างไรก็ดี กรณีที่ อปท.นำรถฉุกเฉินไปส่งผู้ป่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลแล้วก็ถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจ หาก อปท.จะนำรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยอื่นที่อยู่ที่โรงพยาบาลนั้นกลับบ้าน ก็สามารถทำได้ เนื่องจากรถฉุกเฉินของ อปท.จะต้องเดินทางกลับอยู่แล้ว แต่จะต้องไม่ใช่กรณีอยู่พักรักษาตัวจนหายป่วยสามารถกลับบ้านได้แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงจัดรถไปรับกลับบ้าน”

อีกกรณีหนึ่งคือ กรณีที่ผู้ป่วยนั้นเป็นผู้ที่ยากไร้ หรือผู้ป่วยติดเตียง อปท.ก็สามารถให้การช่วยเหลือได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 โดยผู้ป่วยที่ยากไร้สามารถขอรับการสงเคราะห์จาก อปท.ในการเดินทางไปโรงพยาบาลตามใบนัดของแพทย์ ซึ่ง อปท.ก็สามารถให้ความช่วยเหลือในการรับส่งผู้ป่วยดังกล่าวได้ด้วย

“ขอยืนยันว่า สถ.ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ซึ่งหากท่านใดมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจขอให้สอบถามท้องถิ่นอำเภอหรือท้องถิ่นจังหวัดก่อนได้ ดีกว่าไปด่วนสรุปโดยไม่รู้สาเหตุ อย่างไรก็ตาม เราก็น้อมรับเสียงติติงหรือคำแนะนำอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่าและเป็นไปตามกฎระเบียบทางราชการ ตลอดจนการใช้งบประมาณในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของคนไทยอย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน” อธิบดีกล่าว

เมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ส.สงขลา และนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โพตส์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นต่อกรณี กสถ.มีหนังสือซักซ้อมถึง อปท.ทั่วประเทศ ตอนหนึ่งในหนังสือระบุว่า “ห้ามรถพยาบาลฉุกเฉินของ อปท.ที่ออกหน่วยปฏิบัติการ เพื่อรับผู้ป่วยกลับบ้าน หรือการให้บริการประชาชนที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ หรือออกปฏิบัติการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน หรือใช้กระทำผิดกฎหมาย”

ประเทศไทย..ไม่รู้จะพูดยังไงดี!

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงนามหนังสือสั่งการ “ห้ามรถฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผู้ป่วยกลับบ้าน” เพราะถือว่าไม่ฉุกเฉิน! หากรับถือว่า “ผิด” และให้ดำเนินการทางวินัย

กฎกติกานั้นออกง่าย เพียงแค่ตัวหนังสือไม่กี่บรรทัด แต่ผลกระทบนั้นมหาศาล โรงพยาบาลกับท้องถิ่นนั้นทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขในหลายมิติ คนในกรมเคยรู้ไหม

บางครั้งคนไข้ยากจนมาก คนไข้พิการ ญาติไม่มีรถส่วนตัว จะจ้างรถมารับกลับก็ไม่ต่ำกว่าห้าร้อยบาท โรงพยาบาลหรือญาติก็จะตามรถฉุกเฉิน อบต.มารับกลับบ้าน

บางครั้ง รถฉุกเฉิน อบต.มาส่งคนไข้ฉุกเฉิน โรงพยาบาลก็ฝากพาคนไข้ที่กำลังจะกลับบ้านติดรถกลับไปด้วย

บางครั้งรถฉุกเฉินมาส่งคนไข้เย็บแผล พยาบาลเห็นแผลไม่ใหญ่ ก็รีบบอกรถฉุกเฉิน อบต.ว่า อย่าเพิ่งกลับ รอก่อน เย็บแผลสิบห้านาทีก็เสร็จ ฝากพาคนไข้กลับไปด้วย

บางครั้ง รถพยาบาลของโรงพยาบาลไม่พอ โรงพยาบาลจะนะยังเคยตามรถของเทศบาลจะนะ ช่วยส่งต่อผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินไปโรงพยาบาลจังหวัดก็มี

เราโรงพยาบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีม และมีความสุข ระเบียบที่ไร้หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์เช่นนี้ รับไม่ได้จริงๆ ครับ

จะป้องกันการใช้รถไปในทางส่วนตัวนั้นเข้าใจได้ แต่กฏระเบียบควรเอื้อต่อการทำงานให้สมชื่อ “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” ด้วยนะครับ

มีรายงานด้วยว่า หลังจากมีข้อความเผยแพร่ไปมีบุคลากร ทั้งทางสาธารณสุขและองค์การปรกครองส่วนท้องถิ่น มาแสดงความเห็นผ่านสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนทีไม่เห็นด้วย มองว่า อปท.ปฏิบัติตามข้อทักท้วงจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ก่อนหน้านี้พบว่ามี อปท.บางแห่งปฏิบัติไม่เหมาะสม กรณีของรถฉุกเฉิน ที่นำไปใช้เช่น ส่งเอกสาร ใช้เพื่อรับส่งเข้าหน้าที่ ฯลฯ ควรจะดำเนินการสำหรับการบริการฉุกเฉินเท่านั้น เพราะ สตง.แจ้งว่า ไม่มีหน้าที่รับกลับ

ขณะที่บางส่วนเห็นพ้องว่า หน่วยงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน สาธารณสุข และ กสถ. ควรจะหารือเพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์ให้เกิดกับประโยชน์กับประชาชน “ระเบียบที่ดีต้องมีความยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย หรือกติกาอะไรก็แล้วแต่ มันควรยืดหยุ่นได้ตามเหตุแห่งความเหมาะสมและบริบทในชุมชน การช่วยชีวิตคนไม่ควรอ้างกฎเกณฑ์อะไร ควรจะปฏิบัติด้วยจิตอาสา ในทางราชการก็เหมือนกัน ถ้าจะเอากฏระเบียบมาวัดกันจริงๆ”

มีรายงานด้วยว่า เมื่อปี 2560 สตง.เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดมหาสารคาม ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มหาสารคาม และโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดร้อยเอ็ด ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร้อยเอ็ด โดยเฉพาะการสุ่มสอบถามประชาชนที่เคยใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินในพื้นที่ อปท.ในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 18 แห่ง ที่ได้รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน พบว่า ประชาชนบางรายใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินโดยไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ เช่น การไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามนัด ทั้งโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลนอกเขตจังหวัด การโทรศัพท์เรียกรถพยาบาล (เบอร์โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่/นายก) เพื่อรับกลับบ้าน เป็นต้น และประชาชน 1 ราย มีอาการท้องเสีย ได้ร้องขอให้รถพยาบาลฉุกเฉินของ อปท.พามารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน

“ผลกระทบการดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด อาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ควรได้รับบริการอย่างทันท่วงที และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และ อปท.อาจมีภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการนอกเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ สาเหตุที่ อปท.นำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน และนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเนื่องมาจาก อบจ.มหาสารคาม ไม่มีการติดตามตรวจสอบ และควบคุมให้ อปท.ที่ได้รับรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงาน”

ทั้งนี้ยังพบว่า กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการของ อปท.ได้รับการประสานหรือสั่งการโดยตรงจากผู้บังคับบัญชาให้นำรถไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน หรือนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน

กำลังโหลดความคิดเห็น