พรรคภูมิใจไทยลุยสานต่อนโยบาย “ลดอำนาจรัฐ เพื่ออำนาจประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน” งดโต้การเมือง หมดเวลาพูดถึงความขัดแย้ง มุ่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน พร้อมเปิดตัวคณะทำงาน “6 New Blood” หวังคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง
วันนี้ (12 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้แถลงข่าวเปิดตัวคณะทำงาน หรือ New Blood ประกอบด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค รับผิดชอบแนวคิดด้านการเกษตร พ.อ.ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย รับผิดชอบแนวคิดด้านดิจิทัล เวิลด์ นายพะโยม ชินวงศ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน รับผิดชอบแนวคิดด้านการศึกษา นายจุลภาส ทอม เครือโสภณ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจระหว่างประเทศ อดีตกรรมการบริษัท Thai Air asia-X และอดีตทีมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รับผิดชอบแนวคิดด้านการท่องเที่ยวและบริการ และนายสำเริง แหยงกระโทก อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ผู้เชี่ยวชาญระบบสาธารณสุขและศูนย์สุขภาพชุมชน รับผิดชอบแนวคิดด้านสาธารณสุข
โดยนายอนุทินกล่าวว่า ทีมงานดังกล่าวเป็นคณะทำงานของหัวหน้าพรรค และนำเสนอแนวคิดเบื้องต้นก่อนที่จะพัฒนาเป็นนโยบายของพรรคต่อไป ตามสโลแกน “ลดอำนาจรัฐ เพื่ออำนาจประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน” ส่วนตัวพยายามสร้างทีมงานเพื่อทำแนวคิดให้เกิดความเป็นจริง และเป็นนโยบายพรรค เมื่อสามารถประกาศนโยบายนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป และจากนี้พรรคจะไม่มองไปข้างหลัง มีแต่มองไปข้างหน้า เพราะหมดเวลาพูดถึงความขัดแย้ง
“เรื่องข้างหน้าเป็นสิ่งที่ต้องทำ และสมาชิกต้องรับแนวคิดนี้ไป เรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน เพราะปัญหาทั้งทั้งปวง มีจุดเริ่มที่เดียว คือ เงินไม่พอ ท้องไม่อิ่ม เราไปแก้ไขจุดเริ่ม ไม่ใช่แก้จุดกลาง หรือปลาย หากเราแก้ได้จะนำไปสู่ความสงบสุข สามัคคี และความมั่นคงทุกด้าน และจำเป็นจริงๆ พรรคจะไม่พูดการเมือง แต่จะพูดเรื่องแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนเพียงอย่างเดียวเท่านี้” นายอนุทินกล่าว
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกสบาย รวดเร็ว ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ด้วยการลดขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับภาครัฐจนทำให้เกิดความล่าช้า อาทิ กฎระเบียบ เพราะสุดท้ายกว่าประชาชนจะได้อะไรจากภาครัฐก็สายเกินไป
นอกจากนี้ เรื่องการศึกษาซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจะแก้ปัญหาด้วยการพักหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นเวลา 5 ปี เพื่อไม่ให้เกิดมนุษย์ NPL จะได้ไม่เป็นการสร้างภาระให้กับบุคลากรจบใหม่ เมื่อทำงานได้จึงค่อยมาชำระหนี้ซึ่งเป็นการเปิดโอกาส
อย่างไรก็ดี พรรคภูมิใจไทยคิดว่าถ้าตั้งใจลงทุนในบุคลากรของชาติ พรรคคิดว่าเงินทุนลงไปจะต้องสร้างความคุ้มค่าที่สุด นั่นคือความรู้ เพราะจะติดตัวไปตลอดชีวิต คนเราต้องมีความรู้ ความก้าวหน้า เมื่อสร้างรายได้มากขึ้นและมาชำระหนี้ ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ไม่ให้เป็นปัญหาในเรื่องปากท้องของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ
“ผมฝันเห็นประเทศไทยเป็น THAILAND SHARING UNIVERSITY เรียนฟรีตลอดชีวิต แม้ผมป็นวิศวะ ทำงานการเมือง แต่เรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็น WORLD GLOBAL KNOWLEDGE ด้วยการเอารวมช่องทางเพื่อให้คนเข้าไปสู่การศึกษาได้มากที่สุด ไม่ใช่เรียนที่บ้านเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนให้เรียนตามสถาบัน หรือใครไปประกอบอาชีพสามารถเรียนรู้ เพื่อทำมาหากินในอนาคต ของเหล่านี้มีในประเทศไทย แต่ยังไม่มีการนำมาบูรณาการ” หัวหน้าพรรคระบุ
สำหรับด้านการเกษตร ที่ผ่านมายังคงเห็นความเหลื่อมล้ำจนเกิดปัญหาต่างๆ ที่เกษตรกรได้รับความไม่เป็นธรรม แม้ที่ผ่านมาจะมีนโยบายต่างๆ ช่วยเหลือมากมาย แต่กลับแก้ไม่สำเร็จแบบยั่งยืน เช่น ข้าว อ้อย มัน ปาล์ม และยางพารา ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างใหม่ด้วยการใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ หรือ Profit Sharing
ส่วนการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะใช้แนวคิดเปลี่ยนเสียงระเบิดเป็นเครื่องจักร SOUTH ECONOMIC CORRIDOR หรือ SEC ด้วยการต่อยอดจาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน พ.ศ. 2561 เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และแก้ปัญหาตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน ไม่ใช่เฉพาะภาคใดภาคหนึ่ง แต่ให้เกิดขึ้นทุกภาค เพราะจะได้ไม่มีใครว่าประเทศไทยหลายมาตรฐาน
นอกจากนี้จะสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน BIO ENERGY หากพรรคได้ดูแลนโยบายพลังงาน เพื่อลดการใช้น้ำมันจากต่างประเทศ เพื่อผลิตอุตสาหกรรม มาใช้ไบโอพืชพลังงานทดแทน แม้ต้นทุนสูงขึ้น แต่เงินยังหมุนเวียนในประเทศ กำไรอยู่ในประเทศไทย คนไทยใช้ คนไทยทำ สร้างให้เกิดความมั่นคงตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
ด้านท่องเที่ยวและบันเทิง แม้ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยว 20% ต่อจีดีพี แต่ยังคงขายในความเจริญ ไม่ได้เน้นความเป็นไทย ดังนั้น ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้ไปใช้ชีวิตกับชาวบ้านในท้องถิ่น เช่น โฮมสเตย์ เพียงแต่วันนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเพราะติดเรื่องของกฎหมาย ดังนั้น ต้องจัดให้มีมาตรฐาน ใช้ทรัพย์สินที่ตัวเองมีเพื่อสร้างรายได้
ขณะที่ด้านสาธารณสุขจะพัฒนาการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีจำนวนมากขึ้นและมีศักยภาพการทำงาน รวมถึงเครื่องมือ เพื่อให้ อสม.เป็นกลไกหลักของการทำงานด้านสาธารณสุขประเทศไทย