xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ไฟเขียว กม.สภาพัฒน์เปิดทางอายุเกิน 75 ปีเป็นกรรมการได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สนช.เห็นชอบกฎหมายสภาพัฒนาฯ เปิดทางคนอายุเกิน 75 ปี เป็นกรรมการได้ กมธ.แจงไม่ควรเอาอายุมาเป็นอุปสรรค

วันนี้ (12 ต.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 186 คะแนน เห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกฎหมาย

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คือ มาตรา 6 การให้มีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานสภา 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 15 คน เป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในทางเศรษฐกิจและสังคม ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และให้ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการสภา

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการวิสามัญของ สนช.ได้แก้ไขถ้อยคำในร่างกฎหมายที่แตกต่างไปจากร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอมาให้ สนช.ในคราวแรก เช่น มาตรา 8 คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขถ้อยคำให้บุคคลที่มีอายุเกิน 75 ปี สามารถดำรงตำแหน่งประธานสภาและกรรมการสภาฯ ได้ จากเดิมที่ ครม.บัญญัติห้ามเอาไว้ เช่นเดียวกับมาตรา 17 วรรค 3 เดิม ครม.กำหนดให้เมื่อร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้วจะต้องส่งให้รัฐสภารับทราบ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างแผนพัฒนาฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญปรับแก้โดยให้รัฐสภามีสิทธิรับทราบร่างแผนพัฒนาฯ ภายหลังนายกฯ นำร่างแผนพัฒนาฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว

นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ สมาชิก สนช.ในฐานประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ชี้แจงว่า เกณฑ์อายุไม่ควรถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย เนื่องจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจแต่งตั้งจะพิจารณาจากความเหมาะสมเป็นหลัก และในประวัติศาสตร์ของคณะกรรมการสภาพัฒนาฯ เคยมีบุคคลที่มีอายุเกินกว่า 75 ปี ดำรงตำแหน่งมาแล้ว

จากนั้น การอภิปรายของสมาชิก สนช.ปรากฏว่า มีสมาชิก สนช.หลายคนไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขมาตรา 17 วรรค 3 ในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นการทำให้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านทางผู้แทนราษฎรหายไป จึงคิดว่าควรแก้ไขใหม่เพื่อให้รัฐสภารับทราบร่างแผนพัฒนาฯ ก่อนที่นายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามที่ ครม.ได้กำหนดเอาไว้เดิม เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับการจัดทำแผนพัฒนาฯ เพราะการให้รัฐสภารับทราบนั้นไม่ได้ผลต่อการเปลี่ยนสาระสำคัญในร่างแผนพัฒนาฯ แต่ประการใด

นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ สมาชิก สนช.ในฐานประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ อภิปรายชี้แจงว่า กรณีของมาตรา 17 วรรค 3 สาเหตุที่คณะกรรมาธิการวิสามัญต้องแก้ไข เนื่องจากเห็นว่าหากเกิดกรณีที่รัฐสภาไม่ทราบร่างแผนพัฒนาฯ จะมีปัญหาว่าใครจะเป็นคนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และร่างแผนพัฒนาฯ จะสามารถประกาศใช้ได้เมื่อไหร่ อีกทั้งประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมาไม่มีการนำเอาร่างแผนพัฒนาฯ มาให้เข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อแจ้งให้รัฐสภาทราบ

“เราไม่ปฏิเสธกระบวนการการมีส่วนร่วมของรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาฯ เพียงแต่ลำดับของการขับเคลื่อนประเทศในวันข้างหน้าจะมีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือแผนการปฏิรูปประเทศ หรือแผนแม่บทต่างๆ ซึ่งมีกรอบอยู่แล้ว หากจะต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นและถ้ามีความเห็นต่าง ขั้นตอนต่างๆ จะย้อนกลับไปสู่การแก้ไขแผนซึ่งมีความยุ่งยาก และจะเกิดคำถามตามมามากมายในทางกฎหมายว่าจะต้องกลับไปนับหนึ่งตรงไหน จึงเป็นเหตุผลที่คณะกรรมาธิการจำเป็นต้องแก้ไขมาตราดังกล่าว” นายวุฒิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายวุฒิศักดิ์ได้แจ้งต่อที่ประชุม สนช.ว่า ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญได้หารือกันแล้ว และมีความเห็นว่าเมื่อไม่เคยมีแนวปฏิบัติที่ให้รัฐสภารับทราบร่างแผนพัฒนาฯ จึงสมควรตัดกระบวนการการให้รัฐสภาทำการรับทราบออกไปจากมาตรา 17 วรรค 3

ต่อมาที่ประชุม สนช.มีมติเสียงข้างมาก 93 ต่อ 87 เห็นควรให้คงมาตรา 17 วรรค 3 ไปตามเดิมตามที่ ครม.เสนอ คือ เมื่อร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้วจะต้องส่งให้รัฐสภารับทราบก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างแผนพัฒนาฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
กำลังโหลดความคิดเห็น