xs
xsm
sm
md
lg

เปิดร่างโตเกียว 2018 นายกฯ บินรับรองเวทีลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น เชื่อมเครือข่ายอุตสาหกรรมกับลุ่มน้ำโขงสีเขียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิดร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว 2018 นายกฯ เตรียมลงนามรับรองความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ชูเครือข่ายการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในประเทศลุ่มน้ำโขง สร้างสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสร้างความเป็นรูปธรรมและความตระหนักรู้ต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว เผยเตรียมฉลองครบรอบ 10 ปี ปีแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่นกับลุ่มน้ำโขง 2019

วันนี้ (8 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศ ว่าการเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2561 จะมีการรับรองร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2018 (Tokyo Strategy 2018 for Mekong - Japan Cooperation) เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นซึ่งจัดทำขึ้นจากการทบทวนความสำเร็จของการพัฒนาโครงการความร่วมมือที่ผ่านมาภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (ฉบับเดิม) และเพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะสานต่อการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ (Quality Growth) และการพัฒนาที่ยั่งยืน มั่นคง และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

โดยสาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียวฯ ครอบคลุมสาขาความร่วมมือระหว่างกัน (6 ประเทศ คือ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ประเทศไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศญี่ปุ่น) ได้กำหนดทิศทางความร่วมมือตาม 3 แนวทาง ได้แก่ (1) การพัฒนาความเชื่อมโยงที่ดีและมีประสิทธิภาพ (Vibrant and Effective Connectivity) ซึ่งจะช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงของเครือข่ายการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในประเทศลุ่มน้ำโขง รวมถึงการพัฒนาความเชื่อมโยงต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

(2) การสร้างสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People - Centered Society) ผ่านความเชื่อมโยงระดับประชาชนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ (3) การสร้างความเป็นรูปธรรมและความตระหนักรู้ต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว (Realization of a Green Mekong) ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือในเรื่องการลดความเลี่ยงจากภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการน้ำ และการรักษาทรัพยากรประมง

ทั้งนี้ ในการดำเนินการความร่วมมือในสาขาดังกล่าวจะดำเนินการภายใต้ความร่วมมือที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมาที่ครอบคลุมใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การดำเนินการตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019-2023) ซึ่งสะท้อนทิศทางการพัฒนาของอนุภูมิภาค (sub-regional) (2) ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and open Indo-Pacific strategy) ซึ่งสะท้อนทิศทางการพัฒนาและข้อริเริ่มระดับภูมิภาค (regional) และ (3) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งสะท้อนทิศทางการพัฒนาระดับโลก (global)

นอกจากนี้ ร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียวฯ ยังได้มีการระบุแนวทางการดำเนินการร่วมกันที่ให้ความสำคัญกับประเด็นภูมิภาคและโลก เช่น การใช้ขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ เป็นต้น

“การให้ความสำคัญต่อประเด็นภูมิภาคและโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และผลประโยชน์ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น มีการกล่าวถึงสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี และพัฒนาการในทะเลจีนใต้ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาอย่างสันติ การเพิกถอนการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ การดำเนินการตามพันธกิจแห่งสหประชาชาติ การก่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลี การยืดถือกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ สนธิสัญญาด้านกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) และการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขประเด็น ปัญหาการลักพาตัว”

ขณะเดียวกันยังจะพิจารณษการกำหนดให้ปี ค.ศ. 2019 เป็น “ปีแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่นกับลุ่มน้ำโขง 2019” เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 10 ปี ของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จะมีการรับรองร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียวฯ ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9 ตุลาคม 2561 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น