xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมไอที เสนอ สนช.แก้ไข กม.ไซเบอร์ ชี้ อำนาจเบ็ดเสร็จขัดธรรมาภิบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาคมไอที เสนอ สนช.แก้เนื้อหา กม.ไซเบอร์ หวั่น ให้อำนาจองค์กรเดียวมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ขัดธรรมาภิบาลและมีประโยชน์ทับซ้อน

วันนี้ (19 ต.ค.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) และสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ นำโดย นายเมธา สุวรรณสาร นายสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ ได้ยื่นหนังสือเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองส่วนบุคคล ต่อ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1

สำหรับความเห็นของสมาคมฯเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1. การไม่มีธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงและการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ของสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพราะการที่เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่ควรจะมีหน้าที่เป็นผู้ให้บริการและไม่ควรต้องมีการแสวงหารายได้และการถือหุ้นกับเอกชน 2. สำนักงานคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่มากเกินไป จนเข้าข่ายผูกขาดรวบอำนาจบริหารจัดการด้านไซเบอร์ของประเทศทั้งหมดมารวมไว้ที่หน่วยงานเดียว โดยควรแยกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ จัดทำนโยบาย ให้บริการ กำกับดูแล ออกจากกันอย่างเด็ดขาดเพื่อความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ และ3.อำนาจหน้าที่ของเลขาธิการคณะกรรมการมีอำนาจมากเกินไป สามารถที่สั่งการหน่วยงานราชการ หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชน

ขณะที่ ข้อเสนอให้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีสาระพอสังเขป อาทิ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีลักษณะผูกขชาดรวบอำนาจทุกอย่างที่เกี่ยวกับการคุ้มครองส่วนบุคคล ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การส่งเสริมและสนับสนุน การเสนอกฎหมาย ให้คำปรึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย อันเป็นการขัดหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง จึงควรแยกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ จัดทำนโยบาย ให้บริการ กำกับดูแล ออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีอำนาจมากครอบคลุมทุกเองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถจะแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ แต่กลไกการควบคุมตรวจสอบยังไม่มีความชัดเจน

ด้าน นายสุรชัย กล่าวว่า กิจการเกี่ยวกับไซเบอร์มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เช่น การบิ๊กดาต้าที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การตรากฎหมายจะต้องคำนึงเรื่องการคุ้มครองประชาชนและรักษาประโยชน์สาธารณะควบคู่กัน ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่หากร่างกฎหมายเข้ามายังสนช.เมื่อไหร ทาง สนช.จะเชิญตัวแทนของสมาคมมาร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น