ชู “ตำราดูลักษณะแมว” วัดอนงคาราม เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กทม.ปี 61 สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา พร้อมอีก 5 สาขา “เพลงทะแยมอญบางกระดี่-ชักพระวัดนางชี-ยาหอมหมอหวาน-บาตรบ้านบาตร-ตะกร้อลอดห่วง” เตรียมเสนอขึ้นบัญชีในระดับชาติประจำปี 62
วันนี้ (17 ต.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ออกประกาศ กทม. เรื่องรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2561 ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ดำเนินการร่วมกับชุมชนเพื่อรวบรวมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในพื้นที่นำไปเผยแพร่แก่ประชาชนเพื่อตระหนักรับรู้ถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ประชาชนสามารถค้นคว้า อ้างอิงและตรวจสอบได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ได้พิจารณา คัดเลือกรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อประกาศให้เป็นมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2561 จำนวน 6 รายการ ซึ่งแบ่งตาม ลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้ง 6 สาขา ดังนี้
1. สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา “ตำราดูลักษณะแมว” ของของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม เขตคลองสาน มีผู้สืบทอดคือ สมาคมแมวไทยโบราณนานาชาติ ชมรมอนุรักษ์แมวโคราช ชมรมสมาคมผู้นิยมเกี่ยวกับแมวไทย เป็นตำราที่บันทึกลักษณะของแมวไทยพันธุ์ที่ท่านให้ความสนใจ และสั่งให้รวบรวมไว้โดยคัดลอกไว้ในสมุดข่อยแบบโบราณ บางแห่งมีลายมือของท่านตรวจแก้ไว้ด้วยพร้อมทั้งให้จำลองภาพแมวชนิดต่างๆ ประกอบกับลักษณะที่บอกไว้ในตำรา
ตำราดูลักษณะวิฬาร์ หรือที่เรียกว่า ตำราดูลักษณะแมวที่ท่านศึกษาค้นคว้านั้น ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและไม่ระบุปีที่แต่ง หรือปีที่คัดลอก บันทึกเรื่องราวไว้ในตำราได้บันทึกถึงแมวไทยโบราณ 23 ชนิด แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดโคลงสี่สุภาพ และกาพย์ฉบัง 16 แบ่งเป็นแมวมงคล 17 ชนิด และแมวให้โทษ 6 ชนิด โดยบรรยายลักษณะ รูปร่าง สีสันของแมวชนิดต่างๆ ลักษณะคุณของแมวดี และโทษของแมวร้าย อันจะเกิดแก่ผู้เลี้ยงหรือเจ้าของไว้ด้วย ปัจจุบันแมวสายพันธ์ต่างๆ ที่ระบุในตำรา กำลังสูญหายเป็นจำนวนมาก คงเหลือไว้ 4 ชนิด ได้แก่ แมววิเชียรมาศ, แมวมาเลศ หรือสีดอกเลา ปัจจุบันเรียกว่า แมวไทยพันธุ์โคราช, แมวศุลักษณ์ หรือทองแดง และแมวโกญจา
2. สาขาศิลปะการแสดง “ทะแยมอญ ชุมชนมอญ บางกระดี่ เขตบางขุนเทียน” ผู้สืบทอด นางกัลยา บุ่งบางกระดี่ หัวหน้าคณะ หงส์ฟ้ารามัญ ทะแยมอญ เป็นชื่อที่คนไทยเรียกการแสดงอย่างหนึ่งของคนมอญ เพี้ยนมาจากภาษามอญว่า “แตะเหยห์” (แตะ - หะ - หยี) หมายถึงการขับร้องเป็นเพลงปฏิพากย์ร้องโต้ตอบกับระหว่างชายหญิงเนื้อร้องเกี่ยวกับพุทธประวัติ คล้ายกับลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ฯลฯ เดิมเป็นภาษามอญล้วนๆ แต่ปัจจุบันได้มีการประยุกต์คำร้องภาษามอญปนไทย ทำนองเพลงสมัยใหม่ ปัจจุบันมีคณะแสดงอยู่คณะเดียว คือ “คณะหงส์ฟ้ารามัญ” วงดนตรีแสดงเรียกว่า “วงโกรจยาม” ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ชิ้น คือ ซอ (โกร) จะเข้มอญ (จยาม) ขลุ่ย (อะโลด) เปิงมาง (ปุงตัง) และฉิ่ง (หะเดหรือ คะเด) สามารถแสดงได้ทั้งงานมงคล และอวมงคล เนื้อหาของคำร้องจึงแล้วแต่งานที่แสดง ซึ่งแฝงไว้ด้วยคำสอนทาง พุทธศาสนา
3. สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล “ประเพณีชักพระวัดนางชี เขตภาษีเจริญ” มีจุดเริ่มต้น และปลายทางการแห่พระบรมสารีริกธาตุที่วัดนางชีโชติการาม เขตภาษีเจริญ มีชุมชนและประชาชนในพื้นที่ฝั่งธนบุรีถือปฏิบัติในงานบุญประเพณีตามกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ชุมชนชาวริมน้ำทำกิจกรรมร่วมกัน ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “งานแห่พระบรมสารริกธาตุ” มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกขึ้นประติษฐานบนบุษบก แตกต่างจากงานชักพระในพื้นที่อื่นที่อัญเชิญพระรพุทธรูป ซึ่งจัดกันวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษา
แต่งานแห่พระบรมสารริกธาตุวัดนางชี จัดในวันแรม 2 ค่ำเดือน 12 มีจุดประสงค์เพี่อให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ และสักการบูชาเพี่อ ความเป็นสิริมงคล รวมไปถุงความเชื่อว่าถ้าปีใดไม่มีการจัดประเพณีชักพระขึ้นจะเกิดอาเพศ ในอดีตจะมีขบวนเรือขาวบ้านมาร่วมพิธีจำนวนมาก ทั้งเรือศิลปะการแสดง เรือการละเล่นพื้นบ้าน และเรือชาวบ้านที่มารอสรงน้ำพระ เรือองค์พระที่แห่ไปทางน้ำมีชาวบ้านฉุดชักเรือแห่ไปตามลำคลอง หลังจากวันลอยกระทงและเทศน์มหาชาติ ต่อมาได้กำหนดจัดงาน 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน12 แรม 2 ค่ำ เดือน 12 และ แรม 3 ค่ำ เดือน 12
4. สาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล "ยาหอมตำรับบ้านหมอหวาน เขตพระนคร" จำหน่ายที่บำรุงชาติศาสนา ยาไทย (บ้านหมอหวาน) เลขที่ 9 ซอยเทศา ถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร เป็นยานแผนไทยโบราณที่นายหวาน รอดม่วง แพทย์แผนโบราณ ได้ปรุงขึ้น เพื่อจำหน่ายย่านเสาชิงช้า ขี่งเป็นสถานที่ปรุงยาก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. 2467 มี 4 ตำรับ ได้แก่ ยาหอมสุรามฤทธิ์ ยาหอมอินทรโอสถ ยาหอมประจักร์ และยาหอมสว่างภพ
ปัจจุบันยาหอมโบราณทั้ง 4 ตำรับของหมอหวาน ที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในอดีต ยังคงได้รับการถ่ายทอดทั้งสูตร กรรมวิธี และกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม มาถึงทายาทรุ่นที่ 4 ถือเป็นคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ และบริบททางวัฒนธรรม มาผสมผสานให้ไม่เป็นเพียงแค่เรื่องของยาเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกึงตัวอาคาร วัตถุต่างๆ ที่อยู่ในบ้าน จนกลายเป็นสภานที่ท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการปรุงยาขาย
5. สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม “บาตรบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย” ชุมซนวัด สุวรรณาราม (บ้านบุ) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย มีนางเมตตา เสลานนท์ เป็นผู้สืบทอด ขันลงหินบ้านบุ คือภาชนะใส่น้ำดื่ม ที่ใช้กันแพร่หลายในสังคมไทยสมัยก่อน เป็นงานฝีมือของช่างโลหะสัมฤทธิ์ (สำริด) ไทย มีส่วนผสมระหว่างทองแดง ดีบุก และเศษขันสัมฤทธิ์ นำโลหะที่ผ่านการหลอมมาตีแผ่ และตีขึ้นรูปเป็นภาชนะ ก่อนจะตกแต่งให้สวยงามโดยนำเบ้าหลอมโลหะที่แกร่งเหมือนหินมาทุบ ห่อผ้าแล้วนำไปขัดผิว เรียกว่า “ขันลงหิน” ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้วิธีการขัดขันด้วยน้ำยาขัดเงาและมอเตอร์ลูกผ้าปั่นแทน ปัจจุบันบ้านเจียม แสงสัจจา ที่ชุมชนบ้านบุ เขตบางกอกน้อย ถือเป็นแหล่งผลิตขันลงหินที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
6. สาชาการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว “ตะกร้อลอดห่วง” โดยมีการบรรจุการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัด กทม. สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันการศึกษา