xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผย กม.ขึ้นทะเบียนหมา-แมวยังไม่บังคับใช้ นายกฯ ให้ระวังสร้างภาระ ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ แจงกฎหมายขึ้นทะเบียนหมา-แมวยังไม่บังคับใช้ รอกฤษฎีกาปรับแก้ใช้เวลาอีกนาน เผย “บิ๊กตู่” ท้วงกลาง ครม.ให้พิจารณาให้ดี หวั่นสร้างภาระประชาชน

วันนี้ (11 ต.ค.) เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ว่าเรื่องดังกล่าวทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้เสนอให้ครม.พิจารณา ดังนั้นเมื่อเป็นเจ้าของร่างจึงควรชี้แจงรายละเอียดให้สังคมได้รับทราบ แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกายังต้องพิจารณาปรับแก้อีกมากและต้องใช้เวลานาน ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที ทั้งนี้ ในที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้แสดงความเป็นห่วงและกำชับด้วยว่า การจัดระเบียบคนที่ชอบนำหมาและแมวมาเลี้ยงด้วยความเมตตา 20-30 ตัว จนทำให้เพื่อนบ้านเดือดร้อนรำคาญและมีปัญหาจะต้องไปควบคุมว่าต้องเลี้ยงไว้กี่ตัว เลี้ยงไม่เกินกี่ตัวถึงจะต้องเสียภาษี

เมื่อถามว่าในที่ประชุม ครม.ได้มีรัฐมนตรีคนใดบ้างแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี เพราะไม่มีใครเดือดร้อน เนื่องจากเห็นว่าเรื่องยังต้องถูกส่งไปให้กฤษฎีกาพิจารณา และยังต้องมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนด้วยแล้วจึงส่งกลับเข้ามาให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนและคาดว่าไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ แต่มีเพียง รมว.เกษตรฯ ชี้แจงให้ ครม.เข้าใจ ซึ่งนายกฯ ก็บอกว่าอาจจะมีปัญหาขอให้ไปดูที่กฤษฎีกาให้ดีว่าโทษเป็นอย่างไร รวมถึงนายกฯ ยังบอกอีกว่ามีกฎหมายจัดระเบียบเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องระวังอย่าให้เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะคนที่เขาเมตตาสัตว์ เลี้ยงสัตว์และนำสัตว์มาไว้จำนวนมากเพื่อดูแลจากการทิ้งขว้าง ตรงนี้ถือว่าดีว่า อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลหน้าไม่ชอบก็นิ่งเฉยเอาไว้ เหมือนกับรัฐบาลนี้ที่เฉยต่อกฎหมายของรัฐบาลก่อนหลายฉบับ แต่กฤษฎีกาก็ต้องตรวจไป

เมื่อถามอีกว่าเป็นไปได้หรือไม่หากสังคมไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ครม.สามารถพิจารณาถอนมติครม. ดังกล่าวได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายฉบับ เนื่องจากเมื่อเข้ากฤษฎีกาแล้วมีการแก้ไขจำนวนมาก ทางกระทรวงจึงเห็นว่าหากแก้ไขมากก็ไม่ควรดำเนินการต่อ แต่ความจริงเรื่องนี้ถือเป็นเจตนาดีของกระทรวงเกษตรฯ แต่บางครั้งเราก็พูดกันไปโดยยังไม่ทันได้เห็นตัวกฎหมาย ดังนั้นจึงอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องชี้แจงกับกฤษฎีกา


กำลังโหลดความคิดเห็น