เลขาฯ กกต.แจงไม่ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาค-ระดมทุน แต่ต้องขออนุญาต เตรียมร่อนหนังสือเตือนทุกพรรคอีกรอบ
วันนี้ (11 ต.ค.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวกรณีพรรคอนาคตใหม่รับเงินบริจาค ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ คสช.ที่ 57/2557 เรื่องให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป ซึ่งมีการห้ามพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง แม้จะมีการคลายล็อกตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 และ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แต่ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ก็ยังมีผลอยู่ ดังนั้น การดำเนินการอย่างอื่นที่นอกเหนือจากการคลายล็อก 6 ข้อตามคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 จะต้องมีการขออนุญาตจาก คสช. อย่างกรณีการประชุมของกรรมการบริหารพรรคเพื่อเลิกกิจการพรรค ที่ไม่ได้อยู่ในการคลายล็อกทั้ง 6 ข้อก็มีการขออนุญาตเข้ามา ซึ่งกรณีการรับเงินบริจาคหรือระดมทุน ไม่ได้ห้ามเลย แต่ต้องขออนุญาตในลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กกต.จะมีการออกหนังสือเวียนแจ้งให้พรรคการเมืองต่างๆ ทราบอีกครั้งว่า หากพรรคจะดำเนินกิจการทางการเมืองนอกเหนือจากการคลายล็อกทั้ง 6 ข้อตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 จะต้องขออนุญาต คสช.ก่อน
ส่วนที่พรรคอนาคตใหม่มองว่า กกต.เป็นเครื่องมือของ คสช.ในการยุบพรรคนั้น กกต.เป็นเครื่องมือของกฎหมาย หากกฎหมายให้ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น และตนในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ไม่อยากให้พรรคการเมืองทำอะไรที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว อยากให้เหลืออยู่ทุกพรรคจนถึงการเลือกตั้ง เพราะเป็นสีสันประชาธิปไตย จึงอยากให้ทุกพรรคอดทน เพราะก็ทราบมาว่าทาง คสช.กำลังพิจารณาในเรื่องการจะปลดล็อกทั้งหมดอยู่ซึ่งก็คงอีกไม่นาน ส่วนที่พรรคอนาคตใหม่จะให้ กกต.ออกหนังสือคำสั่งห้ามรับบริจาคหรือระดมทุนอย่างเป็นทางการนั้นคงไม่มีการออกคำสั่งลักษณะดังกล่าว เพราะ กกต.จะมีหนังสือเวียนชี้แจงพรรคการเมืองอยู่แล้ว และหากหลังจากนี้ทางพรรคอนาคตมีข้อสงสัยก็ทำหนังสือสอบถามมาได้ กกต.ก็จะมีหนังสือตอบกลับไป อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกพรรคการเมืองอดทน เพราะทราบมาว่า คสช.กำลังพิจารณาในเรื่อง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือที่ทาง กกต.ระบุว่าได้เคยแจ้งไปยังพรรคการเมืองตั้งแต่เมื่อครั้ง คสช.ออกคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 นั้น พบว่านายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองขณะนั้น ได้มีหนังสือลงวันที่ 3 กันยายน 2557 เรื่องแนวทางการรับบริจาคและการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองภายใต้ประกาศของ คสช.ที่ 57/2557 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2557 ถึงหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค โดยมีประเด็นเกี่ยวกับการรับบริจาคเงินของพรรคการเมืองว่าสามารถทำได้เฉพาะการบริจาคจากกรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมการสาขาพรรคการเมืองเท่านั้นและต้องรับบริจาคเท่าที่จำเป็นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายแก่การบริหารสำนักงานพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองโดยเมื่อมีการรับบริจาคแล้วต้องดำเนินการเกี่ยวกับการบริจาคให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และต้องรายงานการรับบริจาค รวมถึงการใช้จ่ายเงินในวันทุกวันที่ 7 ของทุกเดือน ซึ่งภายใต้บังคับของประกาศ คสช.ที่ 57/2557 และมติ กกต.ครั้งที่ 71/2557 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ห้ามมิให้พรรคการเมืองใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินการใดๆ อันเป็นการขัดต่อประกาศ คสช. และมติ กกต.ดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการแนบแนวทางการรับบริจาคและการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองภายใต้ประกาศ คสช.ฉบับที่57/2557 ระบุถึงการกำหนดแบบหลักฐานการรับบริจาคและหลักเกณฑ์ วิธีการในการเปิดเผยรายชื่อผู้บริจาคต่อสาธารณชน ที่ไม่ขัดต่อประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ไว้ด้วย โดยการรับบริจาคเท่าที่จำเป็นจากกรรมการบริหารพรรคและกรรมการสาขาพรรคการเมืองนั้นจะต้องทำตามหลักเกณฑ์วิธีการในการเปิดเผยชื่อผู้บริจาคต่อสาธารณชน พ.ศ. 2550
ด้าน น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผอ.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาเรื่องการรับบริจาคของพรรคการเมืองว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับหนังสือจาก กกต.เกี่ยวกับการรับบริจาค ภายใต้ประกาศ คสช.ที่ 57/2557จะรับบริจาคได้เฉพาะจากกรรมการบริหารพรรคและกรรมการสาขาพรรคเท่านั้น และต้องรับเท่าที่จำเป็น ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ คงต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้ง กกต. และพรรคอนาคตใหม่ เพราะเพิ่งเป็นพรรคการเมืองจึงอาจจะยังไม่ทราบกติกานี้ ขณะที่ กกต.ก็อาจจะพลาดไปที่ไม่ได้แจ้งให้พรรคอนาคตใหม่ทราบทันทีที่เป็นพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้พรรคการเมืองปฏิบัติให้ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องจำเป็น ทราบมาว่า กกต.จะมีการหารือกับพรรคการเมืองรอบสอง จึงอยากให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่เคยมีการประชุมร่วมกันแล้วแบ่งเวลาครึ่งเช้าให้ไปฟังผู้บริหาร กกต.พูด และช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มตอบข้อซักถามใหม่ เป็นยกเลิกการฟังผู้บริหาร กกต.ในช่วงเช้า เพราะไม่เกิดประโยชน์ โดยจัดให้เป็นการตอบข้อซักถามแบบไม่ต้องแบ่งกลุ่ม และต้องมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นแค่ความเห็นของ กกต. หรือเจ้าหน้าที่ที่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้เหมือนที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นแม้จะมีการประชุมร่วมกับพรรคการเมืองอีกครั้งก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใด