xs
xsm
sm
md
lg

คาด “บอร์ดเอกลักษณ์ของชาติ” ถกปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ได้ตุลาคมนี้ หลังเกิดดรามาเรื่องเอกสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คาด “บอร์ดเอกลักษณ์ของชาติ” ถกปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ได้ในเดือนตุลาคมนี้ หลังเกิดปัญหาดรามา ข้ามหน่วยงานเรื่องเอกสาร ระหว่าง “กรมประมง-ก.เกษตรฯ กับ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หลัง บอร์ดเอกลักษณ์ของชาติ ให้ กรมประมง ไปทบทวนการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ด้าน คณะทำงานกรมประมง เตรียมให้ข้อมูลเต็มที่

วันนี้ (11 ต.ค.) มีรายงานว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดแถลงข่าว “ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ” โดยมี นางสาวอมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมประมง และ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง ร่วมแถลงข่าว โดยตอนหนึ่ง เรียกร้องให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ หน่วยงานในสังกัด สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจาก นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันเต็มที่ให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ

“ได้รับคำถามจากสำนักงานส่งเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ถามว่า ปลากัดไทยมีเฉพาะไทยแลนด์โอนลี่ หรือไม่ ซึ่งได้ไปค้นพบหนังสืออนุกรมวิธาน ปรากฏในเอกสารทางวิชาการชัดเจนเก็บตัวตัวอย่างปลากัดสีเขียวแดงที่แม่น้ำสาขาที่เชื่อมจากแม่น้ำ ส่วนประเทศสิงคโปร์ ยังระบุว่า ปลากัดส่งมาจากไทย มาค้าขาย และทำไมเรียกปลากัดจีน ปลากัดอินโด ปลากัดมาเลย์ ซึ่งเรายืนยันได้ตัวที่เบต้าสเปนเดนส์ อยู่ที่ไทย มีการนำไปสร้างสายพันธุ์หลากหลายขึ้นมาตามความต้องการผู้เลี้ยง ที่ผ่านมา ไทยมีดอกคูณ เป็นดอกไม้ประจำชาติ ช้างไทย เป็นสัตว์ประจำชาติ ซึ่งสัตว์น้ำอื่นๆ ยังมีลักษณะเด่น เช่น ปลากัดไทย ที่สามารถผสมพันธุ์ทำให้มีสีสันลวดลายต่างๆ สวยงามแปลกตา และเป็นนักสู้ การยกเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ อาศัยตามตาม พ.ร.ก. ประมง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ร.บ. มรดกภูมิปัญญา 2559 ซึ่งปลากัดขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2556” นางสาวอมรรัตน์ ให้ข้อมูลระหว่างแถลงข่าว

นอกจากนี้ ถ้าเราสามารถประกาศเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ จะขยายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หากปล่อยเวลาไป อาจเป็นไชสนิสเบต้า อเมริกันเบต้า อินโดเบต้า วันนั้นคนไทยคงพูดไม่ออก เพราะขณะนี้ประเทศรอบบ้านเราพัฒนาแข่งขันกันมาก เช่น อินโดนีเซีย กำลังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในการส่งออกแต่ยังใช้เส้นทางผ่านไทย ส่วนไทยคาดว่ารายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากที่ผ่านมามีพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์และขยายสู่เชิงพาณิชย์ สามารถสร้างอาชีพหลักและสร้างรายได้เสริม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน มีรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรมประมง ได้มีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณามาแล้วตั้งแต่ต้นปี ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เห็นควรให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติพิจารณาก่อน ปรากฏว่า คณะกรรมการเห็นควรให้มีการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อประโยชน์ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงจึงได้รับเรื่องดังกล่าวมาทบทวนตามข้อเสนอแนะ และได้มีการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า ปลากัดไม่สามารถจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ได้

“การดำเนินการดังกล่าวอาจต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากมีขั้นตอนตามระบบราชการ ซึ่งกรมประมงจะพยายามขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้กรมประมงพร้อมที่เสนอให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคมนี้และนำเสนอเข้า ครม.” นายเฉลิมชัย ระบุ

มีรายงานด้วยว่า เมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา กลุ่มผู้เปิดแคมเปญรณรงค์ให้ปลากัดไทย ได้โพสต์ว่า “จริงๆ ก็เห็นมีเรื่องจุกจิกวอแวนิดหน่อย แต่ทั้งอธิบดีกรมประมงและรัฐมนตรีเกษตรฯ ก็ดำเนินการเรื่องข้อเสนอให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติเรียบร้อย ลงนามสั่งการอย่างรวดเร็วสมเหตุสมผล รองนายกฯ สมคิด (นายสมคิด จาตุรศรีพิทักษ์) ก็ลงนามอนุมัติทันทีในวันเดียวกัน ส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อนำเสนอต่อประธานคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ และคณะรัฐมนตรีต่อไปดูแล้วก็ไม่รู้จะไปด่าอะไรเขา เพราะตามเนื้อผ้าเขาก็ทำหน้าที่กันดีแล้วแต่ Amazing Thailand กลับเกิดขึ้นที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี”

“เพราะไม่ยอมรับหนังสือของรัฐมนตรีเกษตรฯ แล้วไล่ให้กระทรวงเกษตรฯ ไปตั้งต้นใหม่ ตั้งแต่อธิบดีกรมประมง==>ปลัดกระทรวงเกษตรฯ==>รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ==>รัฐมนตรีว่าการเกษตรฯ เพื่อส่งให้ประธานคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติเอง ทั้งๆ ที่ปีที่แล้ว เรื่องเดิม ข้อเสนอเดิม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็ส่งเรื่องต่อไปที่ประธานคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ตามหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งบัญญัติไว้ชัดว่ามีหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีหากไล่ให้ทั้งกระทรวงเกษตรฯไปไต่บันไดลิงขึ้นมาใหม่อีกรอบแล้วไปส่งเรื่องต่อให้ประธานคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเอง ทั้งๆ ที่รองนายกฯ สั่งการแล้ว และอำนาจหน้าที่ของตัวเองก็ระบุไว้ชัด ไม่ทราบว่า ประเทศของเรามีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมตรีไว้ทำอะไร นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี คุณมีคำอธิบายหรือไม่”

ขณเดียวกับ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เคยยอมรับว่า ได้เซ็นหนังสือเสนอเรื่องปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ให้เลขาธิการสำนักงานคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งอยู่ที่เลขาธิการ ครม.จะบรรจุเข้าวาระพิจารณาเมื่อไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องชี้แจงว่า ไม่ได้ช้าที่หน้าห้องของ รมว.เกษตรฯ แต่เป็นความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่กรมประมง ในเรื่องการส่งหนังสือต่อ ครม. ที่จะต้องแจ้งรายงานผลการหารือของหนังสือเวียนของแต่ละหน่วยงานที่มีความเห็นเข้ามาด้วย ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่อ้างว่า เสนอเรื่องเดือน ส.ค. 2561 แต่เรื่องเพิ่งเวียนกลับมาที่ห้องตนเมื่อ 6 ก.ย. 2561 จึงไม่ได้ค้างแบบที่นำไปด่ากันโดยไม่ทราบข้อเท็จจริง

“ในเรื่องการเสนอปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ไม่มีใครค้าน เพราะทุกคนก็เห็นด้วย จึงให้กรมประมงนำเรื่องกลับไปหารือกับคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ และกรมทรัพยสินทางปัญหาว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งกรมได้อ้างอิงในเรื่องเศรษฐกิจในเรื่องผลดีของการกระตุ้นส่งออก แต่ในเชิงเอกลักษณ์ ที่จะเสนอต้องทำด้วย ร่วมถึงการแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของปลากัดไทยที่นักวิชาการหรือผู้ประกอบการสามารถเพาะและกำหนดลักษณะเฉพาะได้เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เข้าใจว่ากรมมีข้อมูลซึ่งที่ออกมาโวยมาด่าผมกัน เพราะเข้าใจผิดเรื่องขั้นตอนเอกสาร ทางเจ้าหน้าที่ต้นทางก็เข้าใจแล้ว และต้องการขอโทษ แต่ผมคงไม่พูดอีกแล้ว ขอเจ็บคนเดียว” นายกฤษฎา กล่าวคราวนั้น

มีรายงานจากกรมประมง ว่า ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมประมง ยอมรับว่า มีการสื่อสารกันพลาด เรื่องการเดินเอกสารราชการ โดยเฉพาะประเด็นเลขรับ ทั้งเรื่องเสนอเข้าหรือถอนออก แต่ไม่ได้ตรวจสอบ ทำให้เกิดความไม่พอใจกันและสื่อสารกันผิด

มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมบรรจุวาระการประชุมประด็นที่กรมประมงเสนอ ในเดือนตุลาคมนี้เป็นอย่างช้า
กำลังโหลดความคิดเห็น